DW เป็น Zero-Sum Game?

DW เป็น Zero-Sum Game?

DW เป็น Zero-Sum Game?

เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ผมได้เห็นนักลงทุนรุ่นใหม่ๆ เริ่มติดตามและศึกษาความรู้ในการลงทุน ความรู้ตรงนี้ไม่ใช่แค่การอ่านงบ ดูกราฟเพื่อเลือกหุ้นในการลงทุน แต่เป็นการหาความรู้เกี่ยวกับเครื่องมือในการลงทุน ซึ่งผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมมากในขณะนี้คือ DW และหนึ่งในคำถามที่ได้ยินจากนักลงทุน ส่วนใหญ่มักจะถามว่าการลงทุนในเครื่องมือการลงทุนเหล่านี้ถือว่าเป็น Zero-Sum Game หรือไม่

ความหมายของ Zero-Sum Game ของเกมที่มีผู้เล่นสองคน คือสถานการณ์ที่ตอนจบของเกมต้องมีคนหนึ่งแพ้ และอีกคนเป็นผู้ชนะเสมอ โดยผลประโยชน์ของผู้ชนะที่ได้จากการแข่งขันจะได้มาจากผู้แพ้

สมมุติว่านักลงทุนได้ลงทุนใน DW Call อ้างอิงกับราคาหุ้นตัวหนึ่ง เพราะมีมุมมองว่าราคาหุ้นตัวนี้จะปรับขึ้น เช่น ถ้า DW มีอัตราทด 4 เท่า เมื่อราคาหุ้นปรับขึ้น 1% นักลงทุนจะได้กำไรจาก DW ตัวนี้ประมาณ 4% ในทางตรงกันข้ามถ้าราคาหุ้นปรับลง 1% นักลงทุนจะขาดทุนบน DW ประมาณ 4% คำถามที่ตามมาคือกำไร (หรือขาดทุน) ของนักลงทุนนั้นทำให้โบรคผู้ออก DW เกิดผลขาดทุน (หรือกำไร) ในปริมาณที่เท่ากันไหม

โดยปกติแล้วผู้ออก DW จะทำการบริหารความเสี่ยงโดยการซื้อขายหุ้นตัวนั้นไว้ควบคู่ไปกับการซื้อขาย DW ที่นักลงทุนลงทุน เช่น ถ้านักลงทุนซื้อ DW Call ผู้ออกก็จะทำการซื้อหุ้นอ้างอิงตัวนั้นในกระดานเพื่อบริหารความเสี่ยง โดยปริมาณหุ้นอ้างอิงที่ซื้อขายนั้นขึ้นอยู่กับอัตราทด สถานะและอายุของ DW แต่ละตัว ตารางข้างล่างแสดงตัวอย่าง จำนวนหุ้นที่ผู้ออกต้องซื้อ/ขาย DW บนหุ้น PTT, PTTEP, และ AOT เมื่อ DW มีการซื้อขาย 1 ล้านหน่วย

ถ้าราคาหุ้นปรับตัวขึ้น กำไรที่นักลงทุนได้จาก DW Call ก็จะมาจากกำไรจากหุ้นอ้างอิงที่ผู้ออกซื้อไว้เพื่อบริหารความเสี่ยง แต่ถ้าราคาหุ้นปรับตัวลง ผลขาดทุนที่นักลงทุนขาดทุนจาก DW Call ผู้ออกก็จะรับผลขาดทุนจากหุ้นที่ซื้อไว้เพื่อบริหารความเสี่ยงเช่นกัน จะเห็นว่าผลกำไรขาดทุนของนักลงทุนบน DW ที่เกิดจากราคาหุ้นที่ปรับขึ้นหรือลงไม่ได้ส่งผ่านไปยังผู้ออก DW ซึ่งขัดกับความหมายของ Zero-Sum Game ในเรื่องของผลประโยชน์ของผู้ชนะจะมาจากผู้แพ้

อีกลักษณะหนึ่งของ Zero-Sum Game คือเรื่องการเลือกเวลาจะจบของเกม ผู้ชนะกับผู้แพ้ตัดสินแพ้ชนะกันเมื่อเกมจบลงด้วยความยินยอมของทั้ง 2 ฝ่าย ไม่ใช่ว่าคนหนึ่งกำลังจะชนะก็ขอจบเกมก่อนเลย ประเด็นตรงนี้ทำการลงทุนใน DW นั้นแตกต่างอย่างมากกับ Zero-Sum Game เพราะการลงทุนใน DW นั้น นักลงทุนสามารถขายคืนออกมาได้ตลอดเวลาเปิดทำการของกระดานหลักทรัพย์ ถ้ากำไรถึงจุดที่พอใจ นักลงทุนสามารถขายออกมาได้ทันที หรือถ้าขาดทุน นักลงทุนสามารถคัทลอสออกมาได้ทันทีเช่นกันโดยที่ไม่ต้องขอความยินยอมกับผู้ออก เพราะผู้ออกจะวางบิด DW ไว้ในกระดานคอยรับซื้อ DW คืนจากนักลงทุน

กลไกบริหารความเสี่ยงตรงนี้ทำให้การลงทุนใน DW ไม่ใช่เป็น Zero-Sum Game อย่างที่นักลงทุนหลายๆท่านเข้าใจผิดกัน อีกทั้งกลไกตรงนี้ทำให้โบรคผู้ออกรายใหญ่ๆสามารถออก DW อ้างอิงกับหุ้นได้หลายๆตัวพร้อมกัน (ตามเกณฑ์แล้วสามารถออก DW บนหุ้น SET100 ได้เกือบครบทั้งหมด) เพราะไม่ได้เก็งกำไรทิศทางราคาหุ้นไปกับนักลงทุน และสามารถนำระบบคอมพิวเตอร์มาช่วยในการบริหารจัดการได้อย่างเต็มที่ ซึ่งตรงนี้เป็นที่มาของเงื่อนไขที่ทางการจะอนุญาตให้โบรคเป็นผู้ออก DW ได้นั้น ทางโบรคต้องแสดงให้เห็นว่ามีความพร้อมในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากการขาย DW ให้แก่นักลงทุนในวงกว้างได้