เมื่อสิ่งใหม่มา สิ่งเก่าก็ต้องไป

เมื่อสิ่งใหม่มา สิ่งเก่าก็ต้องไป

คำว่า Disruption และ Transformation จึงมีความหมายไม่ต่างจาก Do or Die ไม่เริ่มวันนี้ ก็อาจไม่มีวันหน้า

เพราะในยุค Digital เป็นที่ยอมรับร่วมกันว่าเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ไม่ใช่เพียงแค่การขยับเล็กๆแบบที่เราทำกันอยู่ทั่วไป แต่ต้องขยับให้แรงและเร็ว เพื่อก้าวให้ทันกับการเปลี่ยนไปของสภาพแวดล้อม 

การนำองค์กรเพื่อให้พร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่ใช่ล้มเลิกสิ่งเดิมๆที่ทำไปเสียทุกอย่าง แต่ต้องพิจารณาสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมต่อยอดให้องค์กรแข็งแกร่งด้วย ดังนั้นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในกระบวนการทางธุรกิจ การพัฒนาพนักงาน ตลอดจนการสร้างวัฒนธรรมการทำงานใหม่จึงเป็นสิ่งจำเป็น

ปัจจัยสำคัญในการรับมือกับยุคสมัยนี้คือ การมีบุคลากรที่มีทักษะ ความสามารถ เห็นประโยชน์จากการใช้เทคโนโลยี และประยุกต์ใช้มันในการทำงานประจำได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ช่วยลดปัญหาความยุ่งยากในการทำงาน ช่วยลดการใช้ทรัพยากรที่เกินความจำเป็น ช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทำงาน ดังนั้นทีมงาน HR จะต้องเป็นกลไกสำคัญในการสร้างและเปลี่ยนผ่านบุคลากรให้พร้อมรับมือกับยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในงานสัมมนา “Transform HR for Digitalization สร้างคน เปลี่ยนพฤติกรรม ปรับตัวสู่ดิจิทัล” ซึ่งจัดโดย สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ นอกจากกรณีศึกษาจากบริษัทชั้นนำ อาทิ หัวข้อ “DTAC มุ่งมั่นพัฒนาบุคลากร เพื่อส่งต่อสิ่งดีๆให้กับลูกค้า” ที่มี Chief Digital Officer ร่วมกับ Chief People Officer บูรณาการร่วมกันในการยกระดับบริการให้มีความทันสมัย ตอบโจทย์ตรงใจลูกค้า หัวข้อ “SCB Transformation ปรับคน เปลี่ยนกลยุทธ์” อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างแรงจาก FinTech และหัวข้อ “เตรียมคนให้พร้อมเมื่อโลกต้องเปลี่ยนสู่ Digital Centrality” โดยผู้บริหารด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กลุ่มเซ็นทรัล ที่กล้าเปิดเผยถึงสิ่งที่ทำได้ดี และสิ่งที่ทำแล้วล้มเหลว กลายเป็นบทเรียนที่ล้ำค่าในการก้าวสู่รูปแบบธุรกิจค้าปลีกและห้างสรรพสินค้าโฉมใหม่ ที่ผสมผสานการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเพื่อตอบรับกับลูกค้ายุคมิลลิเนียล จนสามารถสยายปีกไม่ใช่แค่ต่างจังหวัด แต่ไปไกลถึงต่างประเทศ และกล้าชนกับห้างดังในยุโรป

แน่นอนเมื่อมีสิ่งใหม่เกิดขึ้นและเข้ามาในชีวิตเรา สิ่งเก่าที่เราเคยใช้ บางอย่างอาจดูด้อยค่าไร้ราคาและไม่ได้ดั่งใจ ก็ต้องจากไปแบบไม่มีใครเหลียวแล ดูเหมือนว่าจะเป็นสัจธรรมที่ไม่อาจฝืน เป็นพลวัตรของสังคมที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง หากแต่เคลื่อนไหวเร็วบ้างช้าบ้างไปสู่บริบทใหม่ กระแสอาจแรงบ้างขึ้นอยู่กับสิ่งที่มากระทบ บางคราวอาจกวาดเรียบไม่เหลือซาก แล้วสิ่งใหม่ก็จะเจริญงอกงามอีกครั้ง

ธุรกิจก็เช่นกันไม้ใหญ่อาจหักโค่นลงไป แต่ก็มีต้นกล้าใหม่ที่โตขึ้นมาแทนที่ ลองมานั่งนึกดูกันเล่นๆว่ามีอะไรบ้างที่ในช่วงชีวิตหนึ่งของเรา เคยรู้(ว่ามี) เคยเห็น(คนอื่นถือ) เคยซื้อมาใช้(ด้วยตัวเอง) และตอนนี้ไม่มีมันอีกแล้ว แต่ถูกทดแทนด้วยสิ่งใหม่ที่เรานึกไม่ถึง หรือไม่เคยคิดว่าจะเป็นไปได้มาก่อน ธุรกิจใหญ่จึงต้องผสมผสานทำงานร่วมกับธุรกิจเล็ก จึงไม่แปลกที่บริษัทยักษ์ใหญ่จะหันมาสนับสนุนสตาร์ทอัพให้กลายเป็นเครือข่ายภายใต้ร่มเงาของตัวเอง เป็นการบริหารแบบ 1 องค์กรแต่หลาย 2 ระบบ

ประเด็นคืออะไรกำลังจะมา แล้วจะกระทบกับอะไรที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และเราจะต้องเปลี่ยนและปรับอย่างไร ดังนั้นทักษะในการคิดไปข้างหน้า หรือการคาดการณ์อนาคตจึงเป็นทักษะที่สำคัญและจำเป็นอย่างมากต่อผู้บริหารในยุคนี้ การนั่งชื่นชมกับความสำเร็จเมื่อวาน และทำตัวชื่นมื่นรื่นรมย์กับวันนี้ โดยไม่แยแสหรือตระหนักถึงความไม่แน่นอนที่จะเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อในวันพรุ่งนี้ ดูจะเป็นการใช้ชีวิตหรือทำงานแบบเสี่ยงไปหน่อย ลองพินิจพิจารณากับคำถามเหล่านี้

-คุณนึกถึงธุรกิจใดที่ชื่อเสียงและความสำเร็จในอดีต แต่ล่มสลายหายไปแล้วในวันนี้ เราได้เรียนรู้อะไรจากเขาเหล่านั้น

-สินค้าและบริการใดที่ผู้คนหลงใหล ครั่งไคร้ และใช้กันมากในวันนี้ อาจไม่มีใครรู้จักเลยในวันหน้า

-แบรนด์ที่ว่าแน่ ก็อาจแพ้ใจคนที่โลเล แล้วบังเอิญคนส่วนใหญ่ในสมัยนี้ก็รักง่าย หน่ายเร็วเสียด้วย

-คน เป็นปัจจัยสำคัญสุดในทุกๆเรื่อง แต่อาจไม่ใช่ทุกคนที่ถูกเลือกให้ได้ไปต่อ แล้วตัวคุณล่ะ

-เครื่องจักรและหุ่นยนต์อาจคิดเองไม่ได้ในวันนี้ แต่พรุ่งนี้ไม่แน่ เมื่อเราสอนให้มันเรียนรู้ได้ในทุกเรื่อง

-เคยคิดว่าเกษตรคือการเพาะปลูก แต่อาจไม่ถูกเสมอไป เมื่อบางอย่างมันสังเคราะห์ขึ้นมาได้ และใช้เวลาไม่นาน

-ใช่อายุเป็นเพียงตัวเลข เราจึงมีผู้บริหารอายุ 20 ต้นๆ และมีคนทำงานหลังวัยเกษียณเพิ่มขึ้น แล้วตัวเราตอนนี้ล่ะอยู่ในวัยไหน จะต้องเตรียมตัวเองอย่างไร

 

เมื่อนั้นทักษะที่มีก็ต้องเปลี่ยน เรียนรู้กันใหม่ (new skill) วัฒนธรรมที่เคยใช่ ก็ต้องไป และยอมให้แบบแผนและวิถีใหม่ๆเข้ามาแทนที่ (culture fit) องค์กรจึงต้องเร่งเครื่องแสวงหาทางออกสู่เป้าหมายใหม่ที่ยั่งยืน อย่างน้อยไปต่ออีก 10 หรือ 20 ปีข้างหน้าให้ได้

องค์กร 100 ปีที่สะท้อนถึงความยิ่งใหญ่และความสำเร็จที่เคยเป็นเป้าหมายขององค์กรทั่วไปในอดีต (from Good to Great) คงเปลี่ยนไป เพราะองค์กรเกิดใหม่อายุน้อย 100 ล้าน พร้อมที่จะขายกิจการให้ใครก็ได้ที่สนใจและอยากได้มัน โลกนี้จึงไม่มีอะไรจีรัง จงสนุกกันมัน และทำสิ่งต่างๆอย่างมีเป้าหมายเป็นพอ