สุดจะทน... ส.ว.คนกันเอง

สุดจะทน...  ส.ว.คนกันเอง

ผมว่าปัญหาเรื่องที่มาและความเหมาะสมชอบธรรมของการสรรหา ส.ว. น่ากังวลกว่าพานไหว้ครูของเด็กนักเรียนบางโรงเรียนหลายเท่า

เพราะมันสะท้อนเรื่องราวความไม่โปร่งใสและไร้ธรรมาภิบาลแทบทุกแง่มุม

ถ้ายึดกระบวนการสรรหานี้ว่าเป็นมาตรฐานใหม่ของการเมืองไทย ต่อไปก็ไม่ต้องมีมาตรฐานอะไรกันอีกแล้ว องค์กรตรวจสอบ องค์กรอิสระก็ไม่ต้องมี เพราะทำทุกอย่างได้เสรี ไม่มีอะไรผิด

ที่สำคัญจนถึงป่านนี้ยังไม่มีคำตอบที่ดีของคำถามที่สังคมคาใจ ทั้งๆ ที่ ส.ว.ชุดใหม่มีอำนาจหน้าที่กว้างขวาง เลือกนายกฯก็ได้ ตรวจสอบฝ่ายบริหารก็ได้ เรียกว่าแทบไม่ต่างอะไรกับ ส.ส.ที่ประชาชน 30-40 ล้านคนเลือกมา แต่ ส.ว.ถูกเลือกมาจากคนเพียง 10 คน แถม 10 คนนั้นมี 6 คนได้เข้าไปเป็น ส.ว.ด้วย

เริ่มจากประเด็นแรก ทำไมรัฐบาลหรือ คสช.ไม่ยอมเปิดคำสั่งตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ แถมคำสั่งนี้ยังหายไปจากสารบบ / ประเด็นนี้ อาจารย์วิษณุ เครืองาม ตอบแล้วว่าไม่จำเป็นต้องทำเป็นคำสั่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะไม่ใช่กฎหมาย และเป็นเรื่องภายในของ คสช. (คำตอบนี้มีนักวิชาการจากนิด้าทนไม่ไหว ออกมาวิจารณ์แบบตรงๆ แรงๆ เรียบร้อยแล้ว)

2. ทำไมมีการประกาศรายชื่อ ส.ว.สำรอง ล็อต 2 ล่าช้า (เป็นกลุ่มที่มาจากการสรรหาของคณะกรรมการสรรหาฯ ของ คสช.) / ประเด็นนี้ อาจารย์วิษณุ ตอบแล้วเช่นกันว่าการประกาศช้าไม่ผิดกฎหมาย

3. ในจำนวน ส.ว. 250 คน มีบางคนอยู่นอกบัญชีสรรหา แต่กลับได้ตำแหน่งหรือไม่ (พูดง่ายๆ คือวิ่งเต้น หรือเหาะมา) / ประเด็นนี้ยังไม่มีคำตอบ

4. มี ส.ว.สำรองที่มาจากนอกบัญชีสรรหา 400 คนหรือไม่ (เป็นบัญชีสำรองล็อต 2 ที่ประกาศล่าช้า) / ประเด็นนี้ก็ยังไม่มีคำตอบเช่นกัน

5. การที่กรรมการสรรหาฯ ได้เป็น ส.ว.ด้วย ที่อาจารย์วิษณุเรียกว่า “ไม่มีเสนอชื่อตัวเอง มีแต่เสนอชื่อกันเอง” นั้น เข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่ คล้ายๆ ชงเอง กินเอง แถมยังไปทำหน้าที่เลือกหัวหน้าคนที่ตั้งคณะกรรมการสรรหาฯ เป็นนายกฯอีกด้วย / ประเด็นนี้ยังไม่มีคำตอบ

และข้อ 6. ถ้าการตั้ง ส.ว.เป็นโมฆะ องค์กรไหนจะมีอำนาจตั้งใหม่ เพราะรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดเอาไว้ / ประเด็นนี้ก็ยังไม่มีคำตอบเช่นกัน ระวังไปถาม อาจารย์มีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธาน กรธ. อาจได้รับคำตอบว่าเป็นคนร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ใช่คนตีความรัฐธรรมนูญ

นี่แหละที่มาของกลุ่มคนที่มาร่วมเลือกนายกฯ คัดกรองกฎหมาย ตรวจสอบฝ่ายบริหาร และกำกับการเดินหน้าปฏิรูปประเทศ...ปฏิรูปที่มาตัวเองก่อนดีกว่าไหม?