บทเรียนจากเกษตรพันธสัญญาในอินเดีย

บทเรียนจากเกษตรพันธสัญญาในอินเดีย

การทำเกษตรพันธสัญญาของประเทศอินเดีย มีมาตั้งแต่ยุคล่าอาณานิคมอังกฤษ เริ่มจากการทำข้อตกลงกับเกษตรกรชาวอินเดีย

ให้ปลูกต้นครามเพื่อส่งให้บริษัทแปรรูปของชาวอังกฤษ โดยบริษัทให้การสนับสนุนด้านเมล็ดพันธุ์และวัตถุดิบที่จำเป็น จนทำให้เกษตรพันธสัญญาเรื่องนี้ประสบความสำเร็จเป็นเวลามากกว่า 40 ปี และเป็นจุดเริ่มต้นในการส่งเสริมให้มีการทำเกษตรพันธสัญญากับพืชอื่นในภายหลัง

สำหรับนโยบายการเกษตรของอินเดียช่วงศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา จะมีจุดเน้นอยู่ 4 ด้าน ได้แก่ การส่งเสริมให้บริษัทและเกษตรกรทำงานร่วมกันผ่านการใช้ระบบเกษตรพันธสัญญา การจัดการที่ดิน การสนับสนุนด้านเงินทุนและรับประกันด้านช่องทางการส่งสินค้าสู่ตลาดให้แก่เกษตรกร และการวิจัยและพัฒนาเพื่อเพิ่มผลิตภาพการผลิตของภาคเกษตร

การทำเกษตรพันธสัญญาในอินเดียได้รับความนิยมมากขึ้นในหมู่เกษตรกร หลังจาก Pepsico เข้ามาทำเกษตรพันธสัญญาในประเทศอินเดีย จนมีการพัฒนาระบบการทำเกษตรพันธสัญญาที่มีความหลากหลายมากขึ้นแก่เกษตรกร ตั้งแต่การรับซื้อสินค้าคืนจนถึงการร่วมมือกันนำวัตถุดิบจากบริษัทไปใช้ รูปแบบที่มีบริษัทเดียวในการทำสัญญาจนถึงรูปแบบการทำสัญญากับสมาคมหรือกลุ่มผู้แปรรูปในกระบวนการผลิต เช่น ผู้ผลิตวัตถุดิบ โรงงานแปรรูป ธนาคาร นายหน้าจากภาครัฐและรัฐวิสาหกิจ

รูปแบบพื้นฐานที่สุดที่ใช้กัน คือ การทำข้อตกลงสองฝ่ายระหว่างเกษตรกรและบริษัท/หน่วยงานรัฐบาล/หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ อย่างไรก็ตาม รูปแบบที่มีความครอบคลุมที่สุด คือ การทำข้อตกลงสี่ฝ่ายระหว่างเกษตรกร ผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิต โรงงานแปรรูปสินค้าเกษตรและหน่วยงานรัฐบาล/หน่วยงานรัฐวิสาหกิจ โดยเป็นการร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานรัฐบาล/หน่วยงานรัฐวิสาหกิจและบริษัท เพื่อรับซื้อสินค้าจากเกษตรกรโดยตรงแล้วจึงส่งต่อไปยังโรงงานแปรรูป 

การร่วมมือของหน่วยงานเหล่านี้ไม่ได้จำกัดแค่การรับซื้อเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการช่วยสนับสนุนด้านการผลิต โดยการจ่ายเงินแก่ผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิตเพื่อสนับสนุนความรู้ด้านการผลิตแก่เกษตรกร หรือบางกรณีจะมีการช่วยเหลือเกษตรกรชำระค่าปัจจัยการผลิตด้วย ตัวอย่างของข้อตกลงที่ใช้ระบบนี้ ได้แก่ ข้อตกลงระหว่างบริษัท Punjab Agro Foodgrains Coporation (PAFC) กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวสาลี เมื่อปี 2002 โดยเป็นการร่วมมือกันของ PAFCกระทรวงเกษตร และหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง 

ในบางกรณี การทำเกษตรพันธสัญญาที่เป็นข้อตกลง 4 ฝ่ายระหว่างเกษตรกร บริษัทแปรรูป/การตลาด ผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิต และธนาคาร อาจมีผู้แปรรูปและผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิตมาทำหน้าที่แทนบริษัทธุรกิจการเกษตร โดยที่ธนาคารจะให้เงินทุนแก่ผู้จำหน่ายปัจจัยการผลิต เพื่อเกษตรกรจะได้รับปัจจัยการผลิตในรูปของสินเชื่อ และเมื่อเกษตรกรผลิตสินค้าออกมาแล้วจะนำส่งสินค้าให้แก่บริษัทแปรรูป 

โดยบริษัทแปรรูปต้องนำเงินไปจ่ายแก่ธนาคารเนื่องจากกรรมสิทธิ์ในตัวสินค้าของเกษตรกรยังคงเป็นของธนาคารอยู่ เมื่อทุกกระบวนการเสร็จสิ้นเกษตรกรจึงได้รับเงินค่าสินค้าหลังจากหักค่าใช้จ่ายด้านปัจจัยการผลิตจากธนาคาร ซึ่งบริษัท Pepsico เป็นหนึ่งบริษัทที่มีการใช้ระบบเกษตรพันธสัญญารูปแบบนี้

อย่างไรก็ตาม การทำเกษตรพันธสัญญาในประเทศอินเดียยังมีข้อจำกัดอยู่ แม้ในทางทฤษฎีแล้ว เกษตรกรจะได้รับผลประโยชน์จากการที่ทำสัญญาทั้งในด้านของการประหยัดต้นทุนการขนส่งปัจจัยการผลิต การที่มีตลาดที่แน่นอนรองรับ มีการจัดการความเสี่ยงในการผลิต และบริษัทเองก็ได้ประโยชน์เพราะสามารถควบคุมต้นทุนการผลิต คุณภาพ และปริมาณของผลผลิตได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าจะมีปัญหาที่ซ่อนอยู่ ซึ่งสามารถส่งผลเสียแก่ทั้งเกษตรกรและบริษัทที่ทำสัญญา

มีหลายกรณีที่พบว่าข้อตกลงการทำสัญญาเป็นการสัญญาปากเปล่า และถึงแม้ว่าจะมีการเขียนสัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร บ่อยครั้งที่เกษตรกรไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิทางกฎหมาย เนื่องจากมีข้อบกพร่องในการบังคับใช้พันธสัญญานี้ส่งผลทำให้เกิดช่องโหว่ของสัญญาจนอาจถูกเอาเปรียบได้

ด้วยเหตุนี้ ในประเทศอินเดียจึงมีเกษตรกรบางกลุ่มที่เลือกไม่ขายสินค้าให้แก่บริษัทคู่สัญญา เนื่องจากราคาในตลาดสูงกว่าราคาที่ตกลงไว้ในสัญญา และมีบริษัทบางแห่งที่ไม่รับซื้อสินค้าในปริมาณที่ตกลงกันไว้ หรือไม่ยอมรับซื้อตามราคาที่ทำสัญญาเอาไว้เนื่องจากสถานการณ์ของตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป

ประเด็นที่น่าสังเกต คือ แม้ว่าจะมีการเกิดเหตุการณ์แบบนี้ขึ้นหลายครั้งในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา แต่มีบริษัทและเกษตรกรจำนวนน้อยที่เลือกจะนำข้อขัดแย้งนี้เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ดังนั้นการทำเกษตรพันธสัญญาในประเทศอินเดีย จึงถูกขับเคลื่อนด้วยความไว้เนื้อเชื่อใจกันของเกษตรกรและบริษัทมากกว่าเนื้อหาที่ระบุไว้ในสัญญา 

โดยเกษตรกรที่มีการทำเกษตรพันธสัญญาในปัจจุบัน แทบทั้งหมดจะเป็นเกษตรกรที่ทำสัญญากับบริษัทมาเป็นเวลานาน จนมั่นใจได้ว่าทั้งสองฝ่ายจะได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างเหมาะสมตามความเป็นจริง และเมื่อข้อขัดแย้งเกิดขึ้น จะได้รับการปฏิบัติจากคู่กรณีด้วยความเป็นธรรม