จากแม่บ้านถึงบรรณาธิการ: วิกฤตสื่อหรือวิกฤตคนทำสื่อ

จากแม่บ้านถึงบรรณาธิการ: วิกฤตสื่อหรือวิกฤตคนทำสื่อ

คุณดำรง พุฒตาล ตัดสินใจเลิกนิตยสาร “คู่สร้างคู่สม” เพราะคนหันไปอ่านเนื้อหาออนไลน์ และมือถือ กลายเป็นวิกฤติของวงการหนังสือ

ตอนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์กับ “ไทยโพสต์แทบลอยด์” เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา คุณดำรงพูดไว้น่าสนใจว่า

ที่คนบอกว่าวิกฤติสื่อ มันไม่จริง สื่อมีแต่ความก้าวหน้าเพราะเทคโนโลยี แต่มันเป็นวิกฤติของคนทำสื่อ”

ถูกต้องเลยครับ

คำถามก็คือว่าคนทำสื่อไม่เห็นสัญญาณมาก่อนนี้หรือ คำตอบก็คือสัญญาณชัดเจนมาหลายปีแล้ว แต่การปรับตัวไม่ได้เกิดขึ้นเร็วพอ หรือมากพอที่จะทันกับความเร็วและแรงของเทคโนโลยี

ส่วนหนึ่งคือคนทำสื่อพยายามปรับ แต่ปรับไม่ทันและไม่เร็วพอ

อีกส่วนหนึ่งไม่ยอมปรับ พยายามปลอบใจตัวเองว่าสถานการณ์ไม่น่าจะเลวร้ายขนาดที่จะต้องตายกันเป็นแถบ

ไม่เห็นโลงศพ ไม่หลั่งน้ำตา แต่พอเห็นโลงศพเข้าจริง ก็ช้าไปเสียแล้ว เพราะต้องเผาแล้ว

ถามว่ามีคนเห็นสัญญาณและปรับตัวหรือไม่

คุณดำรงเล่าในคำสัมภาษณ์ตอนหนึ่งที่ต้องถือว่าเป็นตัวอย่างคลาสสิคมาก ๆ เพราะคนที่เห็นสัญญาณก่อนและปรับตัว “หนีตาย” ได้ก่อนคือ แม่บ้าน ที่ทำความสะอาดประจำสำนักงาน

ตอนหนึ่งของคำให้สัมภาษณ์ คุณดำรงเล่าว่า

เชื่อหรือไม่ว่าในสำนักงานของผม คนที่รู้และเตรียมตัวก่อนคนอื่นในวันที่หยุดทำคู่สร้างคู่สมคือแม่บ้านที่ทำความสะอาดออฟฟิศ เพราะที่สำนักงานพนักงานทำงานหลายอย่าง แม่บ้านพอทำความสะอาดเสร็จ เขาก็จะนั่งรับโทรศัพท์และฉีกจดหมาย เขาเห็นเลยว่าจดหมายส่งมาน้อยเพราะเขารู้ว่าผมจะต้องถามหาจดหมายเพื่อนำไปเขียน นำไปทำเป็นเรื่องระยะหลัง แม่บ้านที่เขาต้องรับโทรศัพท์สำนักงาน เขาเห็นเลยว่ามันไม่มีโทรศัพท์มา ไม่มีจดหมายมา เขารู้ตัวเลย เขาปิดบัญชีธนาคารในกรุงเทพฯ หมด เพื่อเตรียมตัวกลับอีสาน เขาเห็นก่อนเลย เห็นก่อนสตาฟคนอื่น ๆ ในสำนักงาน คือสตาฟคนอื่น ๆ ก็พอรู้ เช่นบางเรื่องที่เอามาลง ผมก็จะบอกไปว่าน่าจะหาเรื่องอื่นมาลงแทน เขาก็จะบอกว่าคุณดำรงหาเรื่องไม่ได้จริงๆ ซึ่งก็คือสัญญาณบอกว่าคนเขาไม่ส่งเรื่องมาร่วมลงในนิตยสารกับเรา”

แม่บ้านคนนี้สัมผัสได้ถึงความปรวนแปรในกองบรรณาธิการ และตัดสินใจปรับตัวอย่างทันท่วงที

ทำไมคนทำสื่อเองแท้ ๆ ที่อยู่ใกล้ข้อมูลและนัยว่ามีความฉลาดเฉลียวกว่าคนหลายอาชีพจึงปรับตัวไม่ได้

นั่นเป็นอีกคำถามหนึ่งที่วงการสื่อคงจะต้องวิเคราะห์เพื่อหาคำตอบสำหรับตัวเอง และเพื่อนร่วมวงการอย่างพิถีพิถันกัน

จากแม่บ้านถึงบรรณาธิการ: วิกฤตสื่อหรือวิกฤตคนทำสื่อ

อีกด้านหนึ่งของวงการเดียวกัน คุณวิศรุต ส่งเสริมสวัสดิ์ ทายาทรุ่นที่ 3 ของนิตยสาร “กุลสตรี” ก็ประกาศยืนหยัดผลิตเนื้อหาต่อไป แม้ว่านิตยสารผู้หญิงไม่ว่าจะเป็น “ขวัญเรือน” หรือ “หญิงไทย” หรือ “ดิฉัน” จะเพิ่งประกาศอำลาแผงไป

เว็บไซต์ “สำนักข่าวอิสรา” อ้างคำยืนยันของคุณวิศรุตว่า

“แม้นิตยสารจะปิดตัวไป แต่คนทำหนังสือยังผลิตคอนเทนท์ลงสื่อต่าง ๆ อยู่ ผมเชื่อว่าคอนเทนท์ไม่มีวันตาย แต่ขึ้นอยู่กับว่าจะออกมาในรูปแบบไหนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเล่มหรือออนไลน์ ทุกอย่างทำได้หมด”

ปีนี้นิตยสาร “กุลสตรี” ก้าวเข้าสู่ 47 ปี คุณวิศรุตบอกว่าไม่อยากให้ปิดตัว อันหมายถึงแรงกดดันไม่น้อย เพราะสื่อสิ่งพิมพ์ต้องเผชิญกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค

แต่เขาจะแปรความกดดันนั้นมาเป็นแรงผลักดันพัฒนาเนื้อหาเพื่อให้อยู่รอดต่อไปได้

“เราต้องคิดให้เยอะขึ้น พยายามแตกแขนงช่องทางการนำเสนอเนื้อหา เพราะเราเป็นสื่อ ฉะนั้นคงทำเพียงแค่นิตยสารเล่มเดียวไม่ได้ แต่ต้องทำอย่างไรให้มีรายได้เข้ามา เพื่อความอยู่รอด”

ที่น่าสนใจคือคุณวิศรุตวางเป้าหมายไว้ว่า ปี 2561 “กุลสตรี” จะไม่ได้เป็นแค่นิตยสาร แต่จะพัฒนาต่อยอดให้เป็นแบรนด์อันดับ 1 เพื่อผู้หญิง เหมือนดังชื่อ “กุลสตรี” โดยจะประสานความร่วมมือกับองค์กรสตรีต่าง ๆ ที่มีโครงการช่วยเหลือผู้หญิง เพราะอนาคตจะทำงานคนเดียวไม่ได้ ดังนั้นจำเป็นต้องหาพันธมิตร ที่สนใจผลิตเนื้อหา และสร้างสรรค์กิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน

ทั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ การสร้างแรงกระตุ้นเพื่อผู้หญิง ซึ่งเป็นวัตถุประสงค์ชัดเจนตั้งแต่ก่อตั้ง “กุลสตรี” อย่างไรก็ตาม จะไม่ทิ้งเนื้อหาเดิม ไม่ว่าจะเป็น งานฝีมือ แฟชั่น หรือนวนิยาย เพียงแต่ปรับรูปแบบการจัดหน้าให้ทันสมัย เสมือนการแต่งตัวให้ใหม่

ในภาวะที่วงการสื่อกำลังถูก “สึนามิ” อย่างหนักหน่วงเช่นนี้ คนที่มีความกล้า, ความอึด, ความพร้อมจะฉีกตัวออกจาก comfort zone เท่านั้นที่จะอยู่รอดครับ

ขอให้กำลังใจกับคนทำสื่อทุกคนตั้งแต่แม่บ้านถึงบรรณาธิการครับ!