วิธีเอาชนะความเหงา ป้องโรค สุขภาพ(ใจ)ดี

วิธีเอาชนะความเหงา ป้องโรค สุขภาพ(ใจ)ดี

“ความเหงาเป็นอารมณ์ที่เกิดขึ้นได้เป็นครั้งคราว เป็นเรื่องของลักษณะส่วนบุคคล บางคนรู้สึกเหงาเมื่อไม่มีอะไรทำ

บางคนเหงาทุกครั้งเมื่ออยู่คนเดียว ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับว่าเป็นคนขี้เหงามากแค่ไหน ความเหงาเป็นเรื่องของความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นเวลาที่เรารู้สึกขาดการเชื่อมโยงทางสังคม ขาดที่พึ่งทางอารมณ์ ไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่น หรือเมื่อความสัมพันธ์ในชีวิตไม่เป็นไปตามที่เราคาดหวังไว้ ซึ่งหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าความเหงาที่คนคุ้นเคยกันดีนั้น ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและใจของคนเราได้ในหลายๆ

ความเหงาทำร้ายสุขภาพอย่างไรทำไมเหงาแล้วเราจึงป่วย

เวลาที่เราเกิดความรู้สึกเหงา ร่างกายจะรู้สึกตึงเครียด จะหลั่งสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับความเครียดที่เรียกว่า “คอร์ติซอล” ซึ่งฮอร์โมนตัวนี้เมื่อถูกหลั่งออกมาเป็นเวลานานๆ จะไปกดระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ร่างกายอ่อนแอลง เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย อาทิ โรคความดันโลหิตสูง เพิ่มความเสี่ยงต่อการอักเสบ การติดเชื้อต่างๆ ได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคอัลไซเมอร์ โรคหลอดเลือด โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร และที่ร้ายไปกว่านั้นอาจทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าจึงถึงขั้นฆ่าตัวตายได้เลยทีเดียว

อย่างไรก็ตาม มีการศึกษาเรื่องความเหงาในสหรัฐ โดยให้กลุ่มตัวอย่าง 5,000 คน ตอบแบบสอบถาม ซักประวัติสุขภาพ และทำการตรวจร่างกายทุกๆ 2-4 ปี เป็นระยะเวลา 10 ปี พบว่า 50% ของกลุ่มตัวอย่างระบุว่าเมื่อเราอยู่กับคนรอบข้างที่มีความรู้สึกเหงา เราก็จะเกิดความเหงาตามไปด้วย ซึ่งผลการศึกษานี้สะท้อนให้เห็นว่าความเหงาสามารถส่งต่อกันได้เหมือนการแพร่เชื้อ เป็นเรื่องความเชื่อมโยงของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล คนเหงามักจะแสดงพฤติกรรม หรือมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในทางลบ รู้สึกไม่ไว้วางใจ มองโลกในแง่ร้าย หวาดระแวง รู้สึกกังวล ซึ่งโดยปกติเวลาที่เรามีปฏิสัมพันธ์กับใคร เราก็มักจะตอบสนองด้วยพฤติกรรมเดียวกัน เหมือนใครดีมาเราดีตอบ ใครยิ้มมาเรายิ้มตอบ ซึ่งทำให้อนุมานได้ว่าใครเหงาเราก็เหงาตอบ

คู่มือเอาชนะความเหงา

ความรู้สึกเหงาเกิดขึ้นได้เป็นปกติและไม่ใช่เรื่องน่ากังวล แต่สำหรับผู้ที่รู้สึกเหงาเป็นเวลานาน อาจรับมือกับความเหงาด้วยวิธีต่อไปนี้

1.นัดเจอ พูดคุยกับผู้คนที่ช่วยให้รู้สึกมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น หรือคนที่สามารถพูดคุยปรึกษาได้อย่างเข้าอกเข้าใจ

2.ลองหาเพื่อนใหม่ๆ โดยอาจเริ่มจากการเข้าร่วมกลุ่มที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน เพื่อให้มีเรื่องคุยและสนิทกันได้เร็วยิ่งขึ้น

3.หางานอดิเรกทำเพื่อให้จิตใจจดจ่ออยู่กับกิจกรรมนั้นแทน เช่น วาดรูป อ่านหนังสือ ฟังเพลง ออกกำลังกาย จัดสวน หรือกิจกรรมอาสาต่างๆ 

4.หาสิ่งยึดเหนี่ยวทางจิตใจ ทำใจให้สงบ อาจลองนั่งสมาธิหรือฝึกการหายใจเพื่อฝึกจิตให้นิ่งยิ่งขึ้น

5.เลี้ยงสัตว์ไว้เป็นเพื่อน 

6.อย่าคาดหวังกับผู้อื่นมากเกินไป ไม่ยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง

7.เขียนไดอารี่คิดทบทวนถึงสิ่งดีต่างๆ ที่ผ่านมาในชีวิต จะช่วยให้เห็นมุมมองดีๆ และรู้ว่าควรให้ความสำคัญกับอะไรมากที่สุด

อย่างไรก็ตาม ความรู้สึกเหงาหรือความโดดเดี่ยวอาจเป็นสัญญาณของภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน โดยสังเกตได้จากอาการเศร้า สิ้นหวัง หดหู่ ไม่อยากอาหาร นอนไม่หลับ อ่อนล้า หมดความสนใจในเรื่องที่เคยชอบ ถ้ารุนแรงหรือเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานานจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หากใครมีอาการดังกล่าวหรือสงสัยว่าตนอาจมีภาวะซึมเศร้า ขอแนะนำว่าควรไปปรึกษาแพทย์

 โดย...

ดร.หยกฟ้า อิศรานันท์ 

ผู้ช่วยคณบดีคณะจิตวิทยา จุฬาฯ