เมื่อ กมธ. พบ กทม. (จบ)

เมื่อ กมธ. พบ กทม. (จบ)

การชี้แจงของ กทม.มีรายละเอียดค่อนข้างมาก แสดงว่า ทาง กทม.ให้ความสำคัญและมีการเตรียมการมาอย่างดี

สำหรับคำถามที่ถามนั้นรองปลัด กทม. ได้ตอบทุกคำถามย้อนกลับ เริ่มจากคำถามสุดท้าย จนจบที่คำถามแรก สามารถสรุปสั้นๆได้ดังนี้

1.เรื่องประชากรแฝงนั้นเป็นเรื่องใหญ่มากเพราะทำให้งบประมาณรายหัวไม่สามารถใช้ได้พอเพียง จำนวนประชากรแฝงไม่ได้มีแค่ผู้มาทำงานแต่รวมถึงญาติพี่น้องในครอบครัวของประชากรแฝงซึ่งไม่ได้ทำงาน ไม่มีรายได้ เป็นภาระของผู้ทำงาน แต่เมื่อเจ็บป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลรัฐ กทม.ต้องรับผิดชอบการรักษาพยาบาลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทาง กทม.กำลังจัดตั้งกองทุนใหม่เรื่องการให้บริการระบบสาธารณสุขซึ่งระดมทุนได้ 200 กว่าล้านบาทในขณะนี้ แต่ก็ยังไม่พอเพียง แม้เมื่อรวมกับที่ได้รับงบประมาณรายหัวจาก สปสช.ประมาณ 600-700 ล้านบาทต่อปี ก็ยังถือว่าน้อยมาก โดยเฉพาะงบประมานรายหัวจาก สปสช. เมื่อมาแบ่งเฉลี่ยให้ 50 เขต แต่ละเขตได้ไปประมาณ 10 ล้านบาทเศษเท่านั้น เกือบจะเรียกว่าทำอะไรไม่ได้เลย เพราะแต่ละเขตมีประชากรหลายแสนคน บางเขตมีประชากรมากกว่าบางจังหวัดของประเทศ เรื่องงบประมาณจึงเป็นปัญหาใหญ่ที่ยังมองไม่เห็นทางออก นอกจากนี้ รัฐบาลก็จัดสรรงบประมาณรายปีให้เพียงปีละประมาณ 14,000 -16,000 ล้านบาท เท่านั้น แต่ กทม.ต้องใช้เงินมากกว่าปีละ 50,000 ล้านบาทขชชชช ไม่สามารถเอางบประมาณจากรัฐบาลมาช่วยในระบบสาธารณสุขได้ และ กทม.ก็มีเรื่องอื่นที่ต้องทำ ไม่ใช่แค่เรื่องสาธารณสุขอย่างเดียว เรื่องงบประมาณจึงเป็นเรื่องสำคัญ

2.เรื่องระบบสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุ กทม.มีบ้านบางแคเป็นต้นแบบ และกำลังพิจารณาขยายบ้านบางแค 2 บางแค 3 ในเขตที่มีผู้บริจาคที่ดินที่อยู่เขตรอบนอกของ กทม. ปัญหาอย่างหนึ่งคือจำนวนผู้สูงอายุที่ต้องการอยู่บ้านบางแคเพิ่มสูงมาก เพราะไม่ใช่แค่ประชากรของ กทม. แต่ประชาชนผู้สูงอายุจากที่อื่นก็ต้องการมาอยู่ และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเพราะมาอยู่แล้วก็ไม่อยากกลับออกไปอยู่บ้านเนื่องจากไม่มีบ้าน ไม่มีคนดูแลที่บ้าน เรื่องผู้สูงอายุกำลังมีความสำคัญมากขึ้น

3.เรื่องการยกระดับสถานพยาบาลเอกชนขนาดเล็กรวมถึงร้านขายยาให้เป็นหน่วยบริการที่สามารถให้บริการสุขภาพระดับปฐมภูมิและดูแลผู้ที่ออกจากโรงพยาบาลกลับมาอยู่บ้านนี้เป็นเรื่องที่ กทม.สนใจแต่การยกระดับเป็นเรื่องของ สปสช. เพราะจะเกี่ยวกับมาตรฐานสถานพยาบาล และการควบคุมกำกับ ซึ่งถ้ายกระดับขึ้นมาจำนวนมากจะเป็นเรื่องดีโดยเฉพาะสถานพยาบาลประเภท Daycare แต่ กทม. มีขีดจำกัดในด้านบุคคลากรที่จะไปกำกับดุแล

4.เรื่องระบบขนส่งมวลชนที่จะทำให้เกิดการย้ายการรักษาพยาบาลระหว่างเขตกรุงเทพชั้นในกับปริมณฑลนั้น แม้ว่าจะมีความคิดที่จะให้สถานพยาบาลในเขตปริมณฑลให้บริการประชาชนจาก กทม.มากขึ้น แต่กทม.มองว่าจะตรงกันข้ามว่าประชาชนจากปริมณฑลจะเข้ามาใช้บริการสถานพยาบาลใน กทม.มากขึ้นเพราะเดินทางสะดวกขึ้น โรงพยาบาลใน กทม.มีขนาดใหญ่ประชาชนให้ความเชื่อมั่นว่าจะดีกว่าโรงพยาบาลเล็กๆในเขตรอบนอกย่อมอยากเข้ามาใช้บริการ และกทม.ก็ไม่สามารถปฏิเสธได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่มากเพราะทุกจังหวัดที่ติดต่อกับ กทม.จะต้องมีการบูรณาการการให้บริการร่วมกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่สามารถแบ่งเขตได้ชัดเจน ห้ามข้ามเขต แต่บางอย่างก็มีปัญหาเช่นเรื่องการระบาดของโรคพิษสุนัขบ้าในจังหวัดที่เป็นปริมณฑล กทม.ต้องการจำกัดการระบาดไม่ให้เข้ามาถึง กทม. แต่ก็ทำไม่ได้

5.เรื่องสถานพยาบาลเอกชนในเขต กทม.นี้ แม้จะมีจำนวนมากแต่ก็ให้บริการเฉพาะกลุ่มที่แตกต่างกันโรงพยาบาลเอกชนนั้นมีแพทย์และบุคคลากรทางการแพทย์จำนวนมาก แต่ไม่ได้มาช่วยโรงพยาบาลรัฐที่ยังประสบปัญหาบุคคลากรไม่พอ ที่สำคัญประชนที่ใช้บริการโรงพยาบาลรัฐเป็นคนยากจน เป็นชาวชุมชนที่มาอยู่กันหนาแน่น เป็นผู้มีรายได้น้อยหรือไม่มีรายได้เลย เป็นประชากรแฝง เป็นภาระของโรงพยาบาลรัฐทุกแห่งที่ต้องช่วยเหลือดูแลส่วนประชาชนที่อยู่บ้านมีรั้วนั้นก็สามารถใช้บริการเอกชนได้ แต่ก็มีปัญหาเรื่องความร่วมมือในบางครั้ง เพราะเข้าถึงยากและมีผลกระทบเช่น กทม.ต้องการพ่นกำจัดลูกน้ำยุงลาย ประชาชนที่มีบ้านมีรั้วจะไม่ค่อยให้ความร่วมมือ ทำให้เป็นข้อจำกัดการแก้ปัญหาการระบาดบางเรื่องทำได้ไม่เต็มที่ แม้จะไม่ใช่เรื่องใหญ่แต่ก็มีผลกระทบต่อเนื่อง

6.เรื่องการโอน รพสต.มาอยู่ อปท.นั้นทาง กทม. ไม่มีเรื่อง รพสต. แต่มีเขตสาธารณสุข แต่ก็มีปัญหาการให้บริการประชาชนเช่นกัน ในฐานะที่เป็น อปท. พบว่ายังมีความเห็นที่ต่างกันว่า รพสต.ควรจะอยู่กับ กระทรวงสาธารณสุข หรือขึ้นอยู่กับ อปท. เพราะมีทั้งจุดอ่อนจุดแข็งในระหว่างที่ฝ่ายสาธารณสุขไม่มีความเชื่อมั่นเรื่องศักยภาพในการดูแลของ อปท. แต่หลาย อปท.ก็เชื่อว่ามีความสามารถพอในการดูแลถ้ารับโอนมาอยู่กับท้องถิ่น เรื่องนี้ ทาง กทม.ได้ดำเนินการดูแลประชาชนผ่านโครงการหมอครอบครัว หรือ PCC และได้จัดทีมหมอครอบครัวดูแลเขตรอบนอกของ กทม. ซึ่งเรื่องนี้ ประธาน กมธ. สาธารณสุข มีความสนใจเป็นพิเศษ และต้องการลงพื้นที่ในเขตที่จัดโครงการ PCC ของ กทม. ซึ่งจะหาโอกาสลงพื้นที่อีกครั้งหรืองสองครั้งเพื่อดูการทำงานและผลการปฏิบัติงานว่าได้ผลอย่างไร และ

7.เรื่องประชากรจริงกับประชากรแฝงนี้เป็นปัญหาใหญ่มากของ กทม. เพราะต้องให้บริการประชาชนทุกคนที่ใช้บริการ ทุกคนเป็นคนไทย ไม่ว่าจะมาจากที่ไหน ยากจนแค่ไหนก็ต้องให้บริการ ไม่สามารถปฏิเสธได้ สิ่งที่ทำไปก็เป็นไปตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่9 ที่ตรัสว่า...ขาดทุน คือกำไร... กทม.ยึดมั่นให้บริการ แม้ว่าจะขาดทุนแค่ไหนก็ตาม

การประชุมร่วมกันวันนี้ทำให้เห็นปัญหามากมายในระบบสาธารณสุขของ กทม. ปัญหาใหญ่สุด และเหมือนกับโรงพยาลรัฐทั่วประเทศอีกหลายๆแห่งคือเรื่องงบประมาณไม่พอ ขาดทุนจากการให้บริการ ทำให้ไม่สามารถให้บริการได้เต็มศักยภาพ

ยิ่งเห็นปัญหาของ กทม. ก็ยิ่งคิดว่า ประชาชนที่มีรายได้พอที่จะร่วมจ่าย ต้องมีการร่วมจ่าย (Co-payment) มากขึ้น ระบบสาธารณสุขภาครัฐของเราตกอยู่ในสถานะย่ำแย่ มองไม่เห็นอนาคตว่าจะเงยหน้าอ้าปากได้เมื่อไร เทคโนโลยีการรักษาพยาบาลยิ่งก้าวหน้าก็ยิ่งต้องใช้จ่ายมากขึ้น ประชาชนอยากได้การรักษาที่ดีมีเทคโนโลยีสูง แต่ไม่ช่วยจ่าย ไม่ร่วมจ่าย ดูดาย ขอรับบริการฟรี ทั้งๆที่ช่วยได้

ที่จริงยังมีเรื่องอื่นอีกเช่นเรื่องการรักษาพยาบาลแบบประคับประคอง หรือ Pallative care ที่พูดในที่ประชุม แต่คงไม่สามารถลงในรายละเอียดมากกว่านี้ คงต้องยกไปพูดในโอกาสหน้า