ภาษีน้ำหวาน: มาตรการทางเศรษฐศาสตร์แก้ปัญหาสุขภาพได้จริงหรือ

ภาษีน้ำหวาน: มาตรการทางเศรษฐศาสตร์แก้ปัญหาสุขภาพได้จริงหรือ

จากประเด็นที่ รมว.คลังระบุเดินหน้าการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตจากเครื่องดื่มที่มีปริมาณ

น้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานสุขภาพ (ภาษีน้ำหวาน) นั้น พบว่าไม่ว่าเรื่องใหม่ แต่ได้มีการคุยกันค้างไว้ตั้งแต่ต้นปี 2559

“ภาษี” ถือเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่ถูกนำมาใช้ในหลายมิติ หน้าที่หลักของภาษี คือ การจัดหารายได้ให้รัฐ ขณะที่หน้าที่รอง คือ การกระจายรายได้ และยังถูกมองเป็นการลงโทษ (Punishment) เพื่อจำกัดหรือระงับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เช่น ภาษีคาร์บอนไดออกไซด์ และภาษีในบุหรี่และสุรา เป็นต้น ในกรณีของภาษีน้ำหวานนั้น วัตถุประสงค์หลัก คือ การหวังว่าราคาของสินค้าที่ผสมน้ำตาลเกินเกณฑ์มาตรฐานจะมีราคาสูงขึ้น และตามหลักเศรษฐศาสตร์นั้น ผู้บริโภคก็ (น่าจะ) มีการลดการบริโภคสินค้าดังกล่าวลง ทำให้คนไทยมีสุขภาพดีขึ้น แม้ว่าในขณะนี้จะยังไม่มีการระบุแน่ชัดว่าจะเก็บอย่างไร แต่ได้เคยมีเกณฑ์ออกมาระบุว่า หากผสมน้ำตาลมากกว่า 6-10 กรัม และ 10 ต่อ 100 มล. จะเก็บภาษีไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 และ 25 ของราคาขายปลีก ตามลำดับ โดยเครื่องดื่มที่เสนอจัดเก็บภาษีประกอบด้วย น้ำอัดลม ชาเขียว กาแฟ เครื่องดื่มชูกำลัง นมเปรี้ยว นมถั่วเหลือง และน้ำผลไม้

ผลที่ตามมาในทันที คือ การที่ผู้ประกอบส่วนใหญ่ไม่ชอบและต่อต้าน เพราะการเก็บภาษีเป็นการบังคับให้ราคาขายปลีกสูงขึ้นโดยอัตโนมัติ ยอดขายมีโอกาสลดลง มีการปรับลดพนักงาน หรือผู้ประกอบการรายเล็กอาจต้องออกจากตลาดไป อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ มีดังต่อไปนี้

ราคาสูงขึ้นแล้วจะเลิกกินจริงหรือไม่?

แน่นอนว่า หากสินค้ามีราคาสูง ผู้บริโภคย่อมลดการบริโภค แต่ลดมาก หรือ ลดน้อย เป็นสิ่งที่ต้องทำการศึกษา ภาษีจะต้องไม่สูงไปจนทำให้ราคาสูงมากเสียจนผู้บริโภคเลิกซื้อ เพราะผู้ผลิตจะอยู่ไม่ได้ แต่ภาษีก็จะต้องไม่ต่ำจนเกินไปจนทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่า ราคาที่สูงขึ้นไม่ได้มีผลต่อการตัดสินใจ ความยากจึงอยู่ที่การกำหนดความเหมาะสมของภาษี สิ่งเหล่านี้ ภาษาวิชาการเรียกว่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ที่มีต่อราคา ซึ่งผู้บริโภคแต่ละกลุ่มจะมีการตอบสนองต่อราคาที่แพงขึ้นไม่เหมือนกัน 

ราคาชาเขียวเพิ่มขึ้นจาก 20 บาท เป็น 25 บาท อาจจะแพงในกลุ่มรายได้น้อย แต่คนรวยอาจจะไม่ทันได้สังเกตด้วยซ้ำว่าราคามันแพงขึ้น คำถามต่อมาคือ ระหว่างคนรวยกับคนจน ใครบริโภคน้ำหวานมากกว่ากัน หากคนรวยบริโภคมากกว่า ราคาที่เพิ่มขึ้นอาจไม่กระทบการตัดสินใจการบริโภค มาตรการภาษีก็จะแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เพราะการบริโภคน้ำหวานไม่ลดลง 

นอกจากนั้น มาตรการภาษีไม่สามารถเปลี่ยนใจผู้บริโภคที่ชื่นชอบหรือเสพติดความหวานได้ พวกเขาจะยอมจ่ายเงินแพงขึ้นเพื่อแลกมาซึ่งน้ำหวาน แล้วไปลดการบริโภคสินค้าอื่นทดแทน ตลาดสินค้าอื่นได้รับผลกระทบ รัฐจะมีวิธีการชดเชยอย่างไร

ภาระภาษีแบ่งอย่างไร?

ภาษีประเภทนี้คือ ภาษีทางอ้อม ผู้ประกอบการต้องตัดสินใจว่าจะผลักภาระภาษีไปให้ผู้บริโภคเท่าไหร่ จะรับเองเท่าไหร่ จะรู้ได้ก็ต่อเมื่อเข้าใจว่าพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นอย่างไร น้ำหวานเหล่านี้ไม่ใช่สินค้าจำเป็น ดื่มก็ได้ ไม่ดื่มก็ได้ ดังนั้น ราคาที่เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยสามารถลดปริมาณการบริโภคได้ค่อนข้างเยอะ นักวิชาการเห็นตรงนี้จึงเสนอไอเดียภาษีน้ำหวาน แต่มองให้ลึกกว่านั้น ผู้ผลิตก็รู้ข้อเท็จจริงนี้เช่นกัน ผู้ผลิตจึงยอมขาดทุนกำไร แบกรับภาษีน้ำตาลไว้ส่วนหนึ่ง ทำให้ราคาไม่ได้แพงขึ้นกันอย่างที่ตั้งใจไว้ ผลที่จะไปลดปริมาณการบริโภคจึงอาจไม่มากเท่าที่คำนวณไว้

ไม่ได้เติมน้ำตาลแต่มีน้ำตาล

กรณีน้ำผลไม้ถือเป็นประเด็นที่สำคัญ น้ำผลไม้ 100% คั้นสดๆ ไม่ได้เติมน้ำหวาน แต่มีน้ำตาลโดยธรรมชาติ ผู้บริโภคดื่มแล้วเกิดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนไม่ต่างจากเครื่องดื่มประเภทอื่นที่เติมน้ำตาล ผู้ประกอบการน้ำผลไม้ อาจรู้สึกว่ามาตรการดังกล่าวไม่เป็นธรรม เพราะตนไม่ได้ใส่น้ำตาลลงไปในน้ำผลไม้ ไม่ได้เกิดจากสูตรการผลิตที่ผิดพลาด และจะหาวิธีการใดที่ทำให้น้ำตาลในน้ำผลไม้ 100% ลดลงเพื่อจะได้ไม่ต้องเสียภาษีได้บ้าง ผสมน้ำเจือจางหรือไม่?

อ้วนเพราะน้ำผลไม้จริงหรือไม่?

หากผู้บริโภคเลิกกินชาเขียวรสน้ำผึ้งผสมมะนาว เพราะราคาสูงขึ้น แต่หันไปหยิบมันฝรั่งทอดซึ่งมีทั้งไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโซเดียมในปริมาณที่สูง ต่อไป รัฐบาลจะไล่เก็บภาษีในทุกสินค้าเลยหรือไม่

ตลาดเครื่องดื่มมีมูลค่าทางเศรษฐกิจปีละไม่ต่ำกว่า 2 แสนล้านบาท การเติบโตของตลาดดังกล่าวช่วยสร้างการเติบโตให้สินค้าอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมขวดพลาสติก เจ้าของและคนงานในไร่ชาเขียว ซัพพลายเออร์ส้มเขียวหวาน ผู้ปลูกกาแฟ เจ้าของฟาร์มเลี้ยงวัว ระบบขนส่งโลจิสติกส์ รวมถึงการโฆษณาซึ่งถือเป็นภาคบริการที่มีขนาดใหญ่ รัฐต้องชั่งน้ำหนักระหว่างพฤติกรรมผู้บริโภค รายได้จากภาษี และความเสียหายทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะกับผู้ประกอบการที่มีทั้งรายใหญ่ เจ้าของตลาด และรายเล็กที่เพิ่งลงทุนและเข้าสู่ตลาดได้ไม่นาน

-----------------------

วรรณพงษ์ ดุรงคเวโรจน์

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

[email protected]