ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ : หลักกฏหมายและแนววินิจฉัย

ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ : หลักกฏหมายและแนววินิจฉัย

การกำหนดนโยบายและการบริหารประเทศของรัฐบาล และการปฏิบัติงานของข้าราชการและเจ้าพนักงาน

ของรัฐในปัจจุบัน เสี่ยงต่อการตกเป็นผู้ต้องหาและจำเลยในคดีอาญา และยังเสี่ยงต่อการที่จะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายทางแพ่งจากการกำหนดนโยบาย การบริหารงานหรือการปฏิบัติที่บกพร่องหรือผิดพลาด ดังปรากฏเป็นข่าวแทบจะทุกวัน เช่น การทุจริตโครงการทางด่วน ทุจริตโครงการบ่อบัดน้ำเสียคลองด่าน ทุจริตโครงการรับจำนำข้าว เป็นต้น จึงทำให้ไม่มีใครที่จะกล้าทุ่มเททำงานเพื่อให้เกิดความผาสุกแก่พี่น้องประชาชนอย่างเต็มที่ ดังนั้น เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องจึงขอนำเสนอประเด็นสำคัญทางกฏหมาย เกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ ดังนี้

พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 ได้กำหนดความรับผิดไว้ในสองกรณี ได้แก่ กรณีกระทำละเมิดต่อบุคคลภายนอก(มาตรา 8) และ กรณีกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ (มาตรา 10) ซึ่งทั้งสองกรณีดังกล่าวกำหนดให้ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง แต่หากเป็นประมาทเลินเล่อธรรมดาก็ไม่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว

แต่ในระบบกฏหมายไม่มีการให้นิยามความหมายของคำว่า “ประมาทเลินเล่อ” และ “ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” ไว้ จึงทำให้เกิดปัญหาในการวินิจฉัยว่า การกระทำในลักษณะใดเข้าข่ายเป็นการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงหรือไม่ จึงต้องยึดตามแนววินิจฉัยที่ผ่านมาตามคำพิพากษาศาลฎีกา คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาและคำวินิจฉัยของกระทรวงการคลัง ซึ่งสรุปคำวินิจฉัยที่ "ถือเป็นการกระทำด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” ได้ 13 กรณี ได้แก่

  1. การตรวจรับงานจ้าง การที่กรรมการตรวจการจ้างทำรายงานเสนอผู้มีอำนาจเกี่ยวกับการเพิ่มและลดงานตามสัญญาก่อสร้างอาคารโดยไม่เป็นไปตามระเบียบและไม่ตรวจสอบราคาที่แท้จริง จนเป็นเหตุให้ราชการได้รับความเสียหายเนื่องจากงานส่วนที่ลดมีราคาสูงกว่างานส่วนที่ผู้รับจ้างต้องทำเพิ่ม(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ13/2548) การที่กรรมการตรวจรับสินค้าลงชื่อตรวจรับสินค้าโดยไม่ได้ตรวจสินค้าจริง(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ338-339/2549 และคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2288/2534 วินิจฉัยคล้ายกัน)
  2. การควบคุมดูแลการปฏิบัติหน้าที่ของผู้ใต้บังคับบัญชา การที่เลขานุการไม่ตรวจสอบใบเบิกเงินที่ผู้ช่วยเลขานุการเสนอ จนเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตยักยอกเงินของทางราชการ(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ214/2549)
  3.  การอนุมัติให้จ่ายเงินของทางราชการ  การที่ผู้มีอำนาจอนุมัติจ่ายเงินของทางราชการโดยไม่ได้ตรวจสอบเอกสารหลักฐานทั้งที่ปรากฏพิรุธโดยชัดแจ้ง(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ338-339/2549)
  4.   การเก็บรักษารถยนต์ของทางราชการ การนำรถยนต์ของทางราชการไปเก็บรักษาที่บ้านพักของตนเป็นประจำทุกวัน โดยสถานที่ดังกล่าวไม่มีรั้วรอบขอบชิด เป็นเส้นทางสาธารณะที่คนทั่วไปใช้ร่วมกันและไม่ได้มีการจัดเวรยามจนเป็นเหตุให้รถยนต์ดังกล่าวถูกขโมยไป (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ362/2549)
  5. การควบคุมการปฏิบัติงานของผู้รับจ้าง ผู้ควบคุมงานก่อสร้างมีหน้าที่จดบันทึกการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมเป็นรายวันพร้อมทั้งผลการปฏิบัติงานเพื่อรายงานคณะกรรมการตรวจการจ้างทราบทุกสัปดาห์ การที่ผู้ควบคุมงานก่อสร้างไปดูแลงานบางวันและมิได้จดบันทึกการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างและเหตุการณ์แวดล้อมเป็นรายวันและบันทึกรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติงานและวัสดุที่ใช้เพื่อรายงานให้คณะกรรมการตรวจการจ้างทราบทุกสัปดาห์ถือว่าผู้ควบคุมงานไม่ได้ปฏิบัติตามระเบียบ(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ267/2550)
  6. การดูแลรักษาทรัพย์สินของทางราชการ กรณีเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่รักษาความปลอดภัยและทรัพย์สินของทางราชการได้นอนหลับในขณะปฏิบัติหน้าที่เป็นการบกพร่องต่อหน้าที่ในการดูแลรักษาความเรียบร้อยและความปลอดภัยตามที่ได้รับมอบหมายเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของทางราชการสูญหาย(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ254/2550)
  7. การควบคุมดูแลวัสดุครุภัณฑ์  การที่เจ้าหน้าที่พัสดุไม่ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่เพื่อควบคุมดูแลวัสดุครุภัณฑ์ที่อยู่ในความรับผิดชอบของตน โดยได้ส่งมอบกุญแจให้กับผู้ที่ไม่มีอำนาจหน้าที่ทั้งไม่ทำเป็นหนังสือส่งมอบให้ถูกต้องเป็นเหตุให้ทรัพย์สินของทางราชการสูญหาย(คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ อ104/2551)
  8. การส่งคืนของกลาง การที่เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิเสธไม่ส่งคืนของกลางที่ยึดไว้โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ 1567/2549)
  9. การดำเนินคดีกับผู้รับจ้าง  กรณีที่เจ้าหน้าที่พัสดุไม่ดำเนินคดีกับผู้รับจ้างที่ก่อสร้างถนนชำรุดบกพร่องให้ชำระค่าซ่อมแซมถนนจนคดีขาดอายุความ การที่ผู้บังคับบัญชาซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลการทำงานของเจ้าหน้าที่พัสดุปล่อยปละละเลยไม่ตรวจสอบการทำงานของผู้ใต้บังคับบัญชาและสั่งการให้ผู้ใต้บังคับบัญชาดำเนินการโดยไม่ตรวจสอบว่าเป็นหน้าที่ของหน่วยงานใดเป็นผู้รับผิดชอบ(คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ 1785/2550)
  10. การลงลายมือชื่อเพื่อสั่งจ่ายเช็คของทางราชการ กรณีที่ผู้มีอำนาจลงลายมือชื่อในเช็คโดยไม่ตรวจสอบว่ามีการขีดฆ่าคำว่า”หรือผู้ถือ”ออกและขีดคร่อมเช็คแล้วหรือไม่ เป็นเหตุให้มีผู้ทุจริตนำเช็คไปเบิกเงินสดจากธนาคารและนำไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัวหลายครั้ง(คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ 549/2550และคำพิพากษาศาลปกครองสงขลาที่ 72/2550)
  11. การตรวจสอบและควบคุมการบรรจุสินค้าในท่าเทียบเรือ กรณีที่เจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ตรวจสอบและควบคุมการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ไม่ได้ไปตรวจและควบคุมการบรรจุสินค้าเข้าตู้คอนเทนเนอร์ด้วยตนเอง แต่กลับลงนามรับรองการตรวจในเอกสารการส่งออกเป็นเหตุให้ผู้ส่งออกทำการทุจริต โดยนำใบขนสินค้าขาออกมาขอรับเงินชดเชยค่าภาษีอากร(คำพิพากษาศาลปกครองกลางที่ 935/2550)
  12. การมอบฉันทะหรือมอบอำนาจเกี่ยวกับการเบิกถอนเงิน  กรณีที่มีการมอบฉันทะหรือมอบอำนาจให้ผู้ใต้บังคับบัญชาไปเบิกถอนเงิน จะต้องควบคุมดูแลและใช้วิธีการที่รัดกุมรอบคอบเพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริตขึ้นได้ เมื่อผู้บังคับบัญชาไม่ควบคุมดูแลและใช้วิธีการที่รัดกุมในการป้องกันจึงไม่พ้นความรับผิด(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4293/2530)
  13. การรับจ่ายและการเก็บรักษาเงินต้องปฏิบัติตามระเบียบ  เมื่อไม่ปฏิบัติตามระเบียบและไม่รายงานผู้บังคับบัญชาให้ทราบถึงเหตุขัดข้องจนเกิดความเสียหายในเวลาต่อมา(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2158/2531)

จากแนวคำวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น จึงต้องมีการตีความว่า เจ้าหน้าที่ผู้กระทำละเมิดมีอำนาจหน้าที่และแหล่งที่มาของอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายไม่ว่าพระราชบัญญัติ พระราชกำหนด พระราชกฤษฎีกา กฎ หรือคำสั่งมอบหมายงานของผู้บังคับบัญชา และเจ้าหน้าที่ได้กระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่จากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือไม่ จากนั้น จึงจะพิจารณาการชดใช้ค่าสินไหมทดแทน

หากประมาทเลินเล่อธรรมดา ให้ค่าเสียหายตกเป็นพับแก่หน่วยงานรัฐ เจ้าหน้าที่ไม่ต้องรับผิดชอบใดๆ แต่หากประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง เจ้าหน้าที่ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งการกระทำละเมิดของตนให้แก่หน่วยงานของรัฐที่ได้รับความเสียหาย ตามที่คณะกรรมการพิจารณาความรับผิดทางแพ่งจะเป็นผู้พิจารณา

ดังนั้น หากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติหน้าที่โดยสุจริตเพื่อประชาชนและใช้ความระมัดระวังตามสมควรแห่งลักษณะงานหรือลักษณะวิชาชีพที่พึงมีแล้ว ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะต้องรับผิดใดๆจากการปฏิบัติหน้าที่ของตน

-----------------

อุดมศักดิ์ โหมดม่วง

อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฏหมายและการบังคับคดี

จังหวัดสุราษฏร์ธานี