ปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบ

ปัญหาผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น ต้องปฏิรูปเศรษฐกิจทั้งระบบ

ผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไปในยุคปัจจุบันจะมีอายุยืนขึ้นและส่วนใหญ่ยังมีสุขภาพที่จะทำงานบางอย่างต่อไปได้ โดยเฉพาะคนที่มีฐานะดีและมีการศึกษาดี

มีสัดส่วนที่จะมีสุขภาพดีและอายุยืนมากกว่า อาจจะอยู่ต่อและทำงานไปได้อีก 10-20 ปีนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งในไทยและทั่วโลก ใน 4 ปีข้างหน้า ไทยจะมีคนสูงวัยราว 13 ล้านคน 20% และอีก 10 ปีถัดไปจะเพิ่มเป็น 28% สูงเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย

ระบบเศรษฐกิจสังคมและความคิดแบบเก่าที่กำหนดให้คนเกษียณออกจากงานตอนอายุ 60-65 ปี มองว่าประเทศที่มีคนสูงอายุเป็นสัดส่วนสูงเมื่อเทียบกับคนวัยทำงานจะเป็นการสร้างภาระให้กับระบบเศรษฐกิจสังคม ผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศจะโตได้ช้าลง รัฐบาลเก็บภาษีได้ลดลง ขณะที่สังคมต้องรับภาระดูแลผู้สูงอายุที่ไม่ได้ทำงาน และมีโอกาสเจ็บป่วยเพิ่มขึ้น ประเทศที่มีระบบประกันสังคมในเกณฑ์ดี เช่นในยุโรป อเมริกา ซึ่งมีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุมากเริ่มวิตกว่า กองทุนเบี้ยบำนาญและประกันสังคมอาจมีเงินไม่ค่อยพอจ่าย รวมทั้งรัฐบางจะมีภาระงบประมาณด้านการรักษาพยาบาล และสวัสดิการผู้สูงอายุเพิ่มขึ้น

ประเทศไทยไทยที่มีแต่การจ่ายบำนาญแบบสวัสดิการให้ข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย และมีระบบประกันสังคมให้กับพนักงาน คนทำงานกินเงินเดือนในระดับหนึ่งที่ค่อนข้างต่ำกว่าราชการและต่ำกว่าประเทศอื่น ก็กำลังเผชิญกับปัญหานี้เช่นกัน รวมทั้งยังมีปัญหาอีกว่าประชาชนส่วนใหญ่ที่เป็นชาวนา ชาวไร่ คนงาน และผู้ประกอบการรายย่อยที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม รัฐบาลจะมีส่วนช่วยดูแลอย่างไร แค่การที่รัฐบาลจ่ายเบี้ยผู้สูงอายุเดือนละ 500-700 บาท ซึ่งน้อยมาก รัฐบาลก็เริ่มบ่นว่าใช้งบประมาณมากแล้ว

แนวทางแก้ไขปัญหานี้คือจะต้องเปลี่ยนกรอบวิธีคิดใหม่ และปฏิรูปเรื่องระบบการทำงานแบบใหม่ นั่นก็คือจะต้องเลิกคิดว่าผู้สูงอายุเกิน 60 ปีขึ้นไป พ้นจากวัยแรงงานแล้ว เพราะสภาพเป็นจริงคือพวกเขาส่วนใหญ่ยังมีสุขภาพ ความรู้ ความสามารถที่ทำงานบางอย่างต่อไปได้ ถ้ามีการจัดสภาพการจ้างงานให้เหมาะสม

นั่นก็คือต้องปฏิรูประบบการทำงาน ทั้งเรื่องการจ้างงานและทำงานด้วยตนเอง ที่ให้ผู้สูงอายุทำงานบางอย่างได้ ทำให้ผู้สูงอายุพึ่งตนเองได้เพิ่มขึ้น มีความสุขและสุขภาพดีขึ้น (คนที่เกษียณแล้วไม่ทำงานหรือไม่มีกิจกรรมทำมักมีโอกาสเครียด สมองฝ่อ ขี้หลงขี้ลืม และปัญหาสุขภาพอื่นๆ ) รัฐบาลจะได้รับภาระลดลงและมีคนทำงานช่วยให้เศรษฐกิจคงเติบโตต่อไปได้

ข้อแรกเลย คือควรเพิ่มอายุเกษียณจาก 60 ปี เป็น 65 ปี หรือให้ต่ออายุเป็น 65-70 ปี ได้แล้วแต่ความเหมาะสมของบุคคลและลักษณะ เช่น งานประเภทใช้ความรู้และทักษะวิชาชีพโดยคนทีมีความรู้ ความชำนาญเฉพาะทาง คนสูงอายุที่คงมีสุขภาพดีจะทำได้อยู่แล้ว ส่วนงานประเภทกึ่งฝีมือหรือไม่ต้องใช้ฝีมือมาก ก็อาจปรับเปลี่ยนให้คนสูงอายุทำได้ เช่นในเกาหลีใต้มีการส่งเสริมให้คนสูงอายุแพ็คของ ส่งของ ซึ่งไม่หนักเกินไป ในบางประเทศคนสูงอายุไปขับรถรับส่งคนให้บริษัทอูเบอร์

ถ้าจะเพิ่มอายุเกษียณในระบบราชการและรัฐวิสาหกิจจาก 60 ปี เป็น 65 ปี ไม่จำเป็นต้องให้คนอายุครบ 60 ปีดำรงตำแหน่งบริหารหรือทำงานแบบเดิม เพราะอาจมีปัญหาทำให้เป็นระบบราชการที่มีผู้บริหารเป็นคนอาวุโสมากไป ไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลือดใหม่เข้ามาเป็นผู้บริหาร ควรจัดระบบการทำงานให้ยืดหยุ่น ให้คนอายุ 60 ปีแล้วที่สมัครใจอยู่ต่อไปทำงานแบบอื่นที่เหมาะสม หรือแม้แต่จ้างทำงานบางเวลา โดยคิดอัตราค่าตอบแทนอีกแบบหนึ่ง

ในระบบธุรกิจเอกชนก็น่าจะทำได้แบบเดียวกัน แนวความคิดอคติแบบเก่าว่าคนสูงอายุจะทำงานได้ช้ากว่า มีประสิทธิภาพน้อยกว่า ไม่ใช่ความจริงเสมอไป งานที่ใช้แรงงานอาจจะจริง แต่งานที่ใช้ความรู้ไม่จริง การทดลองของธนาคารแห่งหนึ่งในเยอรมนีที่ให้คนสูงอายุทำงานร่วมกับคนวัยต่างๆ พบว่าคนสูงอายุที่มีประสบการณ์การทำงานจะทำผิดพลาดน้อยกว่า และเป็นการส่งเสริมให้ทีมงานโดยส่วนรวมทำงานได้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นด้วย

การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุที่เกษียณแล้วได้ทำงานบางเวลาหรืองานอาสาสมัคร ที่ภาครัฐควรจ่ายค่าตอบแทนให้บาง เป็นวิธีที่จะช่วยให้ผู้สูงอายุคนทำงานที่เหมาะสม เป็นประโยชน์ทั้งสำหรับตัวเขา ชุมชน และประเทศชาติได้เพิ่มขึ้น

การส่งเสริมให้ผู้สูงอายุประกอบอาชีพอิสระ/ผู้ประกอบการรายย่อย เป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหานี้ ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมผู้สูงอายุที่มีบ้านเป็นของตนเอง แต่ไม่ค่อยมีรายได้ สามารถหารายได้จากการแบ่งห้องให้คนเช่าเป็นรายวัน ผ่านระบบบริษัทเช่นแอร์บีแอนด์บีที่ลูกค้าติดต่อทางอินเทอร์เน็ตได้ทั่วโลก

อย่างไรก็ตามการจะแก้ไขปัญหาผู้สูงอายุ ควรจะคำนึงถึงปัญหาของทั้งระบบเศรษฐกิจ แนวโน้มคือจะมีปัญหาคนหนุ่มสาวว่างงานมากขึ้น เพราะระบบเศรษฐกิจทุนนิยมพัฒนาอย่างไม่สมดุล เช่น ใช้เครื่องจักร หุ่นยนต์ คอมพิวเตอร์ ทำงานแทนคนมากขึ้น คนหนุ่มสาวเรียนสูงขึ้น แต่ไม่ตรงกับความต้องต้องการของตลาดแรงงาน ปัญหาการว่างงานของคนหนุ่มสาวทำให้เกิดอคติว่าถ้าไปเพิ่มอายุเกษียณหรือไปจ้างคนสูงอายุจะยิ่งไม่มีงานให้คนหนุ่มสาว เรื่องนี้ต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจทั้งหมด ให้ทั้งคนหนุ่มสาว คนกลางคน และคนสูงวัย ได้ทำงานและผลตอบแทนที่เหมาะสม มีการใช้ทรัพยากรและแรงงานอย่างยุติธรรม และสร้างสรรค์

เรื่องการพัฒนาทางเทคโนโลยี มีหุ่นยนต์มาช่วยมนุษย์ทำงานเพิ่มขึ้น ในหลักการแล้วควรจะช่วยให้มนุษย์สบายขึ้น ทำงานแบบเสี่ยงภัยหรือซ้ำซากลดลง มนุษย์ควรได้ลดเวลาทำงานลง แต่ต้องปฏิรูประบบเศรษฐกิจสังคมให้เป็นธรรม ดูแลคนส่วนใหญ่มีงานทำและได้ผลตอบแทนที่เลี้ยงชีพได้ ประเด็นไม่ได้อยู่ที่การปล่อยให้เทคโนโลยีมาแย่งงานคนโดยนายทุนได้กำไรฝ่ายเดียว

ประเด็นอยู่ที่การจัดระบบเศรษฐกิจแบบแบ่งปันให้คนมีงานและผลตอบแทนที่เหมาะสม เป็นธรรม เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม เพราะถ้าหุ่นยนต์มาแย่งงานคนมาก คนไม่มีรายได้ไปซื้อสินค้าบริการ นายทุนซึ่งเป็นคนส่วนน้อยก็จะขายสินค้าได้ลดลง และเศรษฐกิจจะมีปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว/ถดถอย พัฒนาต่อไปไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องคิดระยะยาวอย่างฉลาดว่า เราต้องจัดระบบเศรษฐกิจแบบผสมค่อนไปทางสังคมนิยมประชาธิปไตยแนวระบบนิเวศ จึงจะสามารถแก้ปัญหาหุ่นยนต์ทำให้คนว่างงานได้