เมื่อความจริงถูกละเลย

เมื่อความจริงถูกละเลย

พอฝรั่งเจอฤทธิ์เดชของการหาเสียงแบบความจริงมาทีหลัง อุปทานมาก่อน ก็พากันตกอกตกใจ

 ถึงขนาดที่มีการประกาศกันว่า วันนี้กลายเป็นวันที่ความจริงถูกละเลย ความเชื่อของแต่ละบุคคล กลายเป็นกลไกสำคัญสำหรับตัดสินอนาคต นักปราชญ์เมืองฝรั่งเลยกระตือรือล้นกัน ว่าจะทำอย่างไรกันดีเพื่อให้ความจริงกลับมาได้รับการเชื่อถือ และใช้สำหรับการตัดสินใจเกี่ยวกับอนาคต โดยรู้จักกันในชื่อว่า Post Truth บ้าง Post Fact บ้าง

เราเคยเชื่อกันว่าในวันที่เรามีข้อมูลข่าวสารหลั่งไหลมาอย่างมากมายเช่นในวันนี้ จากความก้าวหน้าของวงการดิจิทัล จะไม่มีใครสามารถบิดเบือนความจริงได้ แต่กลับกลายเป็นว่าความก้าวหน้าของดิจิทัลนี่แหละ ที่ทำให้ข้อมูลที่เคยคิดว่าน่าเชื่อถือ กลายเป็นข้อมูลที่น่าหวาดระแวง การสำรวจที่เมืองฝรั่งหลังจากพบเจอการหาเสียงแบบมโนมาก่อนความจริง ฝรั่งจำนวนมากบอกว่าตนเองเริ่มไม่เชื่อข้อมูลข่าวสารจากทางการบ้านเมืองของตน แถมยังพาลไปไม่เชื่อข้อมูลข่าวสารจากวงการธุรกิจอีกด้วย ที่เคยเชื่อโฆษณาในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ ก็หวาดระแวงไม่ยอมเชื่อหมดใจเหมือนเดิม ข้อมูลข่าวสารที่จริงบ้างไม่จริงบ้างจากโชเชียลมีเดีย ทำให้คนลดความเชื่อถือในข้อมูลข่าวสารจากแทบทุกแหล่ง และเมื่อไม่ทราบว่าจะเชื่อข้อมูลไหน หรือไม่เชื่อข้อมูลไหน ก็เลยลำเอียงไปทางข้อมูลที่ถูกใจ และลดความพยายามในการพิสูจน์ที่มาและความเป็นเหตุเป็นผล ยิ่งคนลำเอียงเชื่อข้อมูลตามที่ชอบมากเท่าใด ก็ยิ่งเป็นโอกาสของคนที่สนใจจะสร้างกระแสอุปทานให้เกิดขึ้นกับคนหมู่มาก

เมื่อไม่มีกลไกในการกลั่นกรองว่าอะไรน่าจะเป็นจริง อะไรน่าจะไม่จริง คนมักพยายามหาพวกที่เชื่อความจริงเหมือนๆกัน ฉันเชื่ออย่างนี้ มีใครเชื่อเหมือนฉันบ้าง โซเชียลมีเดียปลอมๆ ทั้งหลายจึงทำหน้าที่สร้างพรรคพวกปลอม ๆ มาสนองความต้องการนี้ จะสร้างหน้าเฟสบุคขึ้นมาสักร้อยสองร้อยหน้าไม่ใช่เรื่องยากในวันนี้ ใครก็ตามที่อยากสร้างกระแสอุปทานแค่ทำให้คนได้พบเจอคนอื่นที่เชื่อเหมือนตนสักหกคนเจ็ดคน แค่นั้นความจริงแบบที่อยากเชื่อก็จะกลายเป็นความจริงที่ฉันเห็นว่าคนอื่นควรจะเชื่อตามฉันไปแล้ว จะสร้างหน้าเฟสบุ๊คสักร้อยสองร้อยหน้ามาคอยกดไลท์ในตอนที่เราโฟสเราแชร์ความจริงตามที่เราอยากเชื่อก็ไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรในวันนี้ โชเชียลมีเดียจึงกลับกลายเป็นเครื่องมือสร้างความไม่จริง ให้กลายเป็นความจริง ข้อมูลมากมายหลากหลายจึงไม่ใช่แค่ไม่สามารถป้องกันเราจากความไม่จริง แต่ยังทำให้เราหลงกับความไม่จริงได้ด้วย

Post Truth หรือความจริงมาทีหลัง มโนมาก่อน เกิดขึ้นเพราะคนขาดเครื่องมือในการแยกแยะข้อมูลข่าวสารว่าอันไหนจริง อันไหนไม่จริง ถ้ามีเครื่องมือนี้ Post Truthก็ไม่เกิด เครื่องมือที่ใช้แยกแยะจริงไม่จริงนั้น เรามีใช้งานกันมานานแล้ว ในชื่อว่า Critical Thinking ซึ่งมีตำราเกี่ยวกับเรื่องนี้อยู่เยอะแยะ วันนี้ต้องกลับไปฟื้นฟูทักษะนี้กันใหม่ ยิ่งดิจิทัลก้าวไปไกลมากแค่ไหน เราก็ต้องคิดแบบ Critical กันมากยิ่งขึ้นแค่นั้น วิธีการหนึ่งที่ทำได้ทันทีคือถามตนเองเยอะๆ เกี่ยวกับข้อมูลที่เราอยากเชื่อนั้น โดยอาจเริ่มต้นว่าข้อมูลที่เราอยากเชื่อว่าเป็นความจริงนั้น มาจากใคร ใครคนนั้นดูท่าทางว่าจะมีตัวตนจริงๆ หรือไม่ ดูอย่างจริงจังให้มั่นใจว่าที่บอกกล่าวข้อมูลให้เรามานั้นมาจากคนจริง ๆ ไม่ใช่มาจากตัวปลอมที่ไม่ใช่คนจริง ๆในโซเชียลมีเดีย ถ้าพอจะแน่ใจแล้วว่าเราได้ข้อมูลมาจากคนจริงๆ ก็ถามต่อไปว่าแล้วอะไรทำให้ใครคนนั้นต้องบอกกล่าวข้อมูลนั้น ใครคนนั้นได้ประโยชน์อะไรจากการที่เราเชื่อว่าข้อมูลนั้นเป็นความจริง ทำไมใครคนนั้นต้องบอกกล่าวข้อมูลนั้นในตอนนั้นตอนนี้ จากนั้นให้ถามต่อไปว่าที่มาที่ไปของข้อมูลนั้นดูมีเหตุมีผล มีตรรกหรือไม่ ถ้าพอได้ก็ถามต่อไปว่าแล้วเราได้อะไรจากข้อมูลนั้น ถ้าข้อมูลนั้นเป็นความจริงจริง ๆ

จะแยกแยะว่าข้อมูลไหนจริง ไม่จริง ก็แค่ใส่ใจถามตนเองเยอะๆ ก่อนปักใจเชื่อว่าเป็นความจริง แล้วก็อยู่กับ Post Truth ได้อย่างสบาย