จะกี่ชั่วโคตร...ก็ต้อง ช่วยกันปราบโกงให้ได้

จะกี่ชั่วโคตร...ก็ต้อง ช่วยกันปราบโกงให้ได้

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วย “ความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม” ที่ผ่านคณะรัฐมนตรีเมื่อเร็ว ๆ นี้

นี้ถือเป็นก้าวย่างที่สำคัญในการป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชันของไทย

แนวคิดนี้เริ่มเมื่อ 9 ปีก่อนในรูปแบบ แก้โกง 7 ชั่วโคตร ซึ่งมีความหมายว่าใครโกงจะต้องสาวให้ถึงญาติโกโหติกา 7 รุ่นเพื่อลงโทษกันให้ครบถ้วนกระบวนความ

ผ่านมาถึงวันนี้เนื้อหาของกฎหมายอาจไม่ถึง 7 ชั่วโคตร แต่ก็กินความถึงคนอย่างน้อย 3 รุ่น

นั่นคือขยายวงถึงลูกผู้สืบสันดาน บุพการี คู่สมรส พี่น้อง บุตรบุญธรรม คู่สมรสของลูก

ในกรณีที่เป็นนิติบุคล การเป็นหุ้นส่วนหรือถือหุ้นร้อยละห้าถือว่าเป็นการมีส่วนได้เสียเกินกว่าส่วนได้เสียตามปกติ

อีกทั้งยังระบุถึงลักษณะการกระทำผิดไว้ในแง่การวางนโยบายของผู้มีอำนาจในลักษณะที่เอื้อประโยชน์ต่อตนและพวก เช่นการกำหนดนโยบาย การเสนอหรือให้ความเห็นชอบร่างกฎหมาย หรือร่างกฎต่าง ๆ เพื่อ เอื้อประโยชน์แก่ตัวเองหรือผู้เกี่ยวข้อง

นอกจากเรื่องการรับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้แล้ว ก็ยังกินความถึงการปลดหนี้ การลดหนี้ การให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย การเข้าค้ำประกันไม่คิดค่าธรรมเนียม การให้ค่านายหน้า การขายหรือการให้เช่าซื้อทรัพย์สินแก่เจ้าหน้าที่ในราคาต่ำกว่าปกติ หรือการซื้อหรือให้เช่าทรัพย์สินของเจ้าหน้าที่รัฐในราคาสูงกว่าปกติ

อ่านให้ละเอียดจะเห็นว่าเป็นร่างกฎหมายที่ ล้อมรั้ว” ไว้อย่างละเอียดที่มีมากกว่ากฎหมายลักษณะเดียวกันนี้ในหลาย ๆ ประเทศ

เหตุก็เป็นเพราะการฉ้อฉลโกงกินของไทยได้พัฒนาไปในรูปแบบต่าง ๆ อย่างเหลือเชื่อ ไม่ว่าจะเขียนกฎป้องกันเอาไว้อย่างไร พยายามจะปิดช่องโหว่เพียงใด นักการเมือง, ข้าราชการและนักธุรกิจไทยก็ยังสามารถหาช่องว่างที่จะเล็ดรอดผ่านเพื่อ “เอื้อประโยชน์ต่อกัน” ได้อยู่ดี

จะว่าไปแล้ว เมืองไทยมี นวัตกรรม ด้านการโกงกินที่ก้าวหน้าพัฒนากว่าหลาย ๆ ประเทศเพราะระบอบ อุปถัมภ์” และความเป็น ศรีธนญชัย เมื่อผสมกลมกลืนกันแล้วก็ทำให้วัฒนธรรมแห่งการฉ้อราษฎร์บังหลวงเจริญเติบโตฝังรากลึกอย่างน่ากลัวจนกลายเป็นวิกฤติของประเทศ

ถามว่าร่างกฎหมายใหม่ฉบับนี้จะแก้ปัญหาคอร์รัปชันของประเทศได้หรือไม่?

คำตอบก็คือว่าการมีร่างกฎหมายฉบับนี้ย่อมดีกว่าไม่มี และต้องแสดงความชื่นชมกับผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรณรงค์ให้มีกฎหมายฉบับนี้มาตลอดเวลา 9 ปี รวมถึงนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาที่เปิดไฟเขียวให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบอีกด้วย

แต่ท้ายที่สุดก็ต้องติดตามว่า สนช. จะผ่านกฎหมายนี้อย่างรวดเร็วเพียงใด และจะออกกฎหมายลูกเพื่อแจกแจงรายละเอียดในทางปฏิบัติอย่างไร

เพราะไม่ว่ากฎหมายจะดีเพียงใด หากไม่สามารถนำมาบังคับใช้อย่างจริงจัง, ก็ย่อมไร้ประโยชน์

เป็นหน้าที่ของพลเมืองไทยทุกคนที่จะต้องร่วมกันผลักดันให้กฎหมายที่ดีฉบับนี้มีความศักดิ์สิทธิ์ในทางปฏิบัติ ไม่ยอมให้นักการเมืองหรือข้าราชการฉ้อฉลหาทางบิดเบี้ยวหรือเบียดให้ตกไปจากกระแสสังคมได้เป็นอันขาด!