ส่งออกจีน - จากเทคโนโลยีและ/หรือบริษัทต่างชาติ?

ส่งออกจีน - จากเทคโนโลยีและ/หรือบริษัทต่างชาติ?

Yan Liang (2008) แห่ง University of Redlands ได้เขียนเกี่ยวกับลักษณะสินค้าส่งออกของจีนว่า สินค้าส่งออกประเภทเครื่องกลและอิเลคโทรนิค

เพิ่มจาก US$ 2 พันล้าน เป็น US$ 549 พันล้านในระหว่างปี 1985 และ 2006 ด้วยอัตราการขยายตัว 32% ต่อปีโดยประมาณ และ สัดส่วนของสินค้าส่งออกเครื่องกลและอิเลคโทรนิคจากสินค้าส่งออกรวม เพิ่มจาก 6% เป็น 56.7% ในช่วงเวลาเดียวกัน 

เขากล่าวว่า ตัวเลขการส่งออกสินค้าเครื่องกลและอิเลคโทรนิคข้างต้นอาจจะให้ความรู้สึกเกี่ยวกับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของจีนที่เกินความเป็นจริง เพราะว่าการส่งออกสินค้าทางเทคโนโลยีของจีนที่ขยายตัวมากเกิดจากการเพิ่มปริมาณของสินค้ามากกว่าการเพิ่มสัดส่วนของมูลค่าทางเทคโนโลยีในสินค้า นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเทคโนโลยียังมีที่มาจากกิจการของกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกที่เฟื่องฟูเป็นอย่างมากของเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ตั้งแต่ทศวรรษ 1990 เป็นต้นมา

อย่างไรก็ตาม การที่จะพิจารณาว่าจีนมีขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีในการส่งออกมากน้อยเพียงใดจะต้องดูจากดัชนี revealed comparative advantage (RCA) ซึ่งคิดค้นขึ้นโดย Balassa (1965) RCA ก็คือสัดส่วนของสินค้าเทคโนโลยีชนืหนึ่งที่ประเทศหนึ่งส่งออกเทียบกับสินค้าส่งออกรวม หารด้วย สัดส่วนของสินค้าชนิดเดียวกันที่ส่งออกขายในตลาดโลกเทียบกับสินค้าทั้งหมดที่ขายในตลาดโลกโดยรวม ดัชนีที่มีค่ามากกว่า “หนึ่ง” มาก ๆ หมายความว่า ขีดความสามารถในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีเพื่อการส่งออกมีสูง 

ผลการตรวจสอบค่า RCA ของสินค้าส่งออกหมวดต่าง ๆ ของจีน พบว่า สินค้าทางเทคโนโลยีของจีนส่วนใหญ่มีขีดความสามารถในการแข่งขัน ยกเว้นกลุ่ม transistors and semiconductors แต่ว่า การพิจารณาที่ลึกลงไปพบว่า สินค้าทางเทคโนโลยีของจีนที่ว่ามีขีดความสามารถในการแข่งขันมาจากบริษัทที่ลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ กล่าวกันว่า เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในจีนถึงประมาณ 2 ใน 3 เข้าไปสู่การผลิตทางอุตสาหกรรมในลักษณะของกระบวนการทำให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปโดยอิงวัตถุดิบกึ่งสำเร็จจากต่างประเทศ โดยเฉพาะจากประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 

ส่วนเหตุผลที่อยู่เบื้องหลังการผลิตดังกล่าวคือ นโยบายของจีนที่ให้สิทธิพิเศษทางภาษี และ การหักกลบภาษีมูลค่าเพิ่มของสินค้าเข้าและออก นโยบายอีกอย่างหนึ่งคือ ข้อกำหนดให้บริษัทต่างชาติในจีนสร้างความสมดุลระหว่างเงินตราต่างประเทศขาเข้าและขาออก ซึ่งส่งผลในเชิงลบให้บริษัทต่างชาติไม่สนใจในการพัฒนาเทคโนโลยีมากไปกว่ากระบวนการทำให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปเท่า นั้น เพียงเพื่อใช้แรงงานราคาถูกที่มีมากมายมหาศาลในจีนให้เป็นประโยชน์ 

ภาพใหญ่ที่เกิดขึ้นใน 2-3 ทศวรรษที่ผ่านมาก็คือ การย้ายฐานการประกอบสินค้าจากและโดยการใช้ชิ้นส่วน/เทคโนโลยีของประเทศในเอเชียตะวันออกและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยที่เป้าหมายการส่งออกยังคงเหมือนเดิมคือ สหรัฐอเมริกาและยุโรป 

แม้ว่าสินค้าส่งออกของจีนในยุคหลัง ๆ เริ่มมีความซับซ้อนทางเทคโนโลยีมากขึ้นและหลุดพ้นจากการนำเข้าชิ้นส่วนทางเทคโนโลยีมากขึ้นเรื่อย ๆ จาก การลงทุนเพิ่มขึ้น การยกระดับเทคโนโลยี และ การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ตามค่าดัชนี RCA ของสินค้าออกหมวดต่าง ๆ ที่สูงขึ้น ซึ่งแสดงว่า การนำเข้าทางเทคโนโลยีลดลงเรื่อย ๆ แต่นั่นคือ ความรู้สึก 

ในความเป็นจริงแล้ว ข้อมูลบอกว่าสัดส่วนของสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้าที่ผ่านกระบวนการเทียบกับสินค้าส่งออกและสินค้านำเข้ารวมตามลำดับยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ แต่ว่าสัดส่วนของมูลค่าเพิ่มเทียบกับสินค้าส่งออกรวม กลับเพิ่มขึ้นช้ามากจาก 20+% เป็น 30+% ในระหว่างปี 1990-2005 นอกจากนี้ ยังพบว่าสินค้าส่งออกทางเทคโนโลยีที่ผลิตโดยบริษัทต่างชาติในจีนมีสัดส่วนจากสินค้าส่งออกรวมมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแสดงว่าการยกระดับเทคโนโลยีในสินค้าส่งออกเกิดขึ้นเฉพาะในบริษัทต่างชาติโดยส่วนใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบริษัทต่างชาติในอุตสาหกรรมรถยนต์และบริษัทไต้หวันในอุตสาหกรรมอิเลคโทรนิค 

เวลาได้ล่วงเลยไปมากหลังการตีพิมพ์บทความที่กล่าวถึงข้างต้น เราอาจจะไม่สามารถหาข้อมูลปัจจุบันในลักษณะเดียวกับบทความที่กล่าวถึงนี้ได้ แต่การดูข้อมูลจากตารางที่ผู้เขียนได้ประมวลมาคงจะบอกอะไรได้บางอย่างจาก สัดส่วนของสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยหรือโลกโดยรวมเทียบกับสินค้านำเข้าโดยรวมในต่ละกรณี เปรียบเทียบระหว่างปี 2007, 2012 และ 2017 

ข้อสังเกตจากตารางที่ 1 บอกได้ว่า โครงสร้างสินค้านำเข้าของจีนโดยส่วนใหญ่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญตามกาลเวลา ยกเว้นปิโตรเลียมและแร่เหล็ก และ integrated circuits หรือแผงวงจรไฟฟ้า 

สัดส่วนของแผงวงจรไฟฟ้านำเข้าที่สูงขึ้นย่อมชี้ให้เห็นว่า จีนต้องพึ่งพาวัตถุดิบกึ่งสำเร็จประเภทนี้ในการผลิตทางอุตสาหกรรมมากขึ้น นอกเหนือไปจากสินค้านำเข้าที่เป็นวัตถุดิบกึ่งสำเร็จอื่น ๆ ที่แม้สัดส่วนไม่ได้สูงขึ้นแต่ก็ไม่ได้มีแนวโน้มที่ลดลง เช่น ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำนักงาน, LCDs, Semiconductor devices และชิ้นส่วนรถยนต์ (สัดส่วนของสินค้าเหล่านี้แสดงเป็นสีเหลือง) ในจำนวนนี้สินค้า 3 ประเภทแรก เป็นสินค้าที่จีนนำเข้าจากไทยโดยมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นเทียบกับสินค้านำเข้าจากไทยโดยรวม ไทยอาจจะไม่ได้เป็นเจ้าของเทคโนโลยีของสินค้า 3 ประเภทนี้ที่จีนนำเข้าจากไทย แต่ไทยน่าจะเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานของบริษัทต่างชาติที่ลงทุนในจีน เพื่อผ่านกระบวนการผลิตให้เป็นสินค้าสำเร็จรูปและทำการส่งออกอีกทีหนึ่ง 

ส่งออกจีน - จากเทคโนโลยีและ/หรือบริษัทต่างชาติ?

ข้อสรุปที่ได้จากตารางที่ 1 ข้างต้นนี้ถือได้ว่าเป็นคุณูปการของบทความนี้