ก้าวก่าย หรือไม่ เรื่องน่าคิดระหว่างหลักสูตร-สภาวิชาชีพ***

ก้าวก่าย หรือไม่ เรื่องน่าคิดระหว่างหลักสูตร-สภาวิชาชีพ***

ที่ประชุม กมธ. สาธารณสุขวันนี้มีเรื่องใหญ่ที่เป็นที่คับข้องใจของสภาวิชาชีพในทุกสาขา มีผู้ชี้แจงมามาร่วมแสดงความคับข้องใจมากมาย

อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ที่ปกติจะมีเฉพาะวิชาชีพด้านสาธารณสุข เท่าที่จำได้ ผู้ชี้แจงที่มามีตั้งแต่อนุกรรมาธิการเฉพาะกิจเพื่อพิจารณาร่าง พรบ.อุดมศึกษา ที่กำลังร่างสำหรับการจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษาในคณะกรรมการปฏิรูปอุดมศึกษา แพทยสภา ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภาการพยาบาล (และในฐานะนายกสมาพันธ์สภาวิชาชีพ) สภาวิชาชีพสาธารณสุขด้านอื่นๆอีกสองสามด้าน สภาทนายความ สภาวิศวกรรม สภาวิชาชีพบัญชี

ด้วยความขมขื่นว่า ร่าง พรบ.อุดมศึกษา ที่จะมาพร้อมกับการตั้งกระทรวงอุดมศึกษานั้นมองภาพการมีส่วนร่วมของสภาวิชาชีพในการกำหนดคุณภาพของหลักสูตรว่าเป็นการก้าวก่าย ทั้งๆที่เป็นเรื่องจำเป็นที่สภาวิชาชีพต้องเข้าไปช่วยเพื่อให้หลักสูตรการศึกษามีคุณภาพ และถ้าสภาวิชาชีพไม่มีส่วนในการกลั่นกรองหลักสูตรที่เกี่ยวกับวิชาชีพ เราก็อาจผลิตบุคลากรที่ไม่มีคุณภาพ ทำงานไม่เป็น ไม่สามารถสอบผ่านรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ และไม่มีความสามารถในการแข่งขันอย่างพอเพียง ซึ่งถือเป็นความสูญเสียที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น

ผู้ชี้แจงจากคณะอนุกรรมาธิการ ร่าง พรบ.อุดมศึกษา ชี้แจงว่า เป็นเพียงขั้นเริ่มต้น เป็นการรวบรวมแนวคิดที่จะปรับปรุงระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาของประเทศ และเรื่องนี้ยังต้องผ่านกระบวนการหลายขั้นตอน วันนี้จึงถือว่ามารับฟังความเห็นของสภาวิชาชีพทั้งหลาย

ผู้แทนสภาวิชาชีพมีความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า กฎหมายฉบับนี้จะดึงมาตรฐานของผู้ประกอบวิชาชีพต่ำลง เพราะแต่ละสภาวิชาชีพมีมาตรฐานสูง เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ที่สอบผ่านและขึ้นทะเบียนของแต่ละสาขาวิชาชีพจะเป็นผู้ที่มีความสามารถทำงานได้จริงบนมาตรฐานของสภาวิชาชีพ แต่ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยที่ไม่ผ่านสภาวิชาชีพ ไม่แน่ใจว่าจะปฏิบัติงานวิชาชีพได้แค่ไหน เพราะเกือบทั้งหมดเรียนจบแล้วก็ยังทำงานไม่ได้ และถ้ากฎหมายฉบับนี้ออกมามีผลบังคับเหนือสภาวิชาชีพ ผู้ที่ไม่สอบผ่านจะได้รับการยอมรับจากประชาชนแค่ไหน

ถ้าจะพูดกันอย่างตรงไปตรงมาก็คือ เหล่าสภาวิชาชีพทั้งหลายไม่มีความเชื่อมั่นในระบบอุดมศึกษาของประเทศว่าจะผลิตคนมีความรู้ความสามารถปฏิบัติงานได้ทันทีที่จบ หลักฐานก็คือในการสอบขอรับใบอนุญาตจากแต่ละสภาวิชาชีพนั้น มีผู้ไม่ผ่านจำนวนมาก ถ้าไม่มีสภาวิชาชีพกลั่นกรองจะเลวร้ายมากกว่านี้

โดยสรุปก็คือ สภาวิชาชีพควรมีบทบาทหน้าที่ในหลักสูตรระดับอุดมศึกษาต่อไป ไม่ควรมีกฎหมายอุดมศึกษามาบังคับให้สภาวิชาชีพต้องปฏิบัติตามคำสั่งของกระทรวงอุดมศึกษา ในขณะที่ผู้ชี้แจงจากคณะอนุกรรมาธิการร่าง พรบ.อุดมศึกษา ย้ำว่าเป็นเพียงร่างแรกๆ ซึ่งทางกระทรวงศึกษาต้องไปพิจารณาข้อโต้แย้งที่สภาวิชาชีพไม่เห็นด้วย

เรื่องนี้ ได้แสดงความเห็นในที่ประชุมว่า การที่กระทรวงศึกษาได้เสนอร่างผ่านคณะกรรมการปฏิรูปควรจะมีการพิจารณาทั้งด้านกระทรวงศึกษา (ซึ่งต่อไปจะเป็นกระทรวงอุดมศึกษา) และด้านสภาวิชาชีพทั้งหลายว่าจะร่วมกันพัฒนาความรู้ความสามารถของผู้จบการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถในการแข่งขันได้อย่างไร

เหตุผลที่หนึ่ง...ประเทศกำลังพัฒนาทางด้านเทคโนโลยีให้เป็นประเทศไทย 4.0 จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงระบบการศึกษาเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้สูงขึ้น

เหตุผลที่สอง...ประเทศเรากำลังเปิดให้คนจากประเทศอื่นเข้ามาทำงานได้ในหลายวิชาชีพ ไม่ว่าแพทย์ พยาบาล วิศวกรรม สถาปนิก และแม้กระทั่งกฎหมายเราจำเป็นต้องยกระดับคนของเรา เพราะไม่เช่นนั้นคนต่างชาติก็จะเข้ามาทำงานมากขึ้น ประเทศในกลุ่ม ASEAN เองนั้นมีบุคคลากรที่มีความสามารถสูงกว่าเราหลายประเทศ ถ้าพวกเขาเข้ามาเพราะเราเปิดประเทศตามกฎกติกา แต่คนของเราไม่มีขีดความสามารถที่จะไปแข่งทำงานที่ประเทศเขา อย่างนี้เราจะเสียเปรียบ

เหตุผลที่สาม...เรากำลังเปิดพื้นที่พิเศษเป็นเขตระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่เรียกว่า EEC เราออกกฎหมายให้สถาบันการศึกษาจากต่างประเทศเข้ามาดำเนินการผลิตคนรุ่นใหม่ทำงานค้นคว้าวิจัยกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ถ้าหากรัฐบาลไม่ปรับปรุงสถาบันอุดมศึกษาของไทยให้แข่งขันกับเขาได้ ก็จะลำบาก ตอนนี้บางมหาวิทยาลัยไทยได้เริ่มจับมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศแล้ว เช่น สถาบันพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ร่วมกับมหาวิทยาลัยคาเนกี้ เมล่อนจากสหรัฐจัดตั้งสถาบันการศึกษาเพื่อการวิจัย จึงเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยไทยต้องปรับตัว

เหตุผลที่สี่...มหาวิทยาลัยไทยเกือบทั้งหมดยังถูกจัดอันดับอยู่ในลำดับหลังมหาวิทยาลัยเพื่อนบ้าน ยังไม่ปรากฏว่ามหาวิทยาลัยไทยอยู่ในระดับ 200 มหาวิทยาลัยแรกของโลก เราจึงจำเป็นต้องเร่งปรับปรุง

มหาวิทยาลัยไทยที่มีคุณภาพ มีการผลิตงานวิจัยใหม่ๆมีอยู่จำนวนหนึ่ง มหาวิทยาลัยเหล่านี้ กระทรวงไม่ควรไปควบคุมดูแลทั้งหมด เพราะพวกเขามีการแข่งขันทั้งกับตัวเองและกับมหาวิทยาลัยอื่นๆอยู่แล้ว แต่อาจมีบางมหาวิทยาลัยที่ยังไม่มีคุณภาพ เป็นเหมือนมหาวิทยาลัยห้องแถว ประเภทจ่ายครบจบแน่ จบแล้วทำงานไม่เป็น พวกนี้กระทรวงต้องเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด

ได้เสนอว่าจากมหาวิทยาลัยกว่า 200 แห่งของประเทศไทย ถ้าจัดระดับเป็นเช่น Tier I, Tier II, Tier III, Tier IV โดยเรียงลำดับจากกลุ่มดีมาก ดี ทั่วไป/ปานกลาง และปรับปรุง อย่างนี้จะทำให้มหาวิทยาลัยที่อยู่ Tier I มีอิสระในการจัดการเรียนการสอนทำวิจัยเพิ่มขึ้น กระทรวงไม่ต้องดูแล แต่ Tier II อาจต้องดูแลบ้าง กลุ่ม Tier III ต้องมีการควบคุมมาตรฐาน และกลุ่ม Tier IV เป็นกลุ่มที่ต้องควบคุมดูแลเคร่งครัด

การควบคุมมาตรฐานอาจทำเป็นสองระดับ ขั้นแรก ระดับมหาวิทยาลัยอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงอุดมศึกษาเพื่อให้อยู่ไม่ต่ำกว่ามาตรฐาน และเมื่อจบระดับมหาวิทยาลัยแล้ว ต้องผ่านสภาวิชาชีพ ซึ่งเป็นระดับขั้นสอง เพื่อให้เป็นที่ยอมรับว่าจะปฏิบัติงานได้จริง

โดยสรุปก็คือ สภาวิชาชีพต้องมีความเป็นอิสระ เป็นความจำเป็นที่จะต้องมีอำนาจให้คุณให้โทษสมาชิกได้ เพื่อให้ทุกคนอยู่ในมาตรฐานของวิชาชีพกระทรวงอุดมศึกษาไม่ควรเข้ามาควบคุมการทำงานของสภาวิชาชีพ แต่ควรยกระดับผู้จบการศึกษาให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้นเป็นหลัก

สภาวิชาชีพมีความสำคัญ ไม่เฉพาะเรื่องของการออกใบอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพเท่านั้น แต่รวมถึงการดูแลตรวจสอบจริยธรรมจรรยาบรรณของสมาชิกให้อยู่ในระดับที่เป็นที่ยอมรับ เพราะวิชาชีพไม่ได้มีเฉพาะในประเทศไทย แต่ทุกประเทศจะมีสภาวิชาชีพที่พยายามยกระดับคนในวิชาชีพของเขาตลอดเวลา เราต้องแข่งขันกับเขาได้ ซึ่งสภาวิชาชีพสามารถเป็นกลไกสำคัญผลักดันเรื่องนี้ได้โดยตรง

 

///

*** ชื่อเต็มเรื่อง: ก้าวก่าย หรือไม่ก้าวก่าย เรื่องน่าคิดระหว่างหลักสูตรกับสภาวิชาชีพ