ขับเคลื่อนประเทศด้วยตัวเลขที่วัดได้

ขับเคลื่อนประเทศด้วยตัวเลขที่วัดได้

สัปดาห์นี้ที่เมืองจีน มีการประชุมใหญ่ประจำปี ของสภาประชาชนแห่งชาติ และสภาที่ปรึกษาการเมืองแห่งชาติ

 ไฮไลท์สำคัญ คือ สุนทรพจน์ที่นายกฯ หลี่เค่อเฉียง แถลงผลงานรัฐบาลต่อที่ประชุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา

จุดเด่นของสุนทรพจน์นายกฯ จีนก็คือ เต็มไปด้วยตัวเลข เพราะประเทศจีนขับเคลื่อนกันด้วยเป้าหมายตัวเลขในทุกเรื่องทุกระดับ ระดับชาติก็มีตัวเลขเป้าหมายในระดับชาติ ระดับท้องถิ่นก็มีตัวเลขเป้าหมายในเรื่องต่างๆ ไล่ลงไปตั้งแต่ชั้นมณฑลจนถึงหมู่บ้าน

เคยมีนักวิจารณ์บอกว่า รัฐบาลจีนบูชาตัวเลขมากเกินไป ทำเอานโยบายสาธารณะกลายเป็นสถิติและคณิตศาสตร์ แทนที่จะเป็นศิลปะที่สมดุลและยืดหยุ่น หลายสิบปีที่ผ่านมา ดัชนีที่รัฐบาลจีนทุกระดับให้ความสำคัญสูงสุดคือ ตัวเลข GDP ผู้นำท้องถิ่นคนไหนจะได้เลื่อนตำแหน่ง ก็ดูว่าใครปั่นตัวเลขการเติบโตของ GDP ในพื้นที่ได้สูงกว่ากัน ผลเสียก็คือ จีนหลงลืมต้นทุนและคุณค่าอื่น เช่น ต้นทุนด้านสิ่งแวดล้อม นี่ยังไม่นับข้อครหาว่าตัวเลขต่างๆ ของรัฐบาลจีนเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน

แต่หลายคนมองว่า มีตัวเลขที่ชัดเจนยังไงก็ดีกว่ามีแต่ลมปาก นอกจากนั้น ช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลจีนก็ค่อยๆ ปรับตัว จากที่เคยใช้ตัวเลข GDP เป็นหลัก ตอนนี้ก็เปลี่ยนมาใช้ตัวชี้วัดที่หลากหลายคลอบคลุมในแต่ละด้านมากขึ้น ทีมงานนโยบายของจีนเห็นว่า การใช้ตัวชี้วัดน่ะดีแล้ว เพียงแต่ต้องเลือกตัวชี้วัดที่ถูกต้อง หลากหลาย และรอบด้าน เพราะถ้าไม่วัดผลงานเป็นตัวเลขแล้ว ก็ไม่มีทางรู้ว่าผลการปฏิบัติงานก้าวหน้าตามแผนจริงหรือไม่ และไม่รู้จะใช้อะไรเป็นตัวพิจารณาเลื่อนตำแหน่งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ต่างๆ (ยิ่งเมืองจีนไม่มีการเลือกตั้งเสียด้วย)

เราลองมาดูกันครับว่า ในรายงานปีนี้ของนายกฯ หลี่นั้น ท่านตั้งมาตรวัดเป็นตัวเลขอะไรบ้าง?

ในส่วนแรกของสุนทรพจน์เป็นการสรุปผลงานของปีที่ผ่านมา โดยผลงานสำคัญของรัฐบาลคือ ทำให้เศรษฐกิจจีนเริ่มฟื้นตัว โดยกำไรของวิสาหกิจในภาคอุตสาหกรรม จากเดิมที่ปรับลดลง 2.3% กลับมาเติบโตที่ 8.5%, การจ้างงานทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 13 ล้านตำแหน่ง, รายได้เฉลี่ยของประชากรเติบโต 6.3%

ส่วนที่สอง เป็นเป้าหมายตัวเลขของรอบปีใหม่ ได้แก่ GDP เติบโตที่ 6.5% (ตัวเลขนี้นักข่าวสนใจมากที่สุด ซึ่งผมจะอธิบายต่อไป), งบประมาณขาดดุล 3%, ควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค (CPI) ให้เพิ่มไม่เกิน 3%, ลดอัตราการใช้พลังงานของวิสาหกิจให้ได้มากกว่า 3.4%

ลดภาษีธุรกิจให้ได้ 350,000 ล้านหยวน, ลดค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่เก็บจากธุรกิจให้ได้ 200,000 ล้านหยวน ตามนโยบายลดต้นทุนให้กับธุรกิจ

ลดจำนวนคนยากจนให้ได้ 10 ล้านคนขึ้นไป, เคลื่อนย้ายคนจากชนบทเข้าเมืองให้ได้มากกว่า 13 ล้านคน, เพิ่มการจ้างงานอีก 11 ล้านตำแหน่ง, ควบคุมอัตราการว่างงานให้ต่ำกว่า 4.5%

โดยนโยบายสำคัญของรัฐบาลในปีนี้ ได้แก่

ลดการผลิตส่วนเกิน: ลดการผลิตเหล็กกล้า 50 ล้านตัน ลดการผลิตถ่านหิน 150 ล้านตัน

ลดสินค้าตกค้าง: โดยเฉพาะในภาคอสังหาริมทรัพย์ สนับสนุนให้คนชนบทย้ายเข้าอาศัยในอสังหาริมทรัพย์ในเมืองขนาดกลางและเล็ก

ลดต้นทุนภาคธุรกิจ: ลดภาษีเงินได้ให้แก่ SMEs และธุรกิจที่เน้นนวัตกรรม

ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ: โดยเฉพาะโครงสร้างธุรกิจในภาคธุรกิจไฟฟ้าและธุรกิจน้ำมัน

การลงทุนโดยภาครัฐ : ลงทุนในระบบราง 800,000 ล้านหยวน ลงทุนในถนนและทางน้ำทั่วประเทศ 18 ล้านล้านหยวน

การบริโภค : สนับสนุนให้ขยาย E-Commerce สู่ชนบท

นวัตกรรม : ส่งเสริมการทดลองใช้วัสดุใหม่ๆ ในการผลิตสินค้า, ส่งเสริมการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (AI), ส่งเสริมการพัฒนาสัญญาณ 5 G

สิ่งแวดล้อม : รัฐบาลประกาศ “สงคราม” กับมลพิษ ตั้งเป้าความเข้มข้นของค่า PM2.5 ต้องลดลงอย่างชัดเจน

สาธารณสุข : เงินอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลสำหรับคนชนบทเพิ่มจากปีละ 420 หยวน มาเป็น 450 หยวน, ขยายคลินิกสุขภาพเคลื่อนที่ให้คลอบคลุมพื้นที่ 85% ของประเทศ

ในบรรดาตัวเลขและนโยบายทั้งหมด มีเรื่องที่เป็นพาดหัวข่าวใหญ่ในเมืองจีนอยู่สองเรื่อง คือ เรื่องตัวเลข GDP กับเรื่องที่ท่านนายกฯ ประกาศ “สงคราม” กับมลพิษ

ตัวเลขการเติบโตของ GDP ที่ 6.5% นั้น เป็นเป้าหมายตัวเลข GDP ที่ต่ำที่สุดของจีนในรอบ 30 ปี นักวิเคราะห์บอกว่าเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อที่จะยังบรรลุเป้าหมายทำให้รายได้ประชาชาติในปี ค.ศ. 2020 เพิ่มจากรายได้ประชาชาติในปี ค.ศ. 2010 หนึ่งเท่าตัว (อันนี้เป็นเป้าหมายระยะยาวของรัฐบาลจีน)

นักวิเคราะห์จีนส่วนหนึ่งมองในแง่บวกว่า การปรับลดตัวเลข GDP ในครั้งนี้ ไม่ได้มาจากแรงกดดันจากปัจจัยภายนอก ดังเช่นการปรับลดตัวเลข GDP ในช่วงวิกฤติการเงินโลก แต่เป็นความตั้งใจของรัฐบาลเองที่จะให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเชิงโครงสร้างมากกว่าการเพิ่ม “ปริมาณ” ตัวเลข GDP

โดยเฉพาะการปฏิรูปเชิงโครงสร้างที่สำคัญ คือการปฏิรูปด้านอุปทาน (supply-side reform) ซึ่งได้แก่ การลดการผลิตส่วนเกิน ลดสินค้าตกค้าง ลดต้นทุนของภาคธุรกิจ สนับสนุนการบริโภคด้วยการขยาย E-Commerce สู่ชนบท และปรับปรุงคุณภาพและนวัตกรรมสินค้า ซึ่งการตั้งเป้าหมายตัวเลข GDP ให้ต่ำลง น่าจะทำให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายเหล่านี้ได้ดีขึ้น ผู้นำทุกระดับก็ไม่ต้องมากังวลเรื่องการปั่นตัวเลข GDP จนสร้างปัญหาการผลิตเกินตัว สินค้าตกค้าง เพราะเน้นแต่อัดฉีดปริมาณและหว่านเงินเพื่อเพิ่มตัวเลข GDP กันดังในอดีต

อีกเรื่องหนึ่งที่ฮือฮา ก็คือ นายกฯ หลี่ขอประกาศ “สงคราม” กับมลพิษ โดยบอกว่าต้องกลับมาเห็นฟ้าใสอีกครั้งในจีน นับเป็นครั้งแรกที่นายกฯ ใช้คำว่า “สงคราม” ในเรื่องสิ่งแวดล้อม แสดงให้เห็นความจริงจังของรัฐบาลในเรื่องนี้ โดยนายกฯ หลี่เอง ยอมรับว่าปัญหามลพิษเป็นปัญหาสำคัญที่รัฐบาลยังทำได้ไม่ดีเท่าที่ควรในปีที่ผ่านมา

นั่งอ่านสุนทรพจน์ของนายกฯ หลี่แล้ว ผมเองก็คิดถึงท่านนายกฯ ประยุทธ์ จึงลองค้นที่ท่านแถลงผลงานรัฐบาลเมื่อเดือนกันยายน ปีที่แล้ว ซึ่งท่านได้วางเป้าหมายของรัฐบาลในปีถัดไป ตามโมเดล “ไทยแลนด์ 4.0” ประกอบด้วย 10 ภารกิจหลัก คือ 1. การเตรียม “คนไทย 4.0” สู่ประเทศโลกที่หนึ่ง, 2. การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม 3. การเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต 4. การสร้างความเข้มแข็งในวิสาหกิจไทย 5. การยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางปัญญา 6. การสร้างความเจริญเติบโตที่กระจายสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น 7. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจภายในประเทศ 8. การสร้างสังคมที่เป็นธรรม สังคมแห่งโอกาส และสังคมที่เกื้อกูลแบ่งปันกัน 9. การบูรณาการอาเซียน และการเชื่อมโยงไทยสู่ประชาคมโลก และ 10. การขับเคลื่อนประเทศ ผ่านกลไก “ประชารัฐ”

ผมว่าสุดยอดไม่น้อยหน้าท่านนายกฯ หลี่เลยนะครับ เพียงแต่ว่า นอกจากตัวเลข 4.0 ตรงข้างหลังคำว่าไทยแลนด์แล้ว ผมหาเป้าหมายตัวเลขอื่นที่เป็นรูปธรรมไม่เจอ