คุณครูครับ คุณครูจะปรับตัวอย่างไรครับ

คุณครูครับ คุณครูจะปรับตัวอย่างไรครับ

ในภาวะของการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรง เจอกับแรงกระหน่ำของเทคโนโลยีที่สร้างความปั่นป่วนให้กับทุกวงการรวมถึงวงการศึกษานั้น

บทบาทของ “อาจารย์” หรือ “ครู”จะต้องปรับไปอย่างไร

หลายคนบอกว่าเดี๋ยวนี้นักเรียนสามารถหา “ข้อมูล” และ “ความรู้” จากแหล่งต่าง ๆ ออนไลน์ได้หมดแล้ว

คุณครูครับ คุณครูจะปรับตัวอย่างไรครับ

ทุกวันนี้เด็กไทยที่ขวนขวายจะอ่านหนังสือ และค้นหาบทเรียนได้มากกว่า เก่งกว่าครูและอาจารย์ด้วยซ้ำไป

ครูที่ไม่ปรับตัวจึงจะกลายเป็น “ไดโนเสาร์” ไปได้อย่างรวดเร็ว หากไม่ฝึกฝนตนเองในบทบาทใหม่ในฐานะ “โค้ช” (coach) หรือ “ผู้ชี้แนวและเสริมศักยภาพ”(facilitator) ของนักเรียน

วันก่อน ผมอ่านพบข้อความที่น่าสนใจมากของ ดร.ไพฑูรย์ สินลารัตน์ ประธานกรรมการคุรุสภาและรองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ที่ชี้แนะให้คนที่มีอาชีพครูจะต้องปรับตัวอย่างไรในยุคดิจิทัล

อาจารย์ไพฑูรย์เป็นครูมาตลอดชีวิต คำแนะนำของท่านจึงมีค่ายิ่ง ผมขออนุญาตนำมาเล่าต่อให้ทุกท่านได้ไตร่ตรองและนำไปปรับใช้สำหรับผู้ที่สังคมไทยเคยเรียกว่าเป็น “เรือจ้าง”

ท่านบอกว่าอาจารย์ทุกท่านลองทบทวนตนเองว่า “อาจารย์พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทางการศึกษาโลกหรือไม่ หลายคนเริ่มอยากพัฒนาตนเองด้วยการทำวิจัยทางการศึกษาพร้อมๆกับการสร้างบัณฑิตที่มีทักษะการเรียนรู้ด้วยตนเองได้ตลอดชีวิต” เพราะ...

•การวิจัยคือการแสวงหาความรู้ใหม่ (โลกมีอะไรใหม่อีกมาก)

•อยากหาอะไรใหม่ๆมาสอนเด็กบ้าง (อายเด็ก)

•เวลาคุยไม่มีอะไรใหม่ๆเลย (อายเพื่อน)

•มีแต่เรื่องเก่าเวลาเขาเชิญพูด (อายคนฟัง)

•มีอะไรแตกต่างจากฝรั่งบ้าง (อายฝรั่ง)

•อยากให้คนนึกถึงเราในเรื่องอะไร (อายวงการ)

•อยากให้ประสบความสำเร็จที่ดีทุกอย่าง (อายตัวเอง)

•อยากมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลง (อายสังคม)

•อยากฝากอะไรไว้บ้างก่อนตาย (อายท่านชายวสุวัต)

•แม้ทำไม่ได้เลยก็ไม่เป็นไร (เมื่อได้ทำแล้ว)

นวลักษณ์ของอาจารย์มหาวิทยาลัย

•การเตรียมตัว เตรียมใจ เตรียมวิญญาณ

•การค้นพบองค์ความรู้

•การพิมพ์เผยแพร่องค์ความรู้ที่พบ

•การสอน

•การให้คำปรึกษา

•ทำงานให้มหาวิทยาลัย

•ทำงานให้องค์กรภายนอก

•การบอกความจริง

•การนำการเปลี่ยนแปลง

ทักษะสู่ศตวรรษที่ 21 ของไทย 7 กลุ่มหลักที่อาจารย์ควรจัดการเรียนการสอนเพื่อพัฒนานศ. คือ

•ทักษะการคิดวิจารณญาณและการประเมิน

•ทักษะการคิดวิเคราะห์และสังเคราะห์

•ทักษะการคิดสร้างสรรค์และมีจินตนาการ

•ทักษะการผลิตและคิดนวัตกรรม

•ทักษะการเปลี่ยนแปลงและแก้ปัญหา

•ทักษะการสื่อสารและความมั่นใจในตนเอง

•ทักษะทางคุณธรรมและความรับผิดชอบ

อาจารย์ไพฑูรย์สรุปว่าหากอาจารย์ไม่พึงฝึกปฏิบัติทักษะข้างต้นก็จะทำงานในระบบมหาวิทยาลัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงได้อย่างลำบาก

ผมขอแถมว่าหากคุณครูไม่ลงมือปรับตัวให้สอดคล้องกับความคาดหวังของสังคมและให้ทันกับความเปลี่ยนแปลงอย่างดุเดือดรุนแรง จะไม่เพียงแค่ “ลำบาก” เท่านั้น แต่จะ “หมดสภาพ” จริง ๆ