สตาร์ทอัพ สปีชีส์ ที่กำลังใกล้สูญพันธุ์

สตาร์ทอัพ สปีชีส์ ที่กำลังใกล้สูญพันธุ์

ก่อนอื่น เราต้องยอมรับความจริงเสียก่อนว่า “สตาร์ทอัพ” ไม่ใช่เรื่องอะไรใหม่ ที่เพิ่งจะมามีในยุคนี้ 

และมิใช่ว่า สตาร์ทอัพ ถือกำเนิดขึ้นมากับ สตาร์ทอัพไทยแลนด์ เมื่อไม่กี่ปีก่อน และมิใช่ว่า สตาร์ทอัพ ถือกำเนิดขึ้นมากับ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง เฟสบุ๊ค เมื่อราวทศวรรษที่แล้ว และย่อมมิใช่ว่า สตาร์ทอัพ ถือกำเนิดขึ้นมากับดอทคอมเมื่อต้นสหัสวรรษนี้

แต่สตาร์ทอัพ เป็นสิ่งที่ได้มีมานับร้อยปีนับพันปีแล้ว พร้อมกับการเกิดขึ้นของระบบเศรษฐกิจในยุคปัจจุบัน ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนสามารถทำการค้าขายได้อย่างเสรี

อาจจะพูดได้เลยว่า ธุรกิจยักษ์ใหญ่จำนวนมากในปัจจุบัน ล้วนมีรากฐานมาจากการเป็นสตาร์ทอัพมาก่อน ทั้งนี้ไม่ได้หมายถึงแต่เพียงธุรกิจแห่งโลกเทคโนโลยี เช่น เฟสบุ๊ค กูเกิล อเมซอน แอปเปิล ไมโครซอฟท์ ฯลฯ แต่ยังคงหมายถึงบรรดาธุรกิจยักษ์ใหญ่ภายในประเทศ ที่อยู่คู่แผ่นดินไทยมาเกือบร้อยปีแล้ว

และไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ สตาร์ทอัพ เป็น กลไกการขับเคลื่อนและเติบโตของเศรษฐกิจ ที่สำคัญ ทุกยุคทุกสมัย

แต่ล่าสุด ข้อมูลจากสหรัฐกำลังบ่งชี้ว่า สตาร์ทอัพ กำลังจะใกล้สูญพันธุ์

หากเปรียบข้อมูลย้อนหลังกลับไปในยุค 1985 ขณะนั้น 13% ของธุรกิจในสหรัฐเป็นสตาร์ทอัพ หากเราตั้งนิยามว่า สตาร์ทอัพ คือธุรกิจที่มีอายุระหว่าง 0 - 2 ปี แต่เมื่อ 2014 หรือเกือบ 30 ปีให้หลัง สัดส่วนของสตาร์ทอัพเหลืออยู่เพียง 8% หรือได้ลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ เป็นการลดลงอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ในช่วงเวลาเกือบ 30 ปีนั้น

ในทางเดียวกัน เมื่อปี 1998 มีสัดส่วนของพนักงานภาคเอกชนที่ทำงานอยู่ในสตาร์ทอัพ 9% แต่ในปี 2010 สัดส่วนนี้เหลืออยู่เพียง 5%

ในอีกแง่มุมหนึ่ง ในปี 1992 4% ของผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก สามารถเป็นเจ้าของธุรกิจ ที่มีพนักงานอย่างน้อย 10 คน แต่ในปี 2017 สัดส่วนนี้ ได้เหลืออยู่เพียง 2.2% การลดลงของสัดส่วนดังกล่าว ก็ไม่แตกต่าง สำหรับผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่ได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง สำหรับความเป็นเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีพนักงานอย่างน้อย 10 คน ทั้งนี้ ผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาตรี ยังมีโอกาสที่น้อยกว่า ผู้ที่มีการศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอก ในการเป็นเจ้าของธุรกิจเอง

ข้อมูลของการลดจำนวนลงของสตาร์ทอัพ ในสหรัฐ มิได้เกิดขึ้นกับเฉพาะกลุ่มธุรกิจบางกลุ่ม แต่กลับเกิดขึ้นกับทุกภาคธุรกิจ

และข้อมูลดังกล่าว มิเพียงแต่จะแสดงให้เห็นว่าธุรกิจสตาร์ทอัพในปัจจุบัน มีจำนวนน้อยกว่าธุรกิจสตาร์ทอัพในอดีต และก็ยังคงแสดงให้เห็นด้วยว่า บุคลากรส่วนใหญ่ เลือกที่จะทำงานในธุรกิจที่มีความมั่นคง มากยิ่งกว่าในอดีต แทนที่จะเลือกทำงานในธุรกิจสตาร์ทอัพ และโอกาสของผู้ที่จบปริญญา ที่จะได้เป็นเจ้าของธุรกิจเอง กลับลดน้อยลงไปกว่าในอดีต

นี่คือข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา ดิินแดนแห่งสิทธิเสรีภาพ ดินแดนแห่งโอกาส และดินแดนแห่งจิตวิญญานของผู้ที่ไฝ่ฝันจะเป็นเจ้าของธุรกิจเอง สรุปแล้วมันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ ?

ข้อเท็จจริง อาจเป็นสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว ที่อาจจะเป็นไปได้ว่า ในปัจจุบัน โอกาสในการสร้างสตาร์ทอัพ ที่ประสบความสำเร็จ มีน้อยกว่าที่เคยเป็นมาในอดีต

นี่ไม่ใช่เรื่องแปลก หากศึกษาตัวอย่างของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี จะสังเกตได้ว่า ธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ จนได้มาเป็นธุรกิจยักษ์ใหญ่ในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลุ่มที่เพิ่งได้รับการขนานนามว่า “The Frightful Fives” ได้แก่ เฟสบุ๊ค กูเกิล อเมซอน แอปเปิล ไมโครซอฟท์ ล้วนเป็นสตาร์ทอัพจากเมื่อ 20 ปี (เฟสบุ๊ค กูเกิล อเมซอน) และ 40 ปี ที่แล้ว (แอปเปิล ไมโครซอฟ)

กว่า 10 ปีที่ผ่านมา แทบไม่มีสตาร์ทอัพเกิดใหม่ ที่ประสบความสำเร็จจนกระทั่งเป็นอภิมหาธุรกิจยักษ์ใหญ่ข้ามชาติ ที่เทียบเท่าได้กับกลุ่มก่อนหน้า จะมีเพียง แอร์บีเอ็นบี และ อูเบอร์ ที่ถือกำเนิดเมื่อ 8 - 9 ปีที่แล้ว แต่ก็มิได้ประสบความสำเร็จอย่างกว้างไกลจนเทียบเท่ากับกลุ่มที่ได้กล่าวถึงแล้ว

นี่อาจเป็นเพราะ เราได้เข้าสู่ยุคของ การอิ่มตัวของความคิด และการกระจุกตัวของทรัพยากร

การอิ่มตัวของความคิด นั้นหมายถึงว่า ทุกนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นทางเทคโนโลยีหรือธุรกิจ ที่เกิดขึ้นในยุคนี้ มีผลสู่การเปลี่ยนแปลง ของโครงสร้างอุตสาหกรรม และกระทั่งระบบเศรษฐกิจของโลก ได้น้อยกว่านวัตกรรม ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อหลายศตวรรษก่อน

ยกตัวอย่างเช่น เมื่อ เฮนรี่ ฟอร์ด เริ่มผลิตรถยนต์เป็นครั้งแรก เมื่อกว่า 100 ปีที่แล้ว เป็นจุดกำเนิดของอุตสาหกรรมรถยนต์ พลิกโฉมการขนส่งในยุคปัจจุบัน และส่งผลสู่ระบบเศรษฐกิจของโลก จวบจนกระทั่งวันนี้

แต่หากเปรียบกับ อูเบอร์ หรือ กระทั่ง เทสล่า​ ซึ่งเป็นที่น่าตื่นตาตื่นใจในยุคของเรา ก็จะมองได้ว่า นวัตกรรมในยุคปัจจุบัน เป็นการพัฒนาปรับปรุง เพียงแต่บางส่วนของ อุตสาหกรรมรถยนต์ และการขนส่ง และเปรียบได้ยากกับนวัตกรรมของ เฮนรี่ ฟอร์ด เมื่อ 100 ปีที่แล้ว

ในด้านของการกระจุกตัว จากการอิ่มตัวของความคิด การที่จะคิดค้นและสร้างนวัตกรรมใหม่ อาจเป็นสิ่งที่ยากขึ้น ดังนั้น ธุรกิจที่พร้อมด้วยทรัพยากร จะมีโอกาสที่สูงกว่าในการคิดค้นนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ สิ่งที่สังเกตได้ชัดคือ เอไอ ที่ทุกฝ่ายให้ความสำคัญ กลับเป็นเขตแดนขององค์กรขนาดใหญ่ และสตาร์ทอัพน้อยราย จะมีทรัพยากรที่เพียงพอที่จะเข้าไปแข่งขันและบุกเบิกในสมรภูมินี้

ที่กล่าวมาเป็นข้อมูลจากสหรัฐอเมริกา เชื่อว่าจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งหากมีการเปรียบเทียบและนำเสนอ ข้อมูลเกี่ยวกับสตาร์ทอัพ และ การเป็นเจ้าของธุรกิจในประเทศไทย