ไอเดียดีๆ ไม่ได้มีแค่ที่ “ซิลิคอนวัลเลย์”

ไอเดียดีๆ ไม่ได้มีแค่ที่ “ซิลิคอนวัลเลย์”

สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน ดิฉันจั่วหัวไว้แบบนี้เพราะอยากพาทุกท่านมารู้จักกับกิจการเพื่อสังคมรายหนึ่ง

ที่ไอเดียของเธอนั้นเรียบง่าย (จนหลายคนอาจมองข้าม) แต่กลายเป็นอีกหนึ่งนวัตกรรมล้ำค่า ที่สามารถช่วยผู้หญิงหลายล้านคนทั่วโลกได้ค่ะ

ผู้ประกอบการรายนี้คือ “อลิซาเบธ ชาร์ฟ” ชาวอเมริกัน ผู้ก่อตั้งกิจการเพื่อสังคมที่มีชื่อว่า Sustainable Health Enterprises หรือ SHE อดีตนักศึกษา MBA จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด เธอกำลังแก้ปัญหาสำคัญของโลกปัญหาหนึ่ง นั่นคือการที่เด็กผู้หญิงและผู้หญิงต้องประสบกับปัญหา"ขาดแคลนผ้าอนามัย" ค่ะ

ทำไมเธอถึงเห็นว่าปัญหานี้สำคัญน่ะหรือคะ เมื่อสมัยที่เธอยังศึกษาอยู่ที่ฮาร์วาร์ด เธอมีโอกาสไปร่วมงานกับธนาคารโลกและต้องเดินทางไปประเทศโมซัมบิก และได้พบกับ “สาวโรงงาน” มากมายที่นั่น เจ้าของโรงงานรายหนึ่งบอกเธอว่าในแต่ละปีมีลูกจ้างหญิงประมาณ 20% ที่ต้องขาดงานปีละประมาณ 30 วันเนื่องจากมี “ประจำเดือน” เหตุผลคือพวกเธอไม่มีเงินมากพอที่จะซื้อผ้าอนามัย เพราะผ้าอนามัยในแอฟริกามีราคาสูงกว่าค่าแรงรายวันเสียอีกค่ะ

และเมื่อศึกษาให้ลึกซึ้งลงไปอีก อลิซาเบธก็ได้รู้ว่าผู้หญิงหลายล้านคนทั่วโลกต้องเผชิญกับปัญหานี้แต่มักอายและไม่กล้าพูดออกมา เธอจึงนำความรู้และประสบการณ์การทำงานในธุรกิจไบโอเทคและเวชภัณฑ์ก่อตั้ง SHE ขึ้นและได้ร่วมทำงานกับเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจและทางสังคมหลายรายทั่วโลก

หลังจากก่อตั้งในปี 2008 หรือเมื่อราว 10 ปีที่แล้ว ทีมงาน SHE ได้ลงพื้นที่ไปแก้ปัญหาที่ประเทศรวันดา ซึ่งหากรวมตัวเลขภาพรวมโดยเฉลี่ย จะพบว่ามีผู้หญิงชาวรวันดาถึง 2.8 ล้านคนที่มีประจำเดือน ที่ต้องสูญเสียรายได้ขณะที่มีประจำเดือนราว 215 ดอลลาร์ต่อปี และมีเด็กผู้หญิงอีกราว 18% ที่ต้องขาดเรียนเพราะไม่มีผ้าอนามัย ซึ่งทั้งหมดนี้คิดเป็นมูลค่าความเสียหายต่อจีดีพีประมาณ 115 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4 พันล้านบาทต่อปีเลยทีเดียว

แคมเปญแรกที่ออกมาคือ “SHE28”โดยเธอกำลังดำเนินการอย่างเต็มที่เพื่อลบล้างความคิดที่ว่าการ “บริจาค” ผ้าอนามัยจะเป็นหาทางแก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน

“จริงๆ แล้วฉันไม่ใช่คนที่อินหรือศึกษาเรื่องประจำเดือนมากนัก และมักจะลืมไปด้วยซ้ำว่ามีประจำเดือน” เธอเขียนแบ่งปันประสบการณ์ไว้ในบล็อกของ Harvard Business School โดยสิ่งที่ทำให้

เธอฉุกคิดคือ ประจำเดือนดูเหมือนเป็นเรื่องต้องห้ามที่ถูกละเลยและมองข้ามไป ทั้งๆ ที่การไม่มีผ้าอนามัยอย่างเพียงพอนั้นส่งผลต่อผู้หญิงและทำให้พวกเธอดูแลสุขอนามัยให้ตัวเองได้ไม่ดีนัก บางครั้งอาจทำให้ผู้หญิงหลายคนรู้สึกด้อยค่าในศักดิ์ศรีของตัวเอง ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ทำให้เธอรับไม่ได้ เธอจึงเดินทางไปรวันดาเพื่อไปศึกษาหาวัสดุที่สามารถนำมาทำผ้าอนามัยได้ หลายคนมองว่าอุดมการณ์ของเธอฟังดู “หน่อมแน้ม” เกินไป แต่เธอกลับมองว่ามันคือความเร่งด่วน ซึ่งทำให้ต้องมีผู้ประกอบการอย่างเธอเข้ามาจัดการ

เธอเล็งเห็นว่าหากจะผลิตผ้าอนามัยที่คนแอฟริกันมีกำลังซื้อได้ จำเป็นต้องใช้วัสดุท้องถิ่น เพราะการนำเข้าและขนส่งนั้นมีต้นทุนมหาศาล หลังจากเฟ้นหาวัสดุเธอก็ได้พบว่า ใยกล้วย” นั้นเป็นวัสดุที่ซึมซับได้ดีเยี่ยม และที่ดียิ่งไปกว่านั้นคือ มีต้นกล้วยมากมายมหาศาลในรวันดา

หลังจากได้รับเงินสนับสนุนจากฮาร์วาร์ด อีกทั้งการร่วมมือกันของทั้งนักศึกษาและอาจารย์ เธอก็สามารถจดลิขสิทธิ์ของผ้าอนามัยที่ทำจากใยกล้วย โดยปัจจุบัน SHE ได้ผลิตผ้าอนามัยกว่า 2 แสนชิ้น ให้แก่สตรีชาวรวันดาแล้วกว่า 10,000 คนโดยจำหน่ายในราคาแพ็คละเพียง 70 เซนต์ ธุรกิจของเธอยังสามารถจ้างงานคนท้องถิ่นได้ถึง 28 ตำแหน่ง และช่วยเกษตรกรผู้ปลูกกล้วยกว่า 600 รายทั่วรวันดาอีกด้วย 

กว่าจะมาถึงวันนี้เธอเคยถูกนักลงทุนและบริษัทต่างๆ ทักท้วงจำนวนมาก แต่เธอก็ยังสามารถให้ความมั่นใจแก่หน่วยงานที่สนับสนุนและมีวันนี้ได้ในที่สุดเธอมั่นใจว่านวัตกรรมนี้สามารถนำไปต่อยอดได้ทั่วโลก จนปัจจุบันเริ่มมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาให้การสนับสนุนด้านนวัตกรรมแล้ว อาทิ Johnson & Johnson ที่เชื่อว่าโมเดลธุรกิจของเธอสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่อื่นๆ ช่วยให้เกิดการจ้างงานและสร้างงานแก่เกษตรกร และเชื่อว่าเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพและจะเป็นก้าวสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้หญิงอีกหลายล้านคนทั่วโลก โดยเป้าหมายต่อไปคือการขยายไปที่ประเทศจีนและอินเดีย รวมถึงประเทศเกิดใหม่อื่นๆ ในอีก 3 ปีต่อจากนี้

เธอกล่าวไว้ว่านวัตกรรมไม่จำเป็นต้องอยู่แค่ที่ซิลิคอนวัลเลย์เท่านั้นแต่ยังมีโอกาสทางธุรกิจอีกมากที่อาจอยู่ใกล้ตัวจนคนส่วนใหญ่ยังคิดไม่ถึงในอนาคตเธอจะต่อยอดนวัตกรรมด้วยการคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการอื่นๆ (ซึ่งเป็นเรื่องที่คนมักมองข้าม) หมดเวลาที่จะทำธุรกิจด้วยผลิตภัณฑ์และบริการแบบเดิมๆ แล้วค่ะ