ไม่มีเมืองไหนปลอดภัย จากเหตุก่อการร้ายกลางฝูงชน!

หากบวกเอาบาร์เซโลน่าของสเปนที่ถูกผู้ก่อการร้ายโจมตีเมื่อวันพฤหัสฯที่ผ่านมา
ในช่วงสามปีที่ผ่านมากลุ่มก่อเหตุได้พุ่งเป้าไปไม่น้อยกว่า 8 เมืองใหญ่ของยุโรปแล้ว
ปารีส, ลอนดอน, บรัสเซลส์, นิซ, โคเปนเฮเกน, เบอร์ลิน, แมนเชสเตอร์...และล่าสุดบาร์เซโลน่า
วิธีการก่อเหตุมีความละม้ายกัน เป้าโจมตีเหมือนกันตรงที่เป็นจุดที่ผู้คนพลุกพล่าน และหากเป็นช่วงกลางวันแสก ๆ ได้ยิ่งจะเหมาะสำหรับปฏิบัติการให้บรรลุเป้าประสงค์
เพราะ ISIS ต้องการเป็นข่าวด้วยการทำให้มีคนตายและบาดเจ็บมากที่สุด
ไม่สนใจว่าจะเป็นลูกเล็กเด็กแดง คนแก่ ผู้หญิง และนักท่องเที่ยวที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความขัดแย้งใด ๆ
ครั้งล่าสุดผู้ก่อการร้ายใช้รถตู้พุ่งเข้าชนฝูงชนด้วยความเร็วไม่น้อยกว่า 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงในชุดที่ผู้คนขวักไขว่ที่สุด ณ เวลาที่นักท่องเที่ยวกำลังรวมตัวกันหนาแน่นที่สุด
นั่นคือที่ Plaza de Cataluna กับ Las Ramblas ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางเมือง
สร้างเหตุพุ่งชนแล้ว มือปืนสองคนก็บุกเข้าร้านอาหารในย่านนั้นและจับตัวคนในร้านหลายคนเป็นตัวประกัน
เมื่อตำรวจสเปนบุกเข้ามา ก็เกิดการปะทะกันอย่างรุนแรง
ยอดคนตายขณะที่เขียนอยู่นี้อยู่ที่ 13 และบาดเจ็บไม่ต่ำกว่าร้อย
ไม่แต่เมืองใหญ่เท่านั้น ปีที่แล้วที่เมืองท่องเที่ยวระดับโลกนิซของฝรั่งเศส ผู้ก่อเหตุร้ายคนหนึ่งเช่ารถตู้แล้วขับเข้าชนฝูงคนที่กำลังเฉลิมฉลองวันสำคัญคือ Bastille Day บนถนน Promenade des Anglais
เหตุการณ์วันนั้นมีคนตาย 86 คน และบาดเจ็บหลายสิบคน
ก่อนคริสมาสต์ไม่กี่วันเมื่อปีที่ผ่านมา ผู้ก่อเหตุร้ายขโมยรถตู้ขับเข้าชนนักช็อปในตลาดกลางเมืองเบอร์ลิน
วันนั้นมีคนตาย 12 บาดเจ็บหลายสิบคนเช่นกัน
ต่อมาเหตุเกิดหน้ารัฐสภาอังกฤษที่ลอนดอน มีคนขับรถตู้วิ่งเข้าชนคนที่เดินอย่างคึกคักตรงสถาน London Bridge หลังจากนั้นคนขับก็วิ่งลงมาไล่แทงคนด้วยมีดอย่างบ้าคลั่งในตลาด Borough Market
สังเกตุว่าทุกจุดที่ก่อการร้ายในเมืองใหญ่ของยุโรปล้วนแล้วแต่เป็นสถานที่เปิด ผู้คนหนาแน่น กลางวันแสก ๆ ลงท้ายน้อย ก่อการโดยมือปืนเดี่ยวหรือกลุ่มเล็ก ๆ ที่ประชิดตัวผู้เป็นเป้า
หลังเกิดเหตุไม่นาน กลุ่ม ISIS จะประกาศว่าเป็นผลงานของตน หรือไม่ก็อ้างว่าเป็นฝีมือของกลุ่มที่มีส่วนเกี่ยวโยงกับปฏิบัติการระดับสากลของตน
นักวิเคราะห์ตะวันตกบอกว่านี่เป็นสัญญาณว่ากลุ่ม ISIS กำลังถูกไล่ล่าในฐานหลักของตนในซีเรียและอิรัก จึงต้องกระจายตัวออกมาสร้างกิจกรรมในประเทศต่าง ๆ ด้วยวิธีการ “เอาตอนเผลอ” และ “สร้างความโกลาหลไปทั่วโลก”
ส่วนความจริง ISIS เกี่ยวข้องโดยตรงมากน้อยเพียงใด หรือคำกล่าวอ้างมีส่วนของความจริงมากน้อยหรือไม่อย่างไรไม่มีใครสามารถยืนยันได้
วิธีป้องกันเหตุร้ายเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะรัฐบาลส่วนใหญ่ไม่ต้องการให้ผู้ก่อการร้ายได้ชัยชนะด้วยการตั้งระบบป้องกันเหตุร้ายเข้มข้นจนผู้คนไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างปกติสุขได้
ด้วยเหตุนี้ มาตรการป้องกันจึงแฝงตัวอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ ขณะที่ยังเปิดให้กิจกรรมของประชาชนดำเนินไปเหมือนเดิม ไม่ให้กลุ่มก่อการร้ายอ้างว่าประสบความสำเร็จด้วยการทำให้วิถีชีวิตของผู้คนต้องถูกจำกัดลงเพราะความหวาดกลัว
ต่อไปนี้ไม่มีจุดไหนปลอดภัย....ยิ่งเมืองใหญ่ ยิ่งเมืองดัง ยิ่งกลางจตุรัสเมืองที่มีผู้คนพลุกพล่านยิ่งเสี่ยงกับเหตุร้าย
ที่เกิดเรียกกันว่าเป็น “เหตุร้ายที่คาดไม่ถึง” บัดนี้กลายเป็น “เหตุร้ายที่ต้องคาดการณ์ล่วงหน้า”!