มองโศกนาฏกรรมที่ลาสเวกัส

มองโศกนาฏกรรมที่ลาสเวกัส

ณ วันนี้คงเป็นที่รับรู้กันอย่างกว้างขวางแล้วว่า ในตอนดึกของคืนวันอาทิตย์ซึ่งตรงกับช่วงบ่ายวันจันทร์เวลาในเมืองไทย

ได้เกิดโศกนาฏกรรมสยองขวัญขึ้นที่เมืองลาสเวกัส รัฐเนวาดาของสหรัฐ เมื่อชายวัย 64 ปีอาศัยห้องชั้น 32 ของโรงแรมใช้ปืนยาวยิงเร็วกระหน่ำยิงลงไปในงานแสดงดนตรีที่จัดขึ้นกลางแจ้งห่างออกไปหลายร้อยเมตร ขณะที่เขียนบทความนี้ มีผู้เสียชีวิตแล้ว 59 คนและบาดเจ็บอีกกว่า 500 คน จำนวนผู้เสียชีวิตอาจเพิ่มขึ้นเนื่องจากผู้บาดเจ็บหลายคนยังไม่พ้นวิกฤติ การฆาตกรรมหมู่แบบนี้เกิดขึ้นแทบไม่เว้นแต่ละปีในสหรัฐ เมื่อปีที่แล้ว เกิดขึ้นภายในสถานบันเทิงในรัฐฟลอริดาซึ่งมีคนตาย 49 คน

ข้อมูลบ่งว่า ฆาตกรเป็นนักบัญชีซึ่งไม่เคยมีประวัติทางอาชญากรรม เขายิงตัวตายเมื่อตำรวจบุกเข้าใกล้ตัว ในห้องของเขา ตำรวจพบปืน 23 กระบอกพร้อมกระสุนจำนวนมาก นอกจากนั้น ในรถของเขายังพบวัสดุสำหรับทำระเบิดและในบ้านที่เขาอาศัยอยู่พบปืนอีก 26 กระบอก กระสุนนับพันนัดและวัตถุระเบิด หลักฐานยืนยันว่า ปืนเหล่านั้นถูกกฎหมายและบางส่วนซื้อมาจากรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งอยู่ติดกับรัฐเนวาดา

โศกนาฏกรรมครั้งนี้จะถูกวิพากษ์จากหลายฝ่ายและอาจมองได้จากหลายแง่มุม อาทิเช่น ด้านศีลธรรมจรรยา ผมเห็นด้วยกับหลายคนที่มองว่าศีลธรรมจรรยาในสังคมอเมริกันเสื่อมทรามลง มุมมองนี้มีอยู่ในหนังสือหลายเล่มรวมทั้ง 2 เล่มซึ่งผมอ้างถึงหลายครั้งและได้นำมาทำบทคัดย่อภาษาไทยและวิจารณ์ไว้ ทั้งคู่อาจดาวน์โหลดได้จากเว็บไซต์ของมูลนิธินักอ่านบ้านนา (www.bannareader.com) เล่มแรกเขียนโดยนักวิเคราะห์สังคม Cullen Murphy ชื่อ Are We Rome? : The Fall of an Empire and the Fate of America เล่มที่ 2 เขียนโดยนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล Joseph Stiglitz ชื่อ Freefall : America, Free Markets, and the Sinking of the World Economy

เนื่องจากผู้เขียนเล่ม 2 เป็นนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ซึ่งใช้คำว่า deficit หรือ “การขาดดุล”ในหลายบริบท เขาจึงบัญญัติศัพท์ใหม่ในแนวเดียวกันขึ้นมาชื่อ moral deficit ซึ่งคงแปลว่า “การขาดดุลทางศีลธรรมจรรยา” ในบริบทของหนังสือ การหาทางรวยทางลัด การจ้องเอาเปรียบสังคมและการละเลยหน้าที่เป็นตัวอย่างของปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งรวมกันเป็นการขาดดุลทางศีลธรรมจรรยา ต่อมาผมได้ขยายความหมายของการขาดดุลทางศีลธรรมจรรยาให้ครอบคลุมไปถึงเรื่องความรู้และเทคโนโลยี กล่าวคือ การขาดดุลนี้เกิดขึ้นในโลกปัจจุบันเพราะฐานทางด้านศีลธรรมจรรยาของมนุษย์เราไม่แข็งแกร่งเพิ่มขึ้นตามองค์ความรู้และอานุภาพของเทคโนโลยี

โศกนาฏกรรมที่ลาสเวกัสเป็นตัวอย่าง ปืนยิงเร็วเป็นอาวุธที่มีอานุภาพสูงกว่ามีด อาชญากรเพียงคนเดียวสามารถฆ่าคนได้จำนวนมากในเวลาเพียงราว 9 นาทีตรงข้าม ถ้าอาชญากรมีเพียงมีดเป็นอาวุธ เขาจะทำเช่นนั้นไม่ได้ ในโลกปัจจุบัน สังคมอเมริกันมีอาวุธนิวเคลียร์ ถ้าผู้กำรหัสอาวุธนั้นเช่นนายโดนัลด์ ทรัมป์เกิดคิดต่ำทรามขึ้นมาเมื่อไร อาจมีคนตายเป็นหลักล้านภายในพริบตา เรื่องนี้ผมเขียนถึงหลายครั้งในบริบทของศัพท์ใหม่ที่ผมคิดไว้นานแล้วชื่อ “คำสาปของเทคโนโลยี” (The curse of technology) แต่ยังไม่เป็นที่ยอมรับ มนุษยชาติจะไม่รอดพ้นจากคำสาปตราบใดที่ฐานทางด้านศีลธรรมจรรยายังไม่แข็งแกร่งขึ้นตามองค์ความรู้และอานุภาพของเทคโนโลยี

ทางด้านการเมือง ทุกครั้งที่มีโศกนาฏกรรมจำพวกการใช้อาวุธปืนจะมีการพูดถึงการควบคุมการซื้อหาอาวุธปืนซึ่งทำได้ง่ายคล้ายซื้อของเล่น แต่รัฐสภาอเมริกันไม่สามารถออกกฎหมายควบคุมการครอบครองอาวุธปืนได้เพราะสมาชิกส่วนใหญ่ตกอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มธุรกิจผลิตและค้าอาวุธปืนเช่นเดียวกับการอยู่ใต้อิทธิพลของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่อื่น ๆ อาทิเช่น กลุ่มธนาคารและการเงินซึ่งส่งผลให้รัฐสภาไม่สามารถออกกฎหมายควมคุมกิจการบางด้านของภาคการเงินได้แม้ภาคนี้จะทำให้เกิดวิกฤติหลายครั้งก็ตาม ด้วยเหตุนี้จึงมีผู้มองว่าระบอบประชาธิปไตยในสหรัฐกำลังเสื่อมเช่นกัน

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งมองได้ว่าเป็นตัวอย่างที่ให้บทเรียนสดๆ แก่ผู้พยายามเดินตามสหรัฐ จากมุมมองนี้ สังคมต่างๆ ยังจะพยายามเดินตามสหรัฐต่อไป หรือจะทำอะไรซึ่งจะไม่ทำให้ตนตกอยู่ใต้คำสาปของเทคโนโลยีและอิทธิพลของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่?