กรอบสร้างปรองดอง เป็นไปได้หรือหรือไม่

กรอบสร้างปรองดอง เป็นไปได้หรือหรือไม่

รัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เริ่มเดินหน้าสร้างความปรองดองให้กับคนในชาติ

 ซึ่งขณะนี้เราจะเห็นคณะทำงานชุดต่างๆ ของรัฐบาลมีการประชุมและกำหนดท่าทีการทำงานเพื่อให้กระบวนการสร้างความปรองดองเกิดขึ้น และจะนำไปสู่การปฏิรูปประเทศตามที่วางไว้ตามโรดแมพ ในขณะที่ความเห็นต่อแนวทางสร้างความปรองดองในครั้งนี้มีค่อนข้างหลากหลาย ทำให้เป็นไปได้ยากที่แนวทางการสร้างความปรองดองจะเกิดเสียงเอกฉันท์ว่าเป็นแนวทางที่ควรจะเป็นสำหรับการแก้ปัญหาความขัดแย้ง

ประเด็นการสร้างความปรองดองที่สำคัญในขณะนี้ หนีไม่พ้นการสร้างความปรองดองทางการเมือง  เนื่องจากสังคมไทยยังอยู่ในภาวะความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างคนกลุ่มใหญ่ แม้ที่ผ่านมาไม่ได้มีการแสดงพลังออกมาเหมือนก่อนหน้านั้น แต่จากการจับทิศทางและความเคลื่อนไหวของกลุ่มทางการเมือง ก็จะพบว่าความขัดแย้งยังไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก กล่าวคือ เป็นความขัดแย้งแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่ายเช่นเดิม ทำให้ความหวังของฝ่ายความมั่นคงที่ต้องการให้เลิกแล้วต่อกันและกลับมาเริ่มต้นใหม่นั้นเป็นไปได้ยาก

เราต้องยอมรับว่าปัญหาความขัดแย้ง ที่จำเป็นต้องสร้างความปรองดองนั้น ก็เนื่องมาจากการเมืองในอดีตนั่นเอง แต่หลักการสร้างความปรองดองของรัฐบาลและคสช.ที่ตั้งกลไกขึ้นมานั้นดูเหมือนจะพยายามไม่ให้มีการนำประเด็นความขัดแย้งในอดีตมาพูดคุย ดังนั้น จึงกำหนดกรอบการสร้างความปรองดองในครั้งนี้คือ 1.ไม่มีเรื่องที่ผิดกฎหมาย และ 2.ไม่พูดถึงการเรื่องอภัยโทษหรือนิรโทษกรรม โดยต้องการให้ทุกฝ่ายคิดถึงประเทศเป็นเป้าหมายสำคัญ โดยเฉพาะคิดถึงเรื่องอนาคตประเทศนับจากนี้ไป

หากคณะทำงานเพื่อสร้างความปรองดองใช้กรอบดังกล่าวในการพูดคุย เราเชื่อว่าผลที่ออกมาคงไม่ได้นำไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ในการสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าปรองดองไม่ได้หมายถึงไม่เกิดความขัดแย้ง แต่จะต้องจำกัดความขัดแย้งให้อยู่ในกรอบกติกา และเราเชื่อว่าผลสรุปที่ออกมาคงไม่ต่างจากโรดแมพหรือแนวทางที่รัฐบาลและคสช.กำหนดออกมาก่อนหน้านั้น เพราะหากไม่มีการกล่าวถึงเรื่องคดีความก็จะทำให้การพูดคุยประเด็นใดก็ตามแทบไม่มีความหมาย

ดังนั้น มาตรการสร้างความปรองดองในครั้งนี้ของรัฐบาลอาจละเลยความจริงประการหนึ่ง คือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นอาจเรียกได้ว่าสถานการณ์ไม่ปกติของสังคมไทย เพราะหากนับช่วงเวลาความขัดแย้งและการเคลื่อนไหวของมวลชน เราจะพบว่ามีความแตกต่างจากในอดีตมาก ซึ่งหากรัฐบาลต้องการออกมาตรการหรือหาแนวทางแก้ไขเพื่อสร้างความปรองดองจำเป็นอย่างยิ่งต้องคิดในกรอบของสถานการณ์ไม่ปกติด้วย แต่ในทางตรงข้าม กระบวนการสร้างความปรองดองในขณะนี้กลับใช้วิธีที่ใช้กันในสภาพบ้านเมืองปกติ ทำให้เป็นได้ยากจะพูดกันรู้เรื่อง

เราเห็นว่าการสร้างความปรองดองในครั้งนี้ขึ้น รายละเอียดของมาตรการที่ออกมาว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ หากต้องการแก้ปัญหาความปรองดองอันเนื่องมาจากความขัดแย้งในอดีต รัฐบาลจำเป็นอย่างยิ่งต้องไปแก้ปมขัดแย้งในอดีต หาใช่การตัดตอนและให้มาเริ่มกันใหม่โดยไม่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เดิม โดยคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาต้องมีกรอบที่ชัดในการแยกแยะอย่างละเอียด เนื่องจากต้องมองว่าเป็นเรื่องอ่อนไหวและต้องใช้เวลาในการเยียวยาแก้ไข 

อย่างไรก็ตาม หากกรอบการสร้างความปรองดองตัดขาดจากปัญหาในอดีต เราก็เชื่อว่าความขัดแย้งที่สงบลงก็เป็นเพียงสถานการณ์ชั่วคราว เพราะต้นตอหรือเหตุการณ์ในความทรงจำของคนยังไม่ได้ถูกคลี่คลายให้น่าพอใจ และสังคมไทยก็ยังเผชิญกับภาวะเช่นนี้ไปอีกนาน