สะท้อนปัญหาการบริหารธุรกิจหลงยุค

สะท้อนปัญหาการบริหารธุรกิจหลงยุค

การตื่นตัวรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีส่วนสำคัญในการนำองค์กรให้ก้าวผ่านความเปลี่ยนแปลงที่กำลังเกิดขึ้นไปได้อย่างรวดเร็ว

ซึ่งบางอุตสาหกรรมอาจได้รับผลกระทบเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับลักษณะของแต่ละธุรกิจ ซึ่งหลายองค์กรธุรกิจได้มีการเตรียมความพร้อมด้านบุคลากร การส่งเสริมสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นกับธุรกิจ เพื่อรองรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่ต้องการความสะดวกสบายและโลกการแข่งขันทางธุรกิจมีการเปิดกว้างอย่างไร้พรมแดนเพิ่มขึ้น

บางบริษัทได้เตรียมความพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ตั้งแต่ระดับผู้บริหารองค์กรไปจนถึงพนักงานระดับล่าง โดยมีการวางระบบการบริหารงานและความพร้อมของบุคลากรที่จะเรียนรู้นำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้กับการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีพื้นฐานหรือเทคโนโลยีขั้นสูงที่มีราคาแพง โดยปรับให้เป็นบุคลากรยุคใหม่ที่ต้องมีความพร้อมทักษะหลากหลาย (Multi Skill) รอบด้านที่เชื่อมโยงกับดิจิทัล สามารถคิดวิเคราะห์ สื่อสารได้หลายภาษา พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ และมีจิตสำนึกด้านความปลอดภัย รวมถึงมีความพร้อมที่จะทำงานร่วมกับหุ่นยนต์หรือระบบปัญญาประดิษฐ์ได้อย่างลงตัว อันจะช่วยยกระดับความสามารถและความได้เปรียบทางการแข่งขันขององค์กรที่สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว

ในขณะที่หลายองค์กรกำลังเตรียมความพร้อมปรับเปลี่ยนวิธีคิดระดับบริหาร-บุคลากร วิธีการบริหารงาน และระบบการทำงานใหม่ แต่ยังมีบางองค์กรธุรกิจที่ยังใช้การบริหารงานแบบหลงยุค โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้มีโอกาสร่วมงานกับบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมหนักแห่งหนึ่ง ซึ่งตลอดเวลาที่ได้ร่วมงานกันในระยะเวลาอันสั้นก็พบว่า มีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นมากมาย ถึงแม้ว่าธุรกิจหลายแห่งเข้าสู่ยุค 4.0 แล้ว แต่บริษัทนี้กลับมีการบริหารธุรกิจยุคไดโนเสาร์โดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล คิดเร็ว สั่งเร็ว ต้องการผลลัพธ์เร็ว ให้ความใส่ใจเน้นงานการขายและการตลาดแบบเก่าเป็นสำคัญคิดว่า สองฝ่ายนี้จะเป็นฝ่ายที่ทำรายได้เข้าบริษัท ไม่เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่หรือแม้กระทั่งลูกหลานที่เข้ามาทำงานแสดงความคิดเห็นหรือทดลองทำการตลาดแบบใหม่ (Digital Marketing) โดยปิดโอกาสพิสูจน์ในสิ่งที่จะเป็นจริงได้ คุณภาพการผลิตไม่เสถียร มีการใช้เงินลงทุนมหาศาลจ้างบริษัทที่ปรึกษาภายนอกมาวางระบบไอทีและวางระบบการทำงาน ซึ่งก็ได้ปรับให้สอดคล้องกับงานของบริษัทอยู่นานแต่ก็ยังไม่สามารถ Support กับลักษณะที่ทำทุกแผนก/ฝ่าย จนต้องมีการเปลี่ยนบริษัทที่ปรึกษาหลายครั้ง จากสภาพปัญหาพอสังเขปดังกล่าว สิ่งที่สะท้อนปัญหาเริ่มปรากฏเห็นเด่นชัดเกิดขึ้น ดังนี้

1.พนักงานระดับผู้จัดการ หัวหน้าแผนก-ฝ่าย และพนักงานปฏิบัติการ มีอัตราการลาออกคิดเป็นเปอร์เซ็นที่ค่อนข้างสูงเกิดการสะดุดในการปฏิบัติงานกว่าจะเกิดการเรียนรู้แก้ไขปัญหาได้ ก็นับว่าสายเกินไปสำหรับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับลูกค้าหรือต้นทุนในการดำเนินงานพบเป็นระยะ ๆ เมื่อมีการสอบถามบุคคลที่กำลังจะเขียนใบลาออกหรือได้ลาออกไปแล้ว ก็ได้รับคำตอบที่น่ากลัวคือ อยู่ไปก็ไร้อนาคต เก็บความรู้ความสามารถและประสบการณ์ไปใช้กับบริษัทที่ให้โอกาสและเห็นคุณค่าความสามารถดีกว่า ซึ่งบุคลากรที่ลาออกส่วนใหญ่อายุอยู่ในวัยที่เรียกว่า เป็นกำลังสำคัญขององค์กรเลยทีเดียว แต่กลับแก้ไขปัญหาด้วยการนำลูกหลานที่มีประสบการณ์การทำงานจากแห่งอื่นเพียง 2-3 ปีเท่านั้น ขึ้นดำรงตำแหน่งระดับบริหารแทนตำแหน่งที่ว่าง ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่ก็ไม่ได้ให้การยอมรับและจากการทำงานร่วมกันมักใช้อำนาจหน้าที่สั่งการด้วยอารมณ์ นำไปสู่วังวนการลาออก

2.ไม่ให้ความสำคัญกับฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ มองว่าเป็นฝ่ายที่มีแต่ค่าใช้จ่ายและมีการแทรกแซงการทำงานฝ่ายนี้ตลอดเวลาจากผู้บริหารระดับสูงโดยให้ผู้จัดการโรงงานมาทำหน้าที่แทนในบางครั้ง จนทำให้ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์อึดอัดใจตลอดระยะเวลาในการทำงานจนนำไปสู่การลาออกคนแล้วคนเล่า ซึ่งผู้บริหารระดับสูงกลับมองเห็นว่า บริษัทก็อยู่ได้ โดยไม่ต้องมีผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ มีเพียงเจ้าหน้าที่ธุรการ เจ้าหน้าที่บุคคล ในการคีย์เงินเดือน ค่าล่วงเวลา และเช็ควันเวลาทำงานของพนักงาน รวมถึงการจ่ายเงินเดือนตรงเวลาก็เพียงพอแล้ว

นอกจากนี้ บุคลากรทุกระดับยังขาดการพัฒนาทักษะในการทำงาน เนื่องจากไม่ได้มีการฝึกอบรมอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งสัมมนาประจำปี งานเลี้ยงประจำปี กิจกรรมสันทนาการ ฯลฯ ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะเกิดขึ้นในแต่ละปี ทำให้บุคลากรขาดขวัญกำลังใจการทำงาน โดยทุกคนทำงานแบบไปวัน ๆ เสมือนหุ่นยนต์ คือ รับคำสั่งแล้วทำตามขาดความคิดสร้างสรรค์หรือข้อเสนอแนะ

นี่คือกรณีศึกษาโศกนาฏกรรมขององค์กรสำหรับผู้ประกอบการหรือผู้บริหารที่กำลังหลงทิศ อันจะนำไปสู่ความล้มเหลวทางธุรกิจในอนาคต โดยต้องการจะชี้ให้เห็นถึงการเรียนรู้ต่อการบริหารธุรกิจในบริบทที่เปลี่ยนไป ซึ่ง Digital Transformation เป็นสิ่งที่องค์กรจำเป็นต้องปรับตัวให้ทัน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มักมองการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีเพียงอย่างเดียว ขาดการมององค์ประกอบอื่น ๆ และคิดว่าคงไม่มีทางจะเกิดผลกระทบกับธุรกิจของตนเองในระยะเวลาอันใกล้ นับว่าเป็นความคิดที่เรียกว่า“คนหลงยุค”.

โดย...

ดร.สิทธิชัย ฝรั่งทอง

มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี