4.0 เวอร์ชั่นเวียดนาม: โอกาสและความท้าทาย

4.0 เวอร์ชั่นเวียดนาม: โอกาสและความท้าทาย

ช่วงสองปีมานี้ หลายประเทศในอาเซียนได้ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจและสังคมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

สร้างโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ ที่เรียกกันว่า start-up นอกจากนั้นยังนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายในชีวิตประจำวัน เรียกว่าต่างพากันเข้าสู่ยุคดิจิทัลไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ที่ดำเนินนโยบาย Smart City ส่วนไทยเองก็กำลังผลักดันนโยบายประเทศไทย 4.0 ซึ่งได้ยินผ่านหูอยู่แล้วแทบจะทุกวัน

เวียดนามก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ร่วมขบวนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้นโยบาย อุตสาหกรรม 4.0” (Industry 4.0) หรือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 เช่นกัน รัฐบาลเวียดนามผลักดันให้อุตสาหกรรมและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) หันมาปรับระบบการผลิตด้วยการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและสนับสนุนการลงทุนทางด้านโครงสร้างดิจิทัล

เดิมทีเวียดนาม มีแผนแม่บทว่าด้วยยุทธศาสตร์และการพัฒนาอุตสาหกรรมเพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์ปี 2573 โดยเน้นการพัฒนาภาคอุตสาหกรรมหลัก 3 สาขา ได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์และโทรคมนาคม อุตสาหกรรมการผลิตต่างๆ และอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ๆ แต่เมื่อบริบทของเศรษฐกิจในโลกยุคปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่การใช้เทคโนโลยีและอินเทอร์เน็ตมาสนับสนุนการสร้างอุตสาหกรรมสมัยใหม่หรือ “อุตสาหกรรม 4.0” ทำให้ต้องเร่งก้าวข้ามการผลิตแบบใช้แรงงานเข้มข้นมาใช้ระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้น ยิ่งต้องพยายามขยับขึ้นไปเป็นอุตสาหกรรมอัจฉริยะใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการผลิต เช่น การพิมพ์ 3 มิติ การวิเคราะห์ Big data การใช้ Cloud เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เฉพาะเจาะจง

 เพื่อปรับตัวสู่การพัฒนาอุตสาหกรรม 4.0 รัฐบาลเวียดนามได้ออกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 16/CT-TTG เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2560 ที่กำหนดให้หน่วยงานทั้งในส่วนกลางและภูมิภาคทั่วประเทศหามาตรการเตรียมความพร้อมทั้งด้านทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น

 นโยบายดังกล่าววางบทบาทให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นศูนย์กลางในการทำแผน และกำหนดให้จังหวัดบั๊กนินห์ (Bac Ninh) ซึ่งตั้งอยู่ทางตอนเหนือเป็นจังหวัดนำร่องในการพัฒนา “โมเดลเมืองอัจฉริยะ” ที่เน้นด้านเกษตรกรรมไฮเทค ประยุกต์ใช้โทรศัพท์มือถือมาควบคุมพื้นที่เกษตร ส่วนจังหวัดฮานาม (Ha Nam) เป็นพื้นที่นำร่องเกษตรกรรมไฮเทคที่ปลูกพืชให้ผลผลิตสูง

  นอกจากนั้นรัฐบาลเวียดนามได้วางหลักการเพื่อนโยบายอุตสาหกรรม 4.0 ได้แก่

(1) พัฒนาโครงการพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบดิจิทัล การพัฒนาแอพพลิเคชั่นและทรัพยากรมนุษย์ รวมถึงการสร้างความปลอดภัยของระบบเครือข่าย

(2) ส่งเสริมมาตรการในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ พัฒนาธุรกิจและเทคโนโลยีใหม่ๆ

(3) เสนอแผนงานพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีดิจิทัล เกษตรอัจฉริยะ การท่องเที่ยวและเมืองอัจฉริยะ

(4) ส่งเสริมสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจ start-up โดยวางนโยบายและกลไกที่เหมาะสมเพื่ออำนวยความสะดวกและสนับสนุนธุรกิจที่ลงทุนด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(5) ปฏิรูปการศึกษาและการฝึกอบรมเพื่อสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่สามารถใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ๆ

(6) เสริมสร้างความตระหนักในบรรดาหน่วยงานของรัฐ ธุรกิจและบุคลากร 

ถ้าพิจารณาในแง่สมรรถนะด้านนวัตกรรมของเวียดนามจากผลสำรวจการจัดอันดับนวัตกรรมของ 127 ประเทศ (Global Innovation Index 2017) เวียดนามกำลังก้าวหน้าในด้านนวัตกรรมอย่างรวดเร็ว โดยขยับขึ้นมาจากอันดับที่ 59 เมื่อปีก่อน มาอยู่ในอันดับที่ 47 ในปี 2560 ไต่ระดับสูงขึ้นมากถึง 12 อันดับในช่วงเพียงแค่ 1 ปีเท่านั้น โดยส่วนหนึ่งก็เป็นผลมาจากการลงทุนของบริษัทด้านเทคโนโลยีระดับสูงจากต่างประเทศ เช่น Samsung Sony Intel IBM เป็นต้น

รัฐบาลเวียดนามหวังว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบดิจิทัลและซอฟต์แวร์ต่างๆ จะเปลี่ยนแปลงภาคการผลิตของเวียดนามให้มาใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้มข้นขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับขีดความสามารถของธุรกิจประเภท SME รวมถึงการสนับสนุนธุรกิจ start-up ต่างๆ

อย่างไรก็ตาม ข้อท้าทายสำคัญก็คือ ผู้ประกอบการชาวเวียดนามเองยังคงมีความกังวลและยังไม่เข้าใจนักว่าจะสามารถปรับประยุกต์เทคโนโลยีดิจิทัลให้ไปกันได้กับธุรกิจของตนเองอย่างไร เนื่องจากธุรกิจ SME ราวร้อยละ 95 เป็นธุรกิจส่งออกสินค้าเกษตรและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งใช้แรงงานทักษะต่ำหรือใช้เทคโนโลยีที่ไม่สูงมากนักในกระบวนการผลิต

ดังนั้นภาระเร่งด่วนอีกอย่างหนึ่งของรัฐบาลเวียดนาม ก็คือการเร่งสร้างความเข้าใจ ให้การสนับสนุน ตลอดจนสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม ให้ผู้ประกอบการในประเทศโดยเฉพาะ SME และธุรกิจ start-up เข้ามามีส่วนร่วมคิด ร่วมกำหนด และร่วมดำเนินงานเพื่อทำให้อุตสาหกรรม 4.0 ประสบความสำเร็จ

 โดย...

สรพงษ์ ลัดสวน

ผู้ช่วยผู้ประสานงานโครงการ “จับตาอาเซียน” (ASEAN Watch) ฝ่าย 1 สกว.