“4+6”คำถาม ที่(ไม่)ต้องการคำตอบ

“4+6”คำถาม ที่(ไม่)ต้องการคำตอบ

000 เริ่มต้นไปแล้วเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สำหรับการเปิดให้ประชาชนทั่วประเทศตอบ“6คำถามอนาคตประเทศ”ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ผ่านสำนักงานเขตและศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ  โดยรูปแบบในครั้งนี้ยังคงใช้วิธีการเช่นเดียวกันกับ “4คำถามอนาคตเลือกตั้ง ที่นายกฯได้ถามประชาชนไปเมื่อเดือนพ.ค.ที่ผ่านมา

000 ในส่วนของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ออกมาระบุว่า จะเปิดรับความคิดเห็นไปเรื่อยๆ ไม่มีกำหนดสิ้นสุดพร้อมตอบโต้ สมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ว่า 6 คำถามที่ถามประชาชนไม่มีเนื้อหาที่ชี้นำประชาชนอย่างแน่นอน

000 แต่ทว่าหลังจากเปิดรับฟังความเห็นไปได้เพียง 2 วันกลับมีการออกมาเปิดประเด็นการ เกณฑ์คน” ไปร่วมตอบคำถาม โดยเฉพาะในส่วนของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ออกมาท้วงติงว่า รูปแบบการตั้งคำถามที่มีกลไกรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องจะไม่สามารถวัดความคิดเห็นที่ถูกต้องได้ อีกทั้งยังได้รับแจ้งจากผู้นำชุมชนและแวดวงราชการว่า มีการสื่อสารทางไลน์ให้จัดคนไปตอบคำถาม

000 ร้อนถึงเจ้ากระทรวงอย่างพล.อ.อนุพงษ์ รวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ทั้งในส่วนของรัฐบาลและกระทรวงต้องมาชี้แจงกันเป็นพัลวันว่า ไม่มีการสั่งการ ใครทำถือว่ามีความผิด ไม่มีนโยบายให้เกณฑ์คน ได้ฟังคำยืนยันจากมท.1แล้วหลังจากนี้คงต้องขึ้นอยู่ที่ประชาชนจะเป็นผู้พิจารณา

000 เท่ากับว่าจนถึงขณะนี้เรามี 10 คำถามคือ 4 คำถามก่อนหน้านี้ ซึ่งขณะนี้ได้มีการสรุปผลและรายงานให้นายกฯรับทราบ แต่ยังไม่มีความชัดเจนว่าดำเนินการอย่างไรต่อไป รวมกับ6คำถามที่อยู่ระหว่างการรับฟังความเห็นในขณะนี้ ซึ่งต้องยอมรับว่าการตั้งคำถามทั้ง 2 ครั้งเกิดขึ้นท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ว่าเป็นการ หยั่งเสียง และ เช็คเรทติ้ง ของรัฐบาลและคสช.เอง

000 การตั้งคำถามทั้ง 2 ครั้งที่ผ่านมา มีจึงมีคำถามตามมาว่า เป็น “คำถามที่ต้องการคำตอบ” จากประชาชนอย่างแท้จริงหรือเพียงเพื่อเช็คเรทติ้งเพื่อวัดคะแนนความนิยม เพราะหากเป็นอย่างหลังก็จะกลายเป็นเพียงแต่ คำถามที่ไม่ต้องการคำตอบเท่านั้น!!

 โดย... ดารากร