คำเตือนจากมือต่อต้าน การโจมตีทางไซเบอร์

คำเตือนจากมือต่อต้าน การโจมตีทางไซเบอร์

วันศุกร์ก่อน ผมขึ้นเวทีสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้าน “สงครามไซเบอร์” คนดัง Richard Clarke จากสหรัฐ

ที่เคยเป็นที่ปรึกษาของประชาธิบดีอเมริกัน 5 คนว่าด้วยเรื่องไซเบอร์

ผมถามว่าถ้าโดนัลด์ ทรัมป์เชิญไปทำเนียบขาว จะยอมให้คำปรึกษาประธานาธิบดีคนปัจจุบันหรือไม่ แกตอบอย่างไม่ลังเลว่า

ผมพร้อมจะให้ปรึกษากับทรัมป์ คือจะแนะนำให้ท่านลาออกเสีย!

ผู้ฟังในงานสัมมนาที่จัดโดย กสทช. ประจำปีหลายร้อยคนหัวเราะกันร่วน เพราะคำตอบแกไม่ยักเกี่ยวกับเรื่องภัยคุกคามทางไซเบอร์เลยแม้แต่น้อย

คลาร์กมีประวัติศาสตร์ด้านต่อต้านการก่อการร้ายทั้งในรูปแบบการทำลายล้างด้วยอาวุธและความรุนแรงเช่นกรณี 9/11 และต่อมาได้กระโจนเข้าสู่การวางแนวปฏิบัติต่อต้านภัยทางไซเบอร์ที่นับวันจะรุนแรงและหนักหน่วงขึ้น

แกบอกว่ารัฐบาลและเอกชนส่วนใหญ่ยังไม่สำเหนียกในความสำคัญของการวางมาตรการป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์ นอกจากจะไม่ใช่นโยบายสำคัญขององค์กรทั้งหลายแล้ว งบประมาณเพื่อการนี้ก็น้อยกว่าที่จำเป็น อีกทั้งการฝึกและสร้างผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก็ยังห่างไกลจากความต้องการที่แท้จริง

“สงครามครั้งหน้าจะเป็นสงครามไซเบอร์” แกประกาศกลางเวทีระหว่างการสัมภาษณ์และย้ำว่า “คุณไม่รู้ด้วยซ้ำว่าศัตรูของคุณเป็นใคร เพราะเขาอาจะเป็นคนหรือเป็นองค์กรหรือเป็นรัฐบาลได้ทั้งนั้น

ภาพที่น่ากลัวหากเกิดการโจมตีทางไซเบอร์อาจจะไม่ใช่ศพคนตายทับถมกันกลางเมือง ไม่ใช่การปะทะกันด้วยอาวุธร้ายแรงดังสนั่นหวั่นไหว หากแต่มาในรูปของเครื่องคอมพิวเตอร์หยุดทำงานพร้อม ๆ กันหรือรถไฟใต้ดินไม่ทำงานหรือดาวเทียมบนฟ้าถูกรบกวนจนเดี้ยง

ท้ายสุดฝ่ายโจมตีไซเบอร์อาจทำให้ไฟฟ้าดับครั้งละหลาย ๆ ชั่วโมงหรือเป็นวัน

ไม่มีไฟฟ้า สังคมก็เข้าสู่ภาวะปั่นป่วนวุ่นวายแล้ว คล้าร์กบอก

เขามีบทบาทสำคัญในฐานะที่ปรึกษาด้านต่อต้านการก่อการร้ายในทำเนียบขาวของประธานาธิบดีจอร์ด ดับบลิว บุชผู้ลูก

คล้าร์กเจาะข่าวกรองได้ว่าโอซามา บิน ลาเดนและอัลไกด้ากำลังจับมือกันเพื่อก่อเหตุร้ายที่น่ากลัวในอเมริกา เขาเสนอให้มีการประชุมระดับคณะรัฐมนตรีเพื่อหามาตรการป้องกัน แต่บุชไม่ใส่ใจกับข้อเสนอนั้นเพราะไม่เชื่อตามหลักฐานและแนวทางวิเคราะห์ข่าวกรองของแก

และเหตุการณ์ 9/11 ก็เกิดขึ้นจริงในปี 2001

วันนั้น คล้าร์กได้รับหน้าที่เป็น ผู้จัดการวิกฤต เพื่อตั้งรับกับเหตุก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

จากหน้าที่การต่อต้านการก่อการร้ายในรูปแบบเดิม คล้าร์กหันมาเกาะติดการคุกคามที่มาในรูปไซเบอร์ซึ่งกว้างขวางและน่ากลัวกว่าเพราะมันมากับความลี้ลับ ไม่มีใครรู้ว่าใครกำลังวางแผนจะคุกคามใครในระดับไหนผ่านระบบคอมพิวเตอร์

แกยืนยันว่ารัสเซียและเกาหลีเหนือมีศักยภาพในการทำศึกทางไซเบอร์และได้เริ่มทำแล้วด้วยซ้ำไป

เพราะอเมริกามีความก้าวหน้าด้านไซเบอร์มาก มีเครือข่ายกว้างขวางมากกว่าใคร จึงกลายเป็นเป้าของการโจมตีได้ง่ายกว่าคนอื่นเช่นเดียวกัน คล้าร์กบอก

ดังนั้นคำว่า cyberterrorism กับ cybersecurity จึงต้องกลายเป็นของคู่กันสำหรับทุกประเทศ

ใครไม่ให้ความสำคัญกับสองเรื่องนี้ก็อาจกลายเป็นเหยื่อการโจมตีทางไซเบอร์ที่เมื่อรู้ตัวก็สายเกินไปเสียแล้ว!