คนจนเมืองคือใคร?

คนจนเมืองคือใคร?

โดยทั่วไปเชื่อกันว่า การพัฒนาเมืองจะทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น เนื่องจากเมืองจะเป็นศูนย์รวมของนวัตกรรมต่างๆ ที่จะทำให้ชีวิตผู้คนยกระดับ

 เช่น วิทยาการทางแพทย์ เทคโนโลยีการเดินทาง หรือระบบรักษาความปลอดภัยทั้งระบบ การขยายตัวของเมืองไม่ได้ส่งผลกระทบเชิงบวกเพียงอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากการพัฒนาดำเนินไปอย่างไม่สมดุล เมืองใหญ่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญปัญหา ‘คนจนเมือง’

แต่ ‘คนจนเมือง กลับเป็นปัญหาความยากจนรูปแบบใหม่ที่ต่างจากความยากจนแบบดั้งเดิม ที่คนมักอยู่ในภาคเกษตรและชนบทและเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่บ่งบอกว่าการพัฒนาเมืองกำลังมีปัญหาความไม่เป็นธรรมและยั่งยืน

ขอชวนผู้อ่านมาสำรวจองค์ความรู้ว่าด้วย ‘คนจนเมือง’ ในประเทศไทยในเบื้องต้น ผ่านโครงการวิจัยชุดความเหลื่อมล้ำและคนจนเมือง(2560) โดย ดร.สุปรียา หวังพัชรพล และคณะ ที่สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เพื่อไปดูกันว่า คนจนเมืองคือใครกันแน่  

จากผลการศึกษา นักวิจัยได้จำแนกคนจนเมืองออกเป็น 4 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มเผชิญปัญหาความยากจน และมีวิถีชีวิตในมิติที่แตกต่างกันออกไป ดังนี้ 

1.กลุ่มคนจนเชิงรายได้ถือเป็นกําลังสําคัญในภาคเศรษฐกิจแบบไม่เป็นทางการของเมือง มีรายได้ต่ำ และมักถูกละเลยสิทธิที่จะอยู่ในเมือง (Right to the City) ขาดการรับรองและเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานที่จําเป็น ไม่ว่าจะเป็นที่อยู่อาศัย และพื้นที่ทํากินในเขตเมือง และมักจะถูกเบียดขับด้วยการไล่รื้ออยู่เสมอ

ด้วยเหตุนี้ คนจนเมืองกลุ่มนี้จึงมีวิถีชีวิตอยู่ในชุมชนแออัดบุกรุกที่ว่างเปล่า หรือmujสาธารณะต่างๆ เพราะไม่มีที่อยู่อาศัยและทำกินตั้งแต่ต้น ซ้ำยังต้องเผชิญความขัดแย้งในรื่องการไล่รื้อพื้นที่ ตามการพัฒนาของเมืองกลายเป็นปัญหาการไร้ที่อยู่แบบซ้ำซ้อน ทำให้คนกลุ่มนี้ติดอยู่ในกับดักความจน ไม่มีโอกาสในการสร้างรายได้เป็นระยะเวลานาน 

2.กลุ่มชุมชนดั้งเดิมในพื้นที่คือ กลุ่มชุมชนผู้อยู่อาศัยเดิม กลุ่มเกษตรกร กลุ่มอาชีพต่างๆ และชุมชนทางวัฒนธรรม ที่ได้รับผลกระทบเชิงลบจากการพัฒนาของภาครัฐและการลงทุนภาคเอกชนทั้งในทางตรงและทางอ้อม โดยที่ผลประโยชน์ในการพัฒนากลับตกเป็นของคนนอกพื้นที่และนายทุน และยังทำให้คนในพื้นที่ดั้งเดิมสูญเสียที่ดินและทรัพยากรที่จําเป็นในการดำเนินวิถีชีวิตดั้งเดิมไป ซึ่งจะปรากฏให้เห็นในเมืองท่องเที่ยวหรือเมืองเขตเศรษฐกิจพิเศษ

สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดคนกลุ่มนี้ คือ การขาดอำนาจต่อรองในกระบวนการกำหนดการพัฒนาในพื้นที่ของตนเอง ทำให้เกิดปรากฏการณ์ ไล่รื้อที่ดินของคนในพื้นที่เพื่อนำไปทำโครงการก่อสร้างพื้นฐานต่างๆ เมื่อมีการเรียกร้องให้ทบทวนการพัฒนา มักถูกมองว่า “เป็นพวกไม่เสียสละให้กับส่วนรวม”

3.กลุ่มแรงงานที่ย้ายเข้ามาในพื้นที่คือ แรงงานในระบบและนอกระบบที่ย้ายเข้าสู่เมือง ทั้งที่เป็นคนไทยจากชนบท และแรงงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มักขาดการรองรับด้านพื้นที่ โดยเฉพาะที่อยู่อาศัย สวัสดิการทางสังคม โอกาสเข้าถึงแหล่งทุน และการศึกษาที่มีคุณภาพสำหรับลูกหลาน ที่เลวร้ายกว่านั้นคือมักถูกมองว่าแปลกแยกจากคนในพื้นที่ กลายเป็นความยากจนทางศักดิ์ศรีด้วย

4.กลุ่มคนชายขอบ คือกลุ่มคนที่ยังไม่ได้รับสิทธิ โอกาส และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมตามสิทธิที่พึงมีจากภาครัฐและสังคม ซึ่งส่งผลต่อความยากจนทางรายได้และด้านอื่นๆ โดยงานวิจัยแบ่งคนจนกลุ่มนี้เป็น 2 ประเภท ได้แก่ คนชายขอบทางสภาพร่างกาย และคนชายขอบทางสถานะทางสังคม

คนชายขอบทางสภาพร่างกาย หมายถึง กลุ่มผู้สูงอายุและผู้พิการ ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้สูงวัยเกิน 60 ปี มากกว่า 10% ของประชากรทั้งหมด และยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนทำให้ในอนาคต ผู้สูงอายุจะเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของสังคม อย่างไรก็ดี จากข้อมูลในปี พ.ศ. 2557 พบว่า มากกว่า 34% ของผู้สูงอายุทั้งหมดมีชีวิตอยู่ใต้เส้นความยากจน (มีรายได้ต่อเดือนต่ำกว่า 2,572 บาท) ซึ่งทำให้ประชากรกลุ่มนี้จะตกอยู่ในความเสี่ยงในการดำเนินชีวิตมากขึ้น

ส่วนสำหรับผู้พิการ ซึ่งมีจำนวน 3% ของประชากรทั้งประเทศ และพบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ติดอยู่ในภาวะความจนอย่างมาก จากข้อมูลในปี 2558 ชี้ว่า 42% ของกลุ่มคนพิการไม่ได้รับการศึกษา ครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุและไม่ได้ทำงาน ทำให้ผู้พิการตกอยู่ในสภาวะเสี่ยงต่อความยากจน และประสบความลำบากในการดำเนินชีวิต

คนชายขอบทางสถานะสังคม มักจะมาจากกลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มเพศสภาพ และกลุ่มคนที่ประกอบอาชีพบริการทางเพศ ทั้งนี้ นักวิจัยได้ให้ความสนใจกับกลุ่มคนชายขอบจากการประกอบอาชีพบริการทางเพศ โดยเฉพาะกลุ่มที่เข้ามาทำงานตามชายแดน เพราะเห็นว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความอ่อนไหวในแง่ภาพลักษณ์ การเปิดเผยตัวตนเป็นอย่างมาก และยังประสบความความยากจนในหลายมิติ โดยเฉพาะในแง่ของศักดิ์ศรี ที่สำคัญคือ ภาครัฐมักดูแคลนคนกลุ่มนี้จนทำให้เกิดการปฏิเสธการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานของรัฐอย่างเป็นระบบ ดังนั้น คนกลุ่มนี้จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะหลุดจากความยากจน หรือมีคุณภาพชีวิตที่ดีเท่ากับกับคนกลุ่มอื่นๆ 

หลังจากได้ทราบความหมายของคนจนเมือง ทั้ง 4 ประเภทแล้ว หวังว่า จะช่วยให้ผู้อ่านได้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาเมือง ความจน และคนจนเมือง รวมถึงทำให้เห็นความซับซ้อนในการมองปัญหาคนจนเมือง คณะผู้วิจัยเสนอว่า เนื่องจากคนจนเมืองมีอยู่ทั่วทุกแห่งในสังคม และยังไม่ใช่กลุ่มคนที่มีลักษณะเหมือนกันในทุกมิติ ดังนั้น ภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งศึกษาและจัดการปัญหาอย่างระมัดระวัง และจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้ปัญหาทีละพื้นที่หรือตามคนจนเมืองแต่ละกลุ่ม

โดย...

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

[ที่มา: เว็บไซต์Knowledgefarm.in.th โครงการการจัดการความรู้และสื่อสารสาธารณะการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ของ สกว.]