สตาร์วอร์ส:ตำนานแห่งดิจิทัล

สตาร์วอร์ส:ตำนานแห่งดิจิทัล

สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดตัวของ “โรกวัน: ตำนานสตาร์วอร์ส” อย่างสุดอลังการ

ด้วยรายได้ของสุดสัปดาห์แรกในสหรัฐที่เป็นรองเพียง “สตาร์วอร์ส เอพพิโซด 7: อุบัติการณ์แห่งพลัง” สำหรับการเปิดตัวในเดือน ธ.ค.

โรกวัน” ไม่เพียงแต่ สร้างประวัติการณ์ โดยเป็นครั้งแรกที่ภาพยนตร์สตาร์วอร์ส ไม่ได้ดำเนินเนื้อเรื่องของอัศวินเจได แต่ยังคงเป็นครั้งแรก ที่ภาพยนตร์สตาร์วอร์ส ถ่ายทำด้วยดิจิทัล หลังจากที่ดิสนีย์ ได้ซื้อลิขสิทธิของสตาร์วอร์สมาจาก จอร์จ ลูคัส

ทั้งนี้ สตาร์วอร์ส เอพพิโซด 7 จากเมื่อปีที่แล้ว เป็นการถ่ายทำด้วยฟิล์ม เพราะ เจ.เจ. แอบรัมส์ ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง ได้มีทัศนคติที่ว่า “ดิจิทัล ไม่สามารถถ่ายทำภาพยนตร์ที่มีทั้งมิติและความสวยงาม ได้เทียบเท่ากับฟิล์ม”

กว่าทศวรรษแล้ว ที่ตลาดของกล้องดิจิทัล ได้มุ่งเน้นที่ความคมชัด ที่วัดได้ด้วยเมกะพิกเซลสำหรับภาพถ่าย หรือเรียกเป็น 720P 1080P หรือ 4K สำหรับวีดิโอ แต่ตลาดมักมิได้ให้ความสำคัญกับมิติและความสวยงามของภาพ

แต่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการให้ความสำคัญในส่วนของกระบวนการที่เกิดขี้นทีหลังการถ่ายวีดิโอ (Post Processing) เพื่อปรับปรุงมิติและความสวยงามของวีดิโอให้ใกล้เคียงกับฟิล์มยิ่งขึ้น โดยเป็นกระบวนการที่เรียกกันว่า Color Grading และ Lookup Tables (LUTs) เป็นต้น

แม้ Post Processing จะไม่สามารถทำให้วีดิโอที่ถ่ายจากกล้องดิจิทัลทดแทนฟิล์มได้ทั้งหมด แต่ก็สามารถทำให้มีทั้งมิติและความสวยงามได้ใกล้เคียงกับฟิล์ม สำหรับผู้ชมทั่วไปแล้ว ย่อมไม่สามารถแยกแยะได้

การถ่ายวีดิโอ เพื่อจะนำมา Post Processing ด้วย Color Grading หรือ LUTs ได้ จำเป็นต้องใช้โหมดพิเศษ คือโหมดสีซีด (Flat Profile) เพราะเป็นการรักษามิติของแสงไว้มากที่สุด เพื่อที่จะมาทำให้สีเข้มขึ้น มีความสวยงาม ในขั้นตอนของ Post Processing

ปัจจุบันกล้องถ่ายภาพและวีดิโอ ที่สามารถใช้ Flat Profile ก็หาได้ทั่วไป เช่น Sony A7, GoPro หรือกระทั่งโดรนของ DJI แต่เป็นที่น่าเสียดาย ที่ iPhone รุ่นปัจจุบัน และสมาร์ทโฟนอีกเป็นจำนวนมาก แม้จะถ่ายวีดิโอที่มีความคมชัดได้ถึง 4K กลับยังไม่สามารถใช้ Flat Profile ได้

สำหรับผู้เขียนเองได้ใช้ความพยายามอย่างยิ่ง ที่จะแยกแยะว่า มิติและความสวยงามของวีดิโอใน โรกวัน ที่ถ่ายทำด้วยดิจิทัล มีความแตกต่างกับ สตาร์วอร์ส เอพพิโซด 7 ที่ถ่ายทำด้วยฟิล์มหรือไม่ ต้องขอตอบว่า สามารถสัมผัสได้ แต่มิใช่องค์ประกอบที่ทำให้ภาพยนตร์สนุกน้อยลงเลย เพราะ โรกวัน: ตำนานสตาร์วอร์ส เป็นภาพยนตร์ที่ไม่ควรพลาด ไม่ว่าจะสำหรับใครก็ตาม

อย่างไรก็ดี โรกวัน ก็ไม่ใช่จุดจบของฟิล์ม เพราะ สตาร์วอร์ส เอพพิโซด 8 และ เอพพิโซด 9 ก็ได้ประกาศแล้วว่า จะกลับมาใช้ฟิล์มเช่นเดียวกับ เอพพิโซด 7 ทั้งยังได้มีพัฒนาการของเทคโนโลยีฟิล์ม ที่สูงขึ้นไปกว่า เอพพิโซด 7 อีก

โดย เอพพิโซด 8 และ เอพพิโซด 9 จะใช้ฟิล์ม 65mm ที่มีความคมชัดยิ่งขึ้นไปจากฟิล์ม 35mm ของเอพพิโซด 7

สำหรับวงการภาพยนตร์นั้น สตาร์วอร์ส ต้องถือว่ามีอิทธิพลอย่างมากในการกำหนดทิศทางของเทคโนโลยี เพราะไม่เพียงแต่จะเป็นภาพยนตร์ที่มีการลงทุนสูง แต่ผู้กับกับ ไม่ว่าจะเป็น จอร์จ ลูคัส หรือ เจ.เจ. แอบรัมส์ ล้วนเป็นผู้ริเริ่มในการเลือกใช้เทคโนโลยีที่ดีที่สุดในแต่ละยุค หรือกระทั่งผลักดันให้มีการสร้างเทคโนโลยีใหม่ขึ้นมา

สตาร์วอร์ส เอพพิโซด 2 ในปี 2002 โดยเป็นผลงานของ จอร์จ ลูคัส เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกที่ถ่ายทำในระบบดิจิทัลทั้งหมด แต่ สตาร์วอร์ส เอพพิโซด 7 ในปี 2015 เป็นผลงานของ เจ.เจ. แอบรัมส์ กลับสวนกระแสโลกดิจิทัลและหวนกลับมาถ่ายทำด้วยฟิล์ม (แต่ Post Processing ในระบบดิจิทัล)

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ในปัจจุบัน กล้องถ่ายภาพและวีดิโอ ที่ผู้ใช้ทั่วไปสามารถเข้าถึงได้ ล้วนมีความสามารถที่สูงมาก และเครื่องมือในการทำ Post Processing ก็มีราคาไม่สูงมาก และไม่ต้องลงทุนในระดับ สตาร์วอร์ส ขั้นตอนการทำงาน (Workflow) สำหรับ ผู้ที่มีความคิดริเริ่ม สามารถดัดแปลงให้เกิดประโยชน์อย่างไม่รู้จบ

สำหรับผู้เขียนเอง ได้ทดลองถ่ายวีดิโอที่มีความคมชัดในระดับ HD ที่ 1080P ด้วย กล้องดิจิทัล และ Flat Profile และทำการ Post Processing ด้วย Color Grading หรือ LUTs และเลือก Capture ออกมาเป็น Frame ให้ดูเหมือนภาพถ่ายด้วยฟิล์มและโพสต์ขึ้น Facebook

กลับไม่มีใครแยกแยะได้เลยว่าที่จริงแล้วเป็นภาพที่ Capture ออกมาจากวีดิโอที่ถ่ายด้วยกล้องดิจิทัล และมิใช่ภาพที่ถ่ายเป็นภาพถ่ายด้วยฟิล์มแต่แรก

นับเป็นที่น่าเสียดาย ที่การถ่ายทำวีดิโอด้วยฟิล์ม สำหรับผู้ที่มีความสนใจจริง กลับอยู่ไกลเกินเอื้อมของคนทั่วไป