ทางสองแพร่ง... คสช.-ธรรมกาย

ทางสองแพร่ง... คสช.-ธรรมกาย

กลายเป็นการเผชิญหน้ากันอย่างไม่ควรจะเป็น สำหรับรัฐบาล ที่ใช้อำนาจพิเศษตามมาตรา 44

 ส่งกำลังทั้งตำรวจ ทหาร ดีเอสไอ เข้าไปปิดล้อมวัดพระธรรมกาย กับบรรดาพระและลูกศิษย์วัดที่ปกป้องวัด และพระธัมมชโยที่พวกเขาศรัทธา

นับถึงเมื่อวานก็ครบ 10 วันแล้ว นอกจากจะยังไม่ได้ตัวพระธัมมชโย ยังต้องสูญเสีย คุณลุง ที่เป็นศิษย์ธรรมกายไป 1 คนด้วย

หากละวางความถูก-ผิดของฝ่ายวัดพระธรรมกาย และพระธัมมชโยเอาไว้ก่อน จะพบว่าตอนนี้ทั้งสองฝ่ายกำลังเผชิญหน้ากันด้วยเดิมพันสูงสุด

ฝ่ายรัฐบาล หากทำไม่สำเร็จ คือไม่ได้ตัวพระธัมมชโย หรือไม่ได้เข้าไปค้นทุกซอก ทุกมุม ทุกห้องจนสิ้นสงสัย ก็ต้องถือว่า ยาแรงที่สุด” ว่าด้วยมาตรา 44 ถูกท้าทายและถูกตั้งคำถามว่า ไร้น้ำยาหรือไม่ ฉะนั้นเมื่อใช้ ยาแรงที่สุด แล้ว คำตอบจึงมีคำตอบเดียว ถอยไม่ได้!

ขณะที่ฝ่ายวัดพระธรรมกาย ถือว่าตนเองได้เปิดพื้นที่ให้เข้าตรวจค้นไปแล้ว (ช่วง 2 วันแรก) จึงไม่ยอมให้ค้นซ้ำอีก และเมื่อรัฐบาลใช้อำนาจพิเศษซึ่งเป็นอำนาจจากรัฐบาลรัฐประหาร ก็เห็นช่องที่จะสร้างความชอบธรรมในการตอบโต้ ต่อต้าน แล้วก็สร้างแนวร่วมได้ระดับหนึ่ง และยังเป็นแนวทางการต่อสู้หากพระธัมมชโยจำเป็นต้องหลบหนีไปต่างประเทศด้วย (ซึ่งปัจจุบันอาจจะไปแล้ว) เพราะเป็นน้ำหนักทำให้ขอลี้ภัยได้ง่าย

เดิมพันของวัดพระธรรมกาย คือ ป้องกันหลวงพ่อถูกจับ เพราะเชื่อว่าหากถูกจับเที่ยวนี้ ไม่ได้ประกันตัวแน่ หากเข้าห้องขังก็ต้องถูกจับสึก นอกจากนั้นยังอาจมีทรัพย์สินที่ชี้แจงไม่ได้อยู่ในวัดอีก จึงพยายามไม่ให้เข้าไปตรวจค้นซ้ำ

การใช้อำนาจตามมาตรา 44 และยังมีศิษย์ธรรมกายยอมพลีชีพ ต้องบอกว่ารัฐบาลค่อนข้างเสียเปรียบ และเหลือทางเดินเพียงไม่กี่ทาง คือ นำกำลังบุกเข้าไป หรือตรึงกำลังเอาไว้แบบนี้เรื่อยๆ แต่ก็จะลดความชอบธรรมลงเรื่อยๆ เช่นกัน

ฉะนั้นจึงยังมีอีกทางให้เลือกเดิน คือตั้งหลักกันใหม่ และใช้การเจรจาโดยคณะบุคคลที่ เป็นกลาง” ไม่ใช่มีแต่เจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจจับกุมเท่านั้น โจทย์ที่ตั้งร่วมกันคือ เข้าไปค้นจนสิ้นสงสัย โดยมี คนกลาง เข้าไปร่วมด้วย ไม่ใช่ตั้งโจทย์ที่การจับสึกพระธัมมชโย

แม้ที่ผ่านมาจะเคยใช้การเจรจาโดย “คนกลาง แล้ว แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยน น่าจะลองดูอีกครั้ง และคนกลางที่เคยทำหน้าที่ อาจจะยังมีบารมีไม่มากพอ

ขณะที่มหาเถรสมาคม ก็ควรแสดงบทบาทในภาวะวิกฤติของผู้ศรัทธา ในพระพุทธศาสนาเช่นนี้บ้าง