ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้ ไทยถึงจะก้าวข้ามกับดักได้

ต้องแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำให้ได้ ไทยถึงจะก้าวข้ามกับดักได้

ถึงปัญหาสัดส่วนคนยากจนแบบไม่มีอะไรจะกินเลยอาจจะลดลง แต่คนจนโดยเปรียบเทียบหรือความเหลื่อมล้ำ

 ในการกระจายทรัพย์สินและรายได้แบบรวยกระจุก จนกระจายสูงยังคงสูงมาก นี่เป็นปัญหาใหญ่ที่สุดที่นำไปสู่ปัญหาความด้อยพัฒนาทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมอื่นๆ ตามมา สถิติการสำรวจภาวะครัวเรือนของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ชี้ว่าการกระจายรายได้ของไทยในรอบ 30 ปีกลับไม่เป็นธรรมมากขึ้น คือเมื่อ 3 ทศวรรษที่แล้ว ครัวเรือนที่รวยที่สุด 10% แรกเคยมีรายเฉลี่ยสูงกว่าครัวเรือนที่จนที่สุด 10% สุดท้าย 20 เท่า แต่ในปี 2554 ความเหลื่อมล้ำต่ำสูงดังกล่าวได้เพิ่มเป็น 21 เท่า ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจไทยโดยรวมเติบโตมาตลอดในอัตราเฉลี่ยที่ค่อนข้างสูงกว่าหลายประเทศ

ไทยเป็นประเทศที่มีการกระจายรายได้ไม่เป็นธรรมสูงมาก อยู่ลำดับที่ 162 จาก 174 ประเทศ ต่ำกว่าญี่ปุ่น (อันดับ 11) เวียดนาม (อันดับ 34) เกาหลีใต้ ฯลฯ นี่เป็นเรื่องใหญ่กว่าปัญหาความเป็นธรรมมองในแง่จริยธรรม ผลการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขาดความสมดุลมาก ทำให้เศรษฐกิจสังคมไทยไม่สามารถพัฒนาต่อได้อย่างดีพอ การที่คนส่วนใหญ่จน การศึกษาโดยเฉลี่ยต่ำ ประสิทธิภาพการผลิต (ผลผลิตต่อหัวแรงงาน) ต่ำ รายได้และอำนาจซื้อของประชาชนส่วนใหญ่ต่ำ ทำให้แม้ไทยจะมีประชากรมากถึง 67 ล้านคน (มากเป็นอันดับที่ 20 ของโลก) พอกับฝรั่งเศส อังกฤษ แต่ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ระดับการพัฒนาและรายได้ถัวเฉลี่ยของคนไทย อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางค่อนข้างต่ำ

ปัญหานี้ที่เกิดจากตัวระบบโครงสร้างเศรษฐกิจแบบ ทุนนิยมกึ่งผูกขาดที่เป็นบริวารทุนต่างชาติ และนโยบายเน้นการส่งเสริมให้ต่างชาติมาลงทุนด้านอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก ทำให้แม้เศรษฐกิจโดยรวมของไทยจะเจริญเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง แต่ระบบเศรษฐกิจไทยพึ่งพาและเสียเปรียบบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ ขณะที่นายทุน คนชั้นกลางรวยขึ้น คนจนจนลงโดยเปรียบเทียบ ท้องถิ่นถูกทำให้ยากจน อ่อนแอ ทั้งจากระบบการเมืองและราชการแบบรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่ส่วนกลาง และจากระบบเศรษฐกิจการเมืองแบบทุนนิยมกึ่งผูกขาดที่รวมศูนย์ความมั่งคั่งอยู่ที่นายทุน นายธนาคารขนาดใหญ่

เศรษฐกิจไทยที่อ้างว่าเป็นการค้าหรือแข่งขันเสรีแท้จริงเป็นเสรีแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา ไม่ใช่ระบบที่มีการแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่มีการปฏิรูประบบโครงสร้างเศรษฐกิจให้เกิดความสมดุล/เป็นธรรม มีแต่นโยบายหาเสียงแบบประชานิยม/ประชารัฐที่กระจายรายได้ไปให้คนรายได้ต่ำส่วนหนึ่งกู้เงินและบริโภคมากขึ้น

ประชาชนส่วนใหญ่นอกจากจะมีรายได้ปานกลางและต่ำ ยังมีทรัพย์สิน เช่น ที่ดิน เงินทุน การเป็นเจ้าของกิจการ หุ้นส่วนต่างๆ ต่ำกว่ากลุ่มคนที่รวยที่สุดอย่างมาก ที่สำคัญคือ ประชาชนได้รับการศึกษาและข้อมูลข่าวสารคุณภาพต่ำ ขาดองค์ความรู้ ความเข้าใจ ทั้งในเรื่องการประกอบอาชีพอย่างมีประสิทธิภาพ การต่อรองทางเศรษฐกิจสังคม และการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจการเมืองสังคมของประเทศ ทำให้คนไทยส่วนใหญ่ทั้งจนทั้งถูกครอบงำ ไม่รู้ว่าตนเองจนเพราะอะไร จะแก้ไขปัญหาจริงๆ ได้อย่างไร

ประชาชนถูกรัฐบาลที่ติดอยู่ในกรอบคิดการพัฒนาประเทศแนวทุนนิยมอุตสาหกรรมสุดโต่ง ครอบงำทางความคิดให้เชื่อว่า นโยบายเปิดเสรีรับการลงทุนและการค้ากับต่างประเทศ ส่งเสริมให้นายทุนต่างชาติมาลงทุนมากขึ้น และส่งออกให้ได้มากขึ้น จะทำเศรษฐกิจไทยโดยรวมเติบโต คนมีงานทำ มีรายได้สูงขึ้นตามลำดับ ความยากจนจะค่อยๆ หมดไปในที่สุด แต่ความจริงคือในรอบ 50 กว่าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโดยรวมของไทยเติบโตจริง เฉลี่ยราวปีละ 4-5% แต่การกระจายรายได้ในหมู่ประชาชนกลุ่มต่างๆ กลับเหลื่อมล้ำต่ำสูงเพิ่มขึ้น

นโยบายประชานิยมหรือประชารัฐระยะสั้นๆ เป็นเพียงการให้ยาแก้ปวด ลดปัญหาลงระดับหนึ่ง แต่ไม่ได้ผ่าตัดแก้ปัญหาทั้งรากเหง้า คือไม่ได้ปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจสังคม เช่น ปฏิรูปที่ดิน (จำกัดไม่ให้คนรวยถือมาก เก็บภาษีที่ดินในอัตราก้าวหน้า จัดสรรให้เกษตรเช่าซื้อระยะยาวในราคาต่ำหรือในรูปโฉนดชุมชนที่ต้องทำเกษตรเท่านั้นจะไปขายคนอื่นเพื่อทำธุรกิจอื่นไม่ได้) ปฏิรูประบบภาษี การคลัง การธนาคาร สถาบันการเงิน รวมทั้งระบบสหกรณ์ ให้ประชาชนเป็นเจ้าของทุน เข้าถึงแหล่งทุนที่มีต้นทุนต่ำได้ง่ายขึ้น ปฏิรูประบบประกันสังคม ประกันสุขภาพ สวัสดิการสังคมที่สามารถให้บริการประชาชนทั้งประเทศไทยอย่างเป็นธรรม เก็บภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สินรายได้จากทรัพย์สินในอัตราก้าวหน้า ปฏิรูปการจัดสรรและการรู้จักใช้ทรัพยากร งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ ที่เน้นการศึกษา อบรมการส่งเสริมการรักการอ่าน มีห้องสมุดที่มีการบริหารจัดการที่ดีทั่วประเทศ พัฒนาประชาชนให้มีความรู้และพัฒนาตนเองได้เพิ่มขึ้น

เรื่องที่สำคัญคือการปฏิรูประบบการศึกษาและฝึกอบรม แบบให้ทุกสถาบันมีคุณภาพสูงขึ้นใกล้เคียงกันทั่วประเทศ คนจนได้รับทุนสนับสนุนเพิ่มขึ้น ส่งเสริมการจัดตั้งกลุ่มสมาคมอาชีพ สหกรณ์ผู้ผลิต ผู้บริโภค สหกรณ์ออมทรัพย์ วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม บริษัทขนาดกลาง ขนาดเล็กที่มีต้นทุนต่ำลง มีประสิทธิภาพสูงขึ้น สามารถแข่งขันกับธุรกิจใหญ่ได้อย่างเป็นธรรมเพิ่มขึ้น

ควรเปลี่ยนแปลงนโยบายส่งเสริมการลงทุนการค้าเสรีแบบมือใครยาวสาวได้สาวเอา เป็นส่งเสริมการลงทุนและการค้าที่เป็นธรรม โดยเฉพาะการใช้นโยบายการคลัง ภาษี และการช่วยเหลืออื่นๆ เพิ่มความเข้มแข็งให้ผู้ผลิตขนาดกลาง ขนาดย่อม และสหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน ป้องกันและกีดกันการผูกขาดของทุนขนาดใหญ่ เก็บภาษีจากพวกเขาในอัตราก้าวหน้าขึ้น ดูแลพัฒนาเรื่องค่าจ้างแรงงาน สวัสดิการแรงงาน สวัสดิการสังคม ให้มีประสิทธิภาพและความเป็นธรรมอย่างมีวิสัยทัศน์ ว่านี่คือการพัฒนาประเทศในระยะยาว

การปฏิรูประบบเศรษฐกิจครั้งใหญ่ชนิดที่ส่งเสริมให้ประชาชน ชุมชน ท้องถิ่น เป็นเจ้าของธุรกิจ โรงงาน ฟาร์มต่างๆ ในรูปวิสาหกิจชุมชน สหกรณ์ผู้ผลิตและผู้บริโภค วิสาหกิจเพื่อสังคม จะทำให้เกิดการกระจายทรัพย์สินและรายได้ที่เป็นธรรมขึ้น ธุรกิจโดยภาคประชาชนจะคำนึงถึงประโยชน์เองคนในชุมชนและประเทศคำนึงถึงการพัฒนาทางเลือกเพื่อลดการทำลายสิ่งแวดล้อมและมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจสังคมอย่างยั่งยืน ถึงรุ่นลูกหลานได้มากกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ของนายทุนส่วนน้อย ที่สนใจแต่กำไรของธุรกิจส่วนตัวมากกว่าปัญหาทรัพยากรระบบนิเวศในท้องถิ่น ทางออกที่สำคัญโดยสรุปคือ การพัฒนาเศรษฐกิจแนวสังคมนิยมประชาธิปไตยที่เอาใจใส่การอนุรักษ์ฟื้นฟูระบบนิเวศ การกระจายทรัพย์สินรายได้ บริการทางสังคมที่เป็นธรรม เน้นคุณภาพชีวิต ความสุขความพอใจของประชาชนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นเรื่องที่แตกต่างจากการเน้นการเติบโตของมูลค่าสินค้าและบริการแบบที่ทำกันอยู่