“ความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กร”

“ความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กร”

เคยฉงนใจหรือไม่ว่าทำไมการทำผิดกฎหมาย ไม่ว่าจะเป็นการฉ้อโกง การตบแต่งตัวเลขทางบัญชี การทุจริตคอร์รัปชัน จึงเกิดให้เห็นบ่อยในบริษัท

ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ควรต้องมีระบบการควบคุมภายในและการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทำให้การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายได้กลายเป็นความเสี่ยงสำคัญของบางบริษัท 

เรื่องนี้ ในหลายกรณี เมื่อเกิดขึ้นมักเป็นความผิดแบบตั้งใจของผู้ที่รับผิดชอบหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง คือ ทำผิดแม้รู้ว่าผิด เป็นเรื่องพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้ระบบตรวจสอบหรือระบบการควบคุมภายในที่บริษัทได้วางไว้ไม่สามารถยับยั้งหรือควบคุมได้ เพราะคนพร้อมหรือกล้าที่จะทำผิด 

คำถามก็คือ แล้วคนแบบนี้อยู่ในองค์กรได้อย่างไรตั้งแต่ต้น และทำไมองค์กรไม่มีวัฒนธรรมที่จะหล่อหลอมป้องกันคนในองค์กรไม่ให้ทำผิดกฎหมาย หรือเอาคนที่กล้าทำผิดกฎหมายให้ออกจากบริษัทไป เพราะถ้าคนกล้าที่จะทำผิด ระบบควบคุมต่างๆ ก็จะทัดทานได้ยาก 

ในเรื่องนี้ จากเรื่องที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกรณีของบริษัท โฟล์คสวาเกน เมื่อ 3 ปีก่อนที่มีการโกงการวัดควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ หรือกรณีของธนาคารเวลล์ฟาร์โก้ ที่สหรัฐ เมื่อ 2 ปีก่อน ที่พนักงานกว่า 4,000 คน ถูกให้ออกจากงาน เพราะเปิดบัญชีใหม่ให้กับลูกค้า โดยที่ลูกค้าธนาคารไม่ทราบเรื่อง เพียงเพราะพนักงานต้องการทำเป้าการขาย 

ทั้ง 2 กรณีชี้ถึงความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรคือ ถ้าวัฒนธรรมองค์กรอ่อนแอ ระบบควบคุมภายในหรือระบบป้องกันต่างๆ อย่างเดียวก็จะไม่สามารถหยุดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพนักงานหรือผู้บริหารได้ จึงสำคัญที่บริษัทต้องปลูกฝังหรือขับเคลื่อนวัฒนธรรมองค์กรด้านจริยธรรมที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้น เพื่อช่วยบริษัทให้สามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจได้พร้อมกับการทำธุรกิจอย่างถูกต้องตามกฎหมายและมีจริยธรรม เพราะถ้าการทำผิดกฎหมายเกิดขึ้น ความไว้วางใจหรือ Trust ที่ลูกค้าและผู้ที่เกี่ยวข้องมีต่อบริษัทก็จะหายไป นำมาสู่การสูญเสียความน่าเชื่อถือในตัวบริษัท ในตัวผู้บริหารและในธุรกิจของบริษัท

ในสหรัฐ มีการอ้างถึงผลสำรวจความคิดเห็นเรื่องนี้ในงานสัมมนาปีนี้ จัดโดยสมาคมกรรมการบริษัทแห่งชาติของสหรัฐ (National Association of Company Directors) ที่ชี้ว่าประมาณ 47% ของประชาชนทั่วไปไม่ไว้วางใจองค์กรต่างๆ ในการทำหน้าที่ ทั้งในภาครัฐและเอกชน ขณะที่อีก 52% ให้ความไว้วางใจ และอ้างถึงตัวเลขสำรวจความน่าเชื่อถือ (creditability) ของผู้นำองค์กรหรือซีอีโอที่ลดต่ำลงเหลือ 37% เป็นตัวเลขที่ต่ำอย่างไม่เคยมีมาก่อน 

ตัวเลขเหล่านี้ชี้ว่า ความไว้วางใจหรือ Trust ในโลกธุรกิจปัจจุบันกำลังลดลง จำนวนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ขาดความไว้วางใจต่อธุรกิจและการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้นๆ เป็นปัญหาที่กระทบภาพลักษณ์ของภาคธุรกิจ เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไข และการแก้ไขก็ต้องเริ่มที่บริษัท ซึ่งเรื่องหนึ่งที่สามารถทำได้ก็คือคณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารระดับสูงต้องให้ความสำคัญเรื่องวัฒนธรรมองค์กร เพราะวัฒนธรรมองค์กรสามารถเป็นกลไกที่หล่อหลอมพฤติกรรมของคนในองค์กรให้ทำในเรื่องที่ถูกต้องเพื่อป้องกันการเกิดปัญหา ถ้าบริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง โอกาสของการเกิดพฤติกรรมที่ไม่ดีต่างๆ ก็จะลดลง ตรงข้ามถ้าวัฒนธรรมองค์กรอ่อนแอ ปัญหาต่างๆ ก็จะเกิดได้ง่ายขึ้น 

ในทุกองค์กร วัฒนธรรมองค์กรจะเกิดขึ้นโดยปริยาย เพราะเมื่อคนมาอยู่ร่วมกันเป็นหมู่คณะ วัฒนธรรมองค์กรก็จะเกิดขึ้นด้วยตัวของมันเอง เป็นไปตามธรรมชาติ เป็นพฤติกรรมร่วมกันของคนที่อยู่ร่วมกัน ซึ่งจะสะท้อนพฤติกรรมที่คนส่วนใหญ่เชื่อ ยอมรับ และพร้อมทำ 

ในเรื่องนี้มีข้อสังเกตว่า แม้จะไม่มีการบอกกล่าวว่าอะไรควรไม่ควร พฤติกรรมองค์กรที่ออกมาจะสะท้อนสิ่งที่ผู้บริหารหรือผู้บังคับบัญชาทำเป็นสำคัญ เพราะพนักงานจะมองผู้บังคับบัญชาเป็นตัวอย่างว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้ อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ดูที่พฤติกรรมผู้บังคับบัญชา 

ดังนั้นองค์กรที่มีปัญหามักจะมีวัฒนธรรมองค์กรที่อ่อนแอและต้นตอของปัญหาจะมาจากผู้บังคับบัญชาที่ละเลยเรื่องเหล่านี้ หรือบางครั้ง ปัญหาก็สะท้อนพฤติกรรมไม่ดีที่ผู้บังคับบัญชาทำให้ผู้ใต้บังคับบัญชาเห็นและผู้ใต้บังคับบัญชาทำตาม แม้จะเป็นเรื่องไม่ดี แต่ผู้บังคับบัญชาก็ทำ 

ด้วยเหตุนี้ การหล่อหลอมวัฒนธรรมองค์กรที่ดีมีจริยธรรมจึงสำคัญมาก เพราะสิ่งที่พนักงานและผู้บังคับบัญชาทำกระทบธุรกิจของบริษัท กระทบเป้าธุรกิจ กระทบชื่อเสียงและมูลค่าระยะยาวของบริษัท ถ้าบริษัทมีวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็ง บริษัทก็จะสามารถบรรลุเป้าหมายทางธุรกิจ โดยไม่มีการทำผิดกฎหมาย ผิดกฎระเบียบหรือขาดจริยธรรม 

การทำธุรกิจของบริษัทจะสร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าและบริษัทเป็นที่ยอมรับในสายตาคนนอก พนักงานจะภูมิใจ และบริษัทสามารถรักษาพนักงานที่มีคุณภาพให้อยู่กับบริษัทต่อไป ที่สำคัญวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งเป็นสินทรัพย์ที่สร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับบริษัท สามารถช่วยบริษัทให้ฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ เพราะพฤติกรรมพนักงานได้ถูกหล่อหลอมภายใต้ค่านิยมเดียวกันที่จะเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันให้กับธุรกิจของบริษัท 

ในประเด็นนี้ นาย Howard Schultz ประธานบริหารของบริษัทสตาร์บัคส์ เคยกล่าวว่า “ความสามารถในการแข่งขันอย่างเดียวที่บริษัทเขามีก็คือ วัฒนธรรมองค์กรและมูลค่า (the culture and values) ของบริษัท เพราะใครๆก็เปิดร้านขายกาแฟได้” 

แล้วเราจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้นได้อย่างไร 

หน้าที่หลักในเรื่องนี้คงต้องมาจากผู้นำองค์กรคือ คณะกรรมการบริษัทที่ต้องเป็นผู้เริ่ม โดยต้องยอมรับว่าวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งเป็นเรื่องที่คณะกรรมการบริษัทต้องผลักดันให้เกิดขึ้นและพร้อมมีส่วนร่วมในการผลักดันดังกล่าว อันนี้คือจุดแรก 

จุดที่ 2 ก็คือ คณะกรรมการบริษัทและผู้บริหารต้องมีความเข้าใจร่วมกันว่าอะไรคือพฤติกรรมหรือค่านิยมที่ต้องการสร้างและผลักดันให้เกิดขึ้นในบริษัทและอะไรคือพฤติกรรมหรือค่านิยมที่จะไม่ยอมให้เกิดขึ้นในบริษัท จุดนี้สำคัญมาก เพราะจะเป็นข้อตกลงของการสร้างความเข้าใจร่วมกันว่าอะไรคือพฤติกรรมที่พึงประสงค์ที่บริษัทต้องการเห็นและต้องการให้เกิดขึ้นกว้างขวางในองค์กร เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัท เมื่อตกลงกันแล้วก็จะเป็นพฤติกรรมที่ทุกคนในบริษัทในทุกระดับ ตั้งแต่คณะกรรมการบริษัทถึงพนักงานต้องทำให้เกิดขึ้นร่วมกัน 

จุดที่ 3 ก็คือ การขับเคลื่อน ซึ่งหมายถึง การวางระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม การจัดการอบรมเพื่อสร้างความเข้าใจ การทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง การติดตามประเมินผล และการตอบแทนหรือให้รางวัลผู้ที่ทำได้ดีในเรื่องค่านิยมหรือวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นแบบอย่าง พร้อมนำสิ่งเหล่านี้มาใช้ในทุกเรื่องของบริษัท โดยเฉพาะการจ้างพนักงานและคัดเลือกผู้บริหารเพื่อให้ได้คนที่ตรงกับวัฒนธรรมองค์กรของบริษัท สิ่งเหล่านี้ต้องมาพร้อมกันหมดเพื่อสร้างพฤติกรรมที่เหมาะสมให้เกิดขึ้นกว้างขวางในองค์กร สนับสนุนโดยการทำหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทที่เข้มแข็งจริงจังกับเรื่องวัฒนธรรมองค์กร โดยให้เวลา ติดตาม ทำตัวให้เป็นตัวอย่าง รวมถึงดำเนินการเฉียบขาดเมื่อมีปัญหาที่ขัดกับค่านิยมขององค์กรเกิดขึ้น เหล่านี้จะนำไปสู่วัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งที่จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์หรือเป้าหมายทางธุรกิจของบริษัทให้ประสบความสำเร็จ สร้างความไว้วางใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่อธุรกิจบริษัท นำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน 

ในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวกับการกำกับดูแลกิจการที่ดีในภาคเอกชน วัฒนธรรมองค์กรขณะนี้เป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงมากและกำลังมีการขับเคลื่อนมากที่สุดในโลกธุรกิจ ในบ้านเราก็มีความท้าทายในเรื่องนี้ เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการบริษัทที่ต้องเป็นผู้นำสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่เข้มแข็งให้เกิดขึ้น