ทำไมเด็กสิงคโปร์จึงเก่งคณิตศาสตร์เอามาก ๆ

ทำไมเด็กสิงคโปร์จึงเก่งคณิตศาสตร์เอามาก ๆ

ช่วงนี้มีเวลาอ่านบทความทั้งภาษาไทย และต่างประเทศ เรื่องการศึกษาในโรงเรียนหลายเรื่อง

   ตั้งแต่เรื่องเปิดโอกาสให้คนที่ไม่ได้จบครูมาเป็นครูได้เลย ไม่ต้องเรียนวิชาครู คนเป็นครูโรงเรียนไม่ได้ทำหน้าทีครูแต่ทำอะไรมากมายหลายอย่างที่ไม่ใช่งานของครู จนทำให้ไม่มีเวลาสอนเด็ก การประเมิน การทดสอบ การเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่ง ต้องมีผลงานเชิงประจักษ์ ถ้าไม่มีก็ดักดาน ขึ้นเป็นผู้บริหารไม่ได้ก็ไม่ก้าวหน้า ครูก็ต้องอยู่กับกองเอกสารมากกว่าอยู่กับเด็ก และที่แรงๆก็ถึงกับกล่าวโทษว่าเป็นระบบการศึกษาที่ชั่วช้าเลวทราม ต่อให้ปฏิรูปอย่างไรก็ไม่มีทางสำเร็จเพราะคนปฏิรูปทำงานเหมือนเสมียน แล้วจะทำให้เด็กจบโรงเรียนทำอะไรได้ดีกว่างานเสมียน

ได้อ่านบทความ ทำไมเด็กสิงคโปร์จึงเก่งคณิตศาสตร์ จาก ไฟแนนเชี่ยล ไทม์ (Financial Time)ซึ่งตีพิมพ์เมื่อเดือนกรกฎาคม ปีที่แล้ว เห็นอะไรหลายอย่างที่ไม่เคยมีใครพูดมาก่อน ที่สิงคโปร์ ไม่มีใครพูดถึง สมศ. สทศ. กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เรียนและเล่น ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลาเล่น และอีกมากมายหลายอย่าง ที่บ้านเราพูดกันมากก่อนที่สรุปว่าเด็กไทยไม่เก่งคณิตศาสตร์ คะแนน PISA ล้าหลัง ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

บทความนี้แสดงให้เห็นอีกแง่มุมหนึ่ง ที่ฉายให้เห็นภาพรวมของการเรียนการสอนเด็กนักเรียนที่สิงคโปร์ที่ต่างจากที่เราเข้าใจ

เด็กสิงคโปร์ทั้งหลาย ไม่ได้แค่เลิกเรียนแล้วกลับบ้าน แต่จะเรียนเสริม และที่น่าทึ่งคือ ไม่ใช่แค่เรียนเสริมวิชาที่อ่อน แต่เสริมวิชาที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีก เด็กสิงคโปร์ไม่ได้รับการจำกัดให้ต้องตอบผิดหรือถูก แต่ดูที่หลักการและเหตุผลที่นำมาสู่คำตอบ และครูก็ให้ความสำคัญตรงนี้มากกว่าตอบถูก ห้องเรียนของเด็กสิงคโปร์ไม่มีรูปภาพอะไรมากมาย เหตุผลก็คือต้องการให้เด็กโฟกัสที่วิชาการที่เรียน ไม่วอกแวก เด็กทุกคนมีไอแพด พร้อมที่จะคำนวณผลทางคณิตศาสตร์พร้อมๆกัน เด็กสิงคโปร์ไม่เคยได้ฟังคำพูดจากครูว่าอ่อนคณิตศาสตร์ เป็นเรื่องของครูที่จะทำให้เด็กเก่งด้วยวิธีใดหรือหลายวิธี เพราะเชื่อว่าเด็กทุกคนมีความสามารถด้านคณิตศาสตร์ แต่จะค้นหาได้ด้วยวิธีไหน เป็นเรื่องที่ครูต้องทำการบ้าน ห้องเรียนของเด็กสิงคโปร์จะไม่มีเด็กมากเกินไป และจะแบ่งเป็นกลุ่มเล็กๆ เพื่อให้ครูเข้าถึงเด็กทุกคนก่อนที่เด็กจะมีปัญหา นั่นหมายความว่าโรงเรียนจะไม่รอผลรวมของเด็กในห้องว่าเป็นห้องเรียนอ่อน แต่เข้าไปแบ่งเด็กเป็นกลุ่มเล็กๆและแก้ไขโดยตรงตั้งแต่ต้น

ยังมีรายละเอียดอีกหลายอย่างที่ทำให้การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ของเด็กสิงคโปร์ได้รับการยอมรับว่าเป็นเด็กเก่ง ซึ่งแต่ละโรงเรียนอาจมีความแตกต่างกันไป

หันมาดูครูและผู้ปกครองกันบ้าง

ไม่ปรากฏว่าครูสิงคโปร์ต้องทำเอกสาร เพื่อขอผลงาน เพื่อผ่านการประเมิน เพื่อความก้าวหน้าในวิทยฐานะเหมือนบ้านเรา ทำอย่างเดียวคือโฟกัสไปที่เด็กนักเรียนแต่ละคนหรือกลุ่มเล็กๆในกลุ่มใหญ่ เรียกว่าแยกแยะกันตั้งแต่ในชั้นเรียน ก่อนทดสอบแบบรวมในชั้น มีการเรียนการสอนวิชาทางด้านมนุษย์ศาสตร์อย่างน้อยหนึ่งวิชา เพื่อให้เด็กเรียนรู้เรื่องของความสัมพันธ์ของมนุษย์ในการใช้ชีวิตและการทำงานที่เรียกว่า Soft Skills แต่ก็น้อยมากเมื่อเทียบกับการทุ่มเทให้กับการเรียนคณิตศาสตร์ และในขณะเดียวกัน ถ้าใครสนใจด้านมนุษย์ศาสตร์มากกว่าคำนวณ ก็จะเรียนวิชาทางด้านมนุษย์ศาสตร์มาก แต่ก็ต้องเรียนคำนวณด้วย ไม่เรียนไม่ได้

ส่วนพ่อแม่ผู้ปกครองจะพยายามหาโรงเรียนเกรดเอ ระดับดีเยี่ยมอย่างเช่นโรงเรียนแรฟเฟิ้ล ( Raffle) หรือโรงเรียนอื่นใดที่เก่าแก่และมีชื่อเสียง การแข่งขันเพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนเกรดเอสูงมาก ส่วนโรงเรียนที่เหลือก็จะพยายามยกระดับให้ดียิ่งๆขึ้นไป ค่าใช้จ่ายในการเรียนหนังสือสูงมาก และเมื่อรวมถึงการเรียนเสริมหลังเลิกเรียนแล้วก็ยิ่งต้องใช้จ่ายหนักมาก (มีครอบครัวน้องไปเป็นทูตที่สิงคโปร์ บอกว่าจ่ายเงินค่าเล่าเรียนลูกหนึ่งล้านบาท ได้เงินทอนกลับนิดเดียว) เด็กๆมีวินัยเรื่องการเรียนมาก ไม่ใช่เรียนๆเล่นๆ ทุกคนต้องมุ่งมั่นให้ดีที่สุด เพราะพ่อแม่ผู้ปกครองจ่ายเงินเยอะมากเพื่อให้ลูกเก่งเหนือคนอื่น ไม่ใช่แค่เก่งเหมือนคนอื่น

และสุดท้ายรัฐบาลสิงคโปร์ โดยเฉพาะนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันนาย ลี เซียน หลุง สำทับตลอดเวลาว่า บ้านเมืองเราเล็กแค่นี้ ถ้าทำไม่ได้ แล้วเราจะอยู่อย่างไร เด็กๆจะถูกซึมซับ และต้องแข่งขันกันเพื่อให้เหนือคนอื่นตลอดเวลา

ระบบการศึกษาโรงเรียนในสิงคโปร์ได้รับการยอมรับจากหลายประเทศ โดยเฉพาะอังกฤษ ที่ถึงกับลงทุนหลายร้อยล้านปอนด์เพื่อสร้างรูปแบบการเรียนรู้ของเด็กในโรงเรียนเหมือนสิงคโปร์ ผู้เขียนบทความได้วิพากษ์ว่า การเรียนการสอนของโรงเรียนสิงคโปร์ ทำให้เด็กมีความคิดที่แคบแต่ลึก ซึ่งแตกต่างจากในยุโรปและสหรัฐที่กว้างแต่ตื้น เด็กสิงคโปร์เมื่อเรียนคณิตศาสตร์จะเรียนลึกมากกว่าเด็กชาติอื่น ซึ่งช่วยให้ทำโจทย์คณิตศาสตร์แก้ปัญหาได้ดี แต่ทำให้มองโลกแคบ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะดีหรือไม่ คงต้องดูกันต่อไป