การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์: ถึงเวลาปฏิรูปกฎหมายหรือยัง?***

การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์: ถึงเวลาปฏิรูปกฎหมายหรือยัง?***

ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ข่าวใหญ่อันหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากสื่อมวลชนและสาธารณชนก็คือ ข่าวการบุกตรวจค้นโรงงานคัดแยก

และรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่การตรวจค้นโรงงานประเภทนี้อีกหลายแห่งทั้งที่ตั้งอยู่ใน จ. ฉะเชิงเทรา และนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง โรงงานที่ถูกตรวจค้นหลายแห่งกระทำผิดเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน และมีการกำจัดกากของเสียอันตรายที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่ทางราชการกำหนด

ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์จากทั่วโลกที่พักค้างอยู่ที่ฮ่องกงจำนวนหลายแสนตัน โดยประเทศจีนไม่อนุญาตให้นำเข้า นักลงทุนจึงมาตั้งโรงงานรีไซเคิลในประเทศไทย เมื่อมีการคัดแยกได้วัสดุที่รีไซเคิลได้และเป็นประโยชน์ก็จะส่งกลับประเทศจีน ส่วนขยะที่ไม่สามารถรีไซเคิลได้ ก็จะนำใส่กระสอบไปลักลอบทิ้งตามบ่อขยะในประเทศไทย

กรมโรงงานอุตสาหกรรมให้ข้อมูลว่า ในปี 2560 ประเทศไทยมีปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ประมาณกว่า 6 หมื่นตัน แบ่งออกเป็นขยะที่มาจากภาคอุตสาหกรรมในประเทศจำนวนประมาณ 7,400 ตัน และนำเข้าประมาณ 53,000 ตัน ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตบำบัดและกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 148 แห่ง ประกอบด้วยโรงงานคัดแยกขยะ โรงงานบำบัดและกำจัดขยะ และโรงงานสกัดโลหะมีค่านำกลับมาใช้ใหม่ ขยะที่นำเข้ามารีไซเคิลส่วนใหญ่มาจากประเทศญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ 98% เป็นโทรศัพท์มือถือ แผงวงจรอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ กรมโรงงานฯได้ออกใบอนุญาตให้มีการนำเข้า 7 โรงงาน มีโควต้าการนำเข้ารวมประมาณ 117,000 ตันต่อปี ในจำนวนนี้มี 5 โรงงานที่เข้าข่ายมีการนำเข้าโดยผิดเงื่อนไขในใบอนุญาต ตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าปัจจุบันไทยเรามีการนำเข้าขยะอิเล็ทรอนิกส์เป็นจำนวนมาก คำถามสำคัญที่สร้างความกังวลใจก็คือ กฎหมายและกลไกของรัฐมีความพร้อมและประสิทธิภาพมากเพียงพอที่จะรองรับการจัดการขยะอุตสาหกรรมจำนวนมากมาย เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพที่จะเกิดขึ้นกับประชาชนในระยะยาวหรือไม่

ในส่วนของขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีการลักลอบนำเข้า กรมโรงงานอุตสาหกรรมชี้แจงว่า เกิดจากช่องว่างทางกฎหมาย ปัญหาการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษ รวมทั้งการปลดเงื่อนไขของกรมโรงงานอุตสาหกรรมให้เอื้อต่อการเปิดเสรีทางการค้าและการประกอบกิจการของนายทุนไทยกับนายทุนต่างประเทศมากขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.)วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ควบคุมการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเคร่งครัด ผู้นำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตนำเข้าวัตถุอันตรายโดยดำเนินการตามขั้นตอนของอนุสัญญาบาเซล และกรมโรงงานอุตสาหกรรมจะอนุญาตให้โรงงานรีไซเคิลนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในโรงงานของตนเท่านั้น จึงเกิดการล๊อบบี้ทั้งจากประเทศต้นทางและปลายทาง

ข้อเท็จจริงข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงปัญหากฎหมายและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และการจัดการขยะพิษอุตสาหกรรมดังนี้

  1. ประเทศไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะต้องประสบกับปัญหาการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์และของเสียอันตรายเพิ่มมากขึ้นความตกลงการค้าเสรีที่ไทยได้ทำไว้กับหลายประเทศก่อให้เกิดข้อผูกพันต้องยกเว้นอากรขาเข้าให้แก่สินค้าหลายรายการ ซึ่งรวมถึงของเสียเคมีวัตถุและขยะอิเล็กทรอนิกส์ เท่าที่ผ่านมา ระบบควบคุมทางศุลกากรใช้วิธีการบริหารความสี่ยงโดยคัดกรองสุ่มตรวจเฉพาะกรณีที่มีข้อสงสัยจากประวัติของบริษัท จึงไม่มีการตรวจสอบทางกายภาพกับสินค้าส่วนใหญ่ที่นำเข้า มีการตั้งเป้าการเปิดตรวจสินค้าขาเข้าไว้ไม่เกินร้อยละ 5 และจะลดการตรวจลงไปอีกตามแนวนโยบายส่งเสริมการค้าเสรี
  2. ปัญหาความหย่อนยานในการบังคับใช้กฎหมายหน่วยงานผู้อนุญาตการประกอบกิจการโรงงานและการนำเข้าของเสียอันตราย ได้แก่ กรมโรงงานอุตสาหกรรม โดยมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการโรงงาน เมื่อประชาชนร้องเรียนเกี่ยวกับปัญหากลิ่น น้ำเสีย และมลพิษอื่นๆที่เกิดจากการประกอบกิจการโรงงาน มาตรการที่ใช้ตาม พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ก็คือ การออกคำสั่งให้ผู้ฝ่าฝืนกฎหมายปรับปรุงแก้ไขโรงงาน หรือหากเป็นกรณีที่ก่อให้เกิดผลกระทบอย่างร้ายแรง ก็อาจออกคำสั่งให้หยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว เมื่อโรงงานดำเนินการปรับปรุงแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ก็มักจะกลับมาดำเนินกิจการได้ตามปรกติจึงปรากฎอยู่บ่อยครั้งว่าปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่ได้รับการแก้ไข 
  3. พระราชบัญญัติโรงงานฯกำหนดบทลงโทษไว้ต่ำมาก ไม่มีการกำหนดระวางโทษขั้นต่ำ อีกทั้งยังกำหนดให้การฝ่าฝืนกฎหมายโรงงานเป็นความผิดที่เปรียบเทียบปรับได้ ฉะนั้นต้องเพิ่มบทลงโทษ กำหนดโทษขั้นต่ำ และยกเลิกบทบัญญัติที่กำหนดให้เปรียบเทียบปรับ
  4. การที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมระบุว่ามีการลอบบี้ให้นำเข้าของเสียอันตรายตามอนุสัญญาบาเซล รวมทั้งอาจมีการทุจริตและการแบ่งผลประโยชน์ระหว่างข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจ แสดงให้เห็นว่าการวิ่งเต้นเพื่อให้มีการอนุญาตนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อผู้มีอำนาจในการตัดสินใจขาดธรรมาภิบาล

ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา การปฏิรูปในหลายด้าน ซึ่งใช้งบประมาณแผ่นดินไปแล้วมากมาย แต่ก็ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจน ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราจะดำเนินการอย่างจริงจัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องการกำหนดโทษขั้นต่ำสำหรับผู้ฝ่าฝืนกฎระเบียบที่ออกตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน และพิจารณายกเลิกบทบัญญัติในพระราชบัญญัติโรงงานฯที่กำหนดให้มีการเปรียบเทียบปรับได้สำหรับความผิดฐานลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรมหรือปล่อยมลพิษที่ไม่ผ่านการบำบัดให้เป็นไปตามคุณภาพที่กฎหมายกำหนด นอกจากนี้ จะต้องปฏิรูประบบสถาบันโดยกำหนดให้หน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมมีหน้าที่กำกับดูแลโรงงานแยกต่างหากจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งเป็นหน่วยงานผู้อนุญาต อันเป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นสากลในหลายๆประเทศ

โดย... กอบกุล รายะนาคร

 

*** ชื่อเรื่อง: 

การนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์: ถึงเวลาปฏิรูปกฎหมายการจัดการขยะพิษอุตสาหกรรมหรือยัง?

กอบกุล รายะนาคร