“ความเป็นธรรมทางสังคม” อยู่ใกล้แค่เอื้อม

“ความเป็นธรรมทางสังคม” อยู่ใกล้แค่เอื้อม

หลายท่านอาจไม่ทราบว่า ผมและมิตรสหายได้ร่วมกันก่อตั้ง “ศูนย์ศึกษาวิจัยและพัฒนากระบวนการยุติธรรมไทย” (thajustice.org ) มายาวนานกว่า 10 ปีแล้ว

เพิ่งครบรอบวันสถาปนาไปเมื่อวันที่ 6 มี.ค.ที่ผ่านมา แม้กิจกรรมหลักของสถาบันฯ จะเป็นเรื่องของการจัดพิมพ์วารสาร “ยุติธรรมคู่ขนาน (thaijustice watch)” ออกเผยแพร่โดยไม่คิดมูลค่าและบริการสังคมเกี่ยวกับการจัดให้ความรู้ ประชุมสัมนาเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรมในวาระโอกาสต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นความมุ่งหมายหรืออุดมการณ์ร่วมกันของผู้ก่อตั้ง คือ การเน้นไปที่สิ่งซึ่งเราเรียกกันว่า “ความเป็นธรรมทางสังคม” ที่วันนี้ดูเหมือนว่าเป็นสิ่งที่สังคมทุกหย่อมหญ้าเพรียกร้องถามหาและทวงถาม “ความมีอยู่จริง” ของสิ่งที่ว่านี้

จะว่าไปแล้ว “ความเป็นธรรมทางสังคม” ไม่ใช่เรื่องใหม่ และเป็นคนละเรื่องกับ กระบวนการยุติธรรมทางอาญาหรือเรื่องของโรงศาลตามปกติ แต่เป็นเรื่องของ “คนในสังคมทั่วไป” ที่มักตั้งคำถามกับตัวเอง และรัฐผู้ปกครองเขาว่า ได้ทำอะไรให้เขาได้รับความพึงพอใจในส่วนแบ่งที่เขาพึงมีพึงได้ ตามสิทธิเสรีภาพที่ควรจะเป็นมากน้อยอย่างไร และเป็นธรรมกับเขาหรือไม่ ซึ่งไม่ใช่ในแง่ของ “ความรู้สึก” แต่เจือด้วย เหตุผล การเปรียบเทียบ มีตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานกลางอย่างที่ไม่ต้องใช้หลักวิชาอันซับซ้อนมากำหนดกฎเกณฑ์ ใช้ “สามัญสำนึก” ของคนเราก็สามารถบ่งชี้ได้แล้วว่า “ความเป็นธรรมในสังคม” นั้นมีอยู่จับต้องได้หรือเป็นเรื่องเพ้อฝัน

การตั้งคำถามถึงหลายต่อหลายเหตุการณ์ในวันนี้ ไม่ว่าจะเรื่อง “การล่าสัตว์ในพื้นที่เขตอนุรักษ์” “การหลบหนีคดีของผู้มีอันจะกินและผู้มีอำนาจอิทธิพลทางการเมือง” “การโกงกันแบบซึ่งหน้าเหมือนปล้นกลางแดด อย่างที่ทำกันง่ายๆ ในหลายโครงการของรัฐ” กระทั่งมาถึงคำถามเกี่ยวกับ ความแตกต่างทางชนชั้นความเป็น “พ่อค้า ข้าราชการ” ความเป็น “ปุถุชนคนหาเช้ากินค่ำ” ที่เส้นแบ่ง บางทีมองได้ในการได้รับสิทธิประโยชน์หรือการได้รับช่องทางพิเศษในสถานที่ต่างๆ ทำให้สังคมเกิดความคลางแคลงใจ และพาลไปไม่ไว้วางใจต่อการแก้ปัญหาต่างๆ ของรัฐอยู่เนืองๆ

เชื่อว่า ท่านนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ผู้บริหารสูงสุดในการบริหารราชการแผ่นดิน ได้ตระหนักถึงปัญหาเหล่านี้ และพยายาม “ลดช่องว่างแห่งความไม่เท่าเทียมหรือความไม่เป็นธรรมในสังคม ชุมชนต่างๆ” อย่างมุ่งมั่น จะเห็นได้ว่าในระยะหลังๆ นี้ การจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรไปตามภูมิภาคต่างๆ เหตุผลนอกเหนือจากการมีผลพลอยได้ในการประชาสัมพันธ์ผลการปฎิบัติงานของรัฐบาลแล้ว ยังเป็นสิ่งที่ตัวท่านนายกรัฐมนตรีเอง ต้องการไปรับทราบปัญหาข้อขัดข้องต่างๆ ด้วยตนเอง เพราะการพบปะพี่น้องประชาชนในแต่ละครั้ง มั่นใจได้ว่าด้วยความที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ที่มีความละเอียดประณีต ไม่ละเลยในเรื่องที่หลายคนอาจมองข้าม จึงมักถูกหยิบยกมาพูดถึงได้อย่างเห็นภาพที่ชัดเจนในรายการ “ศาสตร์พระราชา” และเดินหน้าประเทศไทย อยู่อย่างต่อเนื่อง

ผมเองเป็นผู้สอนในรายวิชาว่าด้วย “ความเป็นธรรมทางสังคม” ในภาคภาษาอังกฤษในกับนิสิตของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มาในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา พบว่าปัญหาสำคัญประการหนึ่ง คือ สังคมไทยอยู่ในวังวนของการเมืองที่เป็นเรื่องของการหยิบยื่นให้โดยรัฐ กระทั่งขาดการพัฒนาแบบยั่งยืน ดังพระราชดำรัสของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ที่ต้องการสอนให้คนไทยรู้จัก “การช่วยเหลือตนเอง ทำอะไรได้ด้วยตนเอง แทนการพึ่งพาหรือรอคอยการจุนเจือจากภาครัฐ กระทั่งขาดการพัฒนาตนเอง” กระทั่งแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและหลักการสำคัญต่างๆ ของ ศาสตร์พระราชา” จะเป็นสิ่งที่สามารถนำไปสู่การสร้างความเจริญและการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้

มาถึงในปัจจุบันนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวิชราลงกรณ์ บดินทรเทพยวรางกูร ล้นเกล้ารัชกาลที่ 10 ได้มีแนวพระราชดำริสำคัญที่เป็นการ “จุดประกาย” ความคิดในการให้พสกนิกรของพระองค์ ย้อนมองถึงคุณค่า “ความเป็นไทย” ซึ่งสอดคล้องกับแนวทาง “ไทยนิยม” ของรัฐบาลที่เป็นรากฐานสำคัญ ให้เกิดการตระหนักรู้ถึงรากเหง้าภูมิปัญหาและศักยภาพของความเป็นไทย การลดการพึ่งพาที่เคยทำให้เราต้องคอยการนำเข้าเทคโนโลยี กระทั่งศิลปวัฒนธรรมของต่างประเทศ แม้กระทั่งความเหลื่อมล้ำที่เกิดขึ้นในสังคมหาได้เป็นเรื่องที่เราเพิ่งคิดกัน 

แต่หากย้อนไปในอดีต ก็จะเห็นว่า พระราโชบายของพระปิยมหาราช ได้เป็นแบบอย่างในการสร้างความเป็นธรรมในทางสังคมอย่างชัดเจน จึงไม่เป็นการแปลก แต่กลับเป็นเรื่องน่ายินดีที่ผมเองได้มีโอกาสไปร่วมงานย้อนยุค “อุ่นไอรัก” ไปชมความสวยงามและคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย มาเกือบ 10 รอบแล้ว และชื่นชมในพระราชดำริของในหลวงรัชกาลปัจจุบัน ที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพในการกระตุ้นสร้างจิตสำนึกให้คนไทยรักชาติกำเนิดและความเป็นไทย ด้วยวิธีการที่สามารถนำพาผู้คนจำนวนมากให้เกิดการตื่นตัว และสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติไปได้อย่างดิยิ่ง ในขณะเดียวกัน ถือเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอันเนื่องด้วยพระบุญญาบารมีโดยแท้