ความจำเป็นของการศึกษาประวัติศาสตร์ "ใหม่"

ความจำเป็นของการศึกษาประวัติศาสตร์ "ใหม่"

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่ดำเนินมาตลอดห้าทศวรรษ มีผลทำให้สังคมไทย

เปลี่ยนแปลงอย่างไพศาลและลึกซึ้ง สังคมเกษตรกรรมชนบทได้เปลี่ยนเข้าสู่สังคมผู้ประกอบการในชนบท สังคมเมืองมีความสลับซับซ้อนทั้งในความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและทางสังคม ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและโลกก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างคาดไม่ถึง ซึ่งความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้เกิดจำเป็นที่จะต้องสร้างความรู้ใหม่ทางประวัติศาสตร์เพื่อเข้าใจและรู้เท่าทันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น พร้อมกับใช้ความรู้เป็นพลังทางปัญญาของสังคมในการปรับตัวเพื่อรองรับสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ​

พร้อมไปกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ มิติความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรมก็เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างลึกซึ้งในช่วงเวลาที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่จะแปรเปลี่ยนทวีความรวดเร็วมากขึ้น ยิ่งทำให้มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการสร้่างความรู้ความเข้าใจในปรากฏการณ์และปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น พร้อมกับเสริมสร้างศักยภาพของสังคมในการที่จะแสวงหาแนวทางในการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนให้เกิดความงอกงามทางสังคมและวัฒนธรรมที่จะเผชิญหน้าและปรับแก้ปัญหาต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น

​ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่เกิดขึ้น ได้ทำให้ระบบความหมายของสรรพสิ่งรอบตัวมนุษย์แปรเปลี่ยนไป ทั้งทางด้านกายภาพและจินตนาการ ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวของพื้นที่สาธารณะลักษณะใหม่ๆ การคมนาคมที่เปลี่ยนแบบแผนการดำเนินชีวิต หรือ วิถีอนาคตและจินตนาการเรื่องครอบครัว (family fortune )

ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์สังคม และความหมายของวัฒนธรรม ได้ก่อให้เกิดความสับสนในระบบคุณค่าทั้งหมดของสังคม การให้คุณค่าต่อสิ่งต่างๆ ว่า ควรกระทำหรือควรหลีกเลี่ยง กลายเป็นสภาวะกำกวมที่ไม่อาจจะระบุได้อย่างแจ่มชัด การดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คนจำนวนมากเป็นไปตามอารมณ์ในช่วงจังหวะหนึ่งๆ มากขึ้น ความตึงเครียดทางสังคมวัฒนธรรมทวีขึ้นมากอย่างน่าวิตก

แม้ว่าในระยะของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่ผ่านมา จนมาถึงฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) เศรษฐกิจของประเทศไทยจะได้รับการพัฒนาก้าวรุดหน้าไปมาก และแม้ว่าความรู้ทางประวัติศาสตร์ในระยะสามทศวรรษที่ผ่านมา จะมีการพัฒนาก้าวหน้าไปมาก ช่วยให้สามารถเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมอย่างลึกซึ้ง กว้างขวาง และรอบด้านมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอสำหรับการเสริมสร้างจินตนาการ มุมมอง และวิธีคิดใหม่ๆ ให้แก่คนในสังคม จนมีศักยภาพมากขึ้นที่จะเผชิญกับปัญหาทั้งหลายอย่างรู้เท่าทัน และสามารถต่อสู้หรือปรับตัวได้อย่างมีพลัง ไม่ว่าจะเป็นระดับของบุคคล กลุ่มคน ชุมชน ท้องถิ่น หรือสังคมไทยโดยรวมก็ตาม จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้างองค์ความรู้ใหม่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ เพื่อให้สามารถนำมาปรับใช้ได้กับสถานการณ์ทางสังคมที่เปลี่ยนไปดังกล่าว

ท่ามกลางความไม่เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของสังคมนี้เอง เราจึงดุ่มเดินไปอย่างไร้จุดหมาย ความพยายามจะดึงเอาระบบคุณค่าเก่ามาใช้โดยไม่เข้าใจแก่นแกนของคุณค่าก็รังแต่จะก่อปัญหามากขึ้นไปอีก เพราะการอ้างระบบคุณค่าเดิมกลายเป็นเสมือนการใช้ลูกดอกปาใส่หัวคนที่เห็นต่างออกไปอย่างไร้ความเมตตา (ซึ่งเป็นแก่นแกนของระบบคุณค่าไทย ) จำเป็นต้องกล่าวเน้นว่า เราไม่สามารถจะ “แช่แข็ง” อุดมคติความสัมพันธ์ทางสังคมไว้ในความเปลี่ยนแปลงทุกมติเช่นที่กำลังเกิดนี้ได้ เราต้องมองให้เห็นถึงแก่นแกนแล้วนำมาสู่การปรับให้คงความหมายไว้ในเงื่อนไขปัจจุบัน

หากเรามองเห็นสภาวะความตึงเครียดทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมนี้ คำถามที่สำคัญ ได้แก่ แล้วเราจะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทั้งหลายนี้ได้อย่างไร

การศึกษาประวัติศาสตร์ที่เข้มข้นจริงจังในแขนงใหม่ๆ จะช่วยเอื้ออำนวยให้สังคมเข้าใจความเป็นมาเป็นไปของปัญหาต่างๆได้ลึกกว่าการรู้และเห็นเพียงแค่ปรากฏการณ์ที่พื้นผิว (ตัวอย่างการอธิบายอะไรที่เกิดขึ้นด้วยการรับวัฒนธรรมตะวันตก ซึ่งเหลวไหลสิ้นดี)

การศึกษาประวัติศาสตร์แขนงใหม่ๆ ที่ขยายตัวมากขึ้นในโลกวิชาการสากล ซึ่งสร้างขึ้นมาได้ด้วยการใช้กรอบความเข้าใจทฤษฎีและแนวความคิดทางสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มาประยุกต์ใช้ในการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของแต่ละแขนง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาประวัติศาสตร์ความคิด ภูมิปัญญา และประวัติศาสตร์อารมณ์ ความรู้สึก และผัสสาการ จะทำให้เรามองเห็นส่วนที่ลึกลงไปในความเป็นมนุษย์และการจัดตั้งทางสังคม นักศึกษาประวัติศาสตร์ (ซึ่งไม่จำเป็นต้องเรียนประวัติศาสตร์ หากแต่ฝึกฝนการเข้าสู่ปัญหาแบบประวัติศาสตร์) ที่ผ่านการทำงานอย่างจริงจังในการทำความเข้าใจความลึกซึ้งของความเปลี่ยนแปลงนี้จะช่วยทำให้เกิดพลังในการสร้างความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทางประวัติศาสตร์ทุกมิติร่วมกันของสังคม

ขณะเดียวกัน ความเข้าใจทุกปรากฏการณ์อย่างเป็นประวัติศาสตร์ที่ลึกซึ้งเช่นนี้ จะเอื้ออำนวยให้แก่การสร้างนวัตกรรมทางสังคมที่ทั้งแก้ปัญหา และขณะเดียวกัน ก็จะเป็นพลังทางปัญหาส่งเสริมให้เกิดการปรับเปลี่ยนสังคมและวัฒนธรรมให้อยู่ร่วมกันและสร้างสรรค์สิ่งดีงามให้แก่สังคมโดยรวม

ที่กล่าวมาทั้งหมด ต้องการจะบอกต่อทุกท่านว่าสังคมไทยกำลังอยู่ในสภาวะวิกฤติที่ระบบเดิมๆ นั้น ตอบคำถามปัจจุบันได้น้อยลงๆ หนทางเดียวที่เราทั้งหมดจะช่วยผลักดันให้สังคมก้าวพ้นสภาวะหาทางออกไม่ได้ หาทางไปไม่เป็นได้แก่ การทำความเข้าใจความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างทุกมิติอย่างเป็นประวัติศาสตร์

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ใช่เพื่อจะผดุงรักษาสถานะนักศึกษาประวัติศาสตร์ หากแต่อยากจะเตือนว่าเราไปข้างหน้าไม่ได้ หากเราไม่เข้าใจ อดีต