ปัญหาเด็กเบี้ยวหนี้การศึกษา

ปัญหาเด็กเบี้ยวหนี้การศึกษา

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้ผ่านร่าง พ.ร.บ.กองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา

พ.ศ....วาระ 2 และ 3 ให้ยุบรวม พรบ. กยศ. 2541 และ พรบ. กรอ. 2548 ให้ไปอยู่ กระทรวงการคลัง เพื่อแก้ปัญหาเด็กกู้ยืมเงินแล้วไม่ใช้คืน

สนใจเรื่องนี้พอสมควรเพราะเกี่ยวกับอนาคตประเทศเหมือนกัน...ที่สหรัฐก็เป็นเรื่องใหญ่..ประธานเฟด (Fed Chair) เจเน็ต เยลเลน มาตอบคำถามคณะกรรมาธิการร่วมรัฐสภา ก็ถูกถามว่าเรื่องนี้จะทำอย่างไร เพราะเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาของเด็กอเมริกันก็สูงเกือบจะแสนล้านเหรียญแล้ว รัฐก็ต้องการให้คืนเงินกู้ยืม เด็กที่เพิ่งเรียนจบก็บอกว่าจะเอาที่ไหนมาคืน ยังหางานที่รายได้พอที่จะเหลือเงินคืนเงินกู้ยืมไม่ได้...ประเด็นนี้ ตอนผู้สมัครชิงตัวแทนพรรคเดโมแครตหาเสียงก็เห็นต่างกัน คูณคลินตันเสนอให้เงินกู้ยืมไม่ถือเป็นหนี้ของนักศึกษา แต่คุณแซนเดอร์ต้องการให้เป็นทุกคนปลดหนี้หมด (Debt-Free) ทำให้แซนเดอร์ได้ใจนักศึกษามาก คนวัยหนุ่มสาวที่เรียนมหาวิทยาลัยเทคะแนนให้เขามากกว่าให้คลินตัน จนถึงวันนี้ เมื่อคลินตันแพ้ ทรัมป์ พวกนักศึกษาก็บอกว่าถ้าแซนเดอร์ได้เป็นตัวแทนพรรค คงไม่แพ้

หันกลับมาบ้านเรา...เรื่องนี้คงเป็นปัญหาเรื้อรังอีกนาน จะบอกว่าต่อไปจะไม่มีปัญหาการเบี้ยวหนี้เงินกู้ยืม คงเป็นไปไม่ได้ ตราบใดที่นักศึกษายังไม่มีรายได้เหลือพอก็คงยืดหนี้ออกไปเรื่อยๆ ...คนจบใหม่มีความต้องการที่จะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่พึ่งตัวเองได้ก่อน เงินส่วนใหญ่ก็ลงไปที่ปัจจัยสี่เป็นหลัก เหลือจากนั้นจึงจะเป็นเงินออม และก็เงินออมนี่แหล่ะ ถ้ามีหนี้เงินกู้ยืมก็เอามาชำระคืน แต่ถ้าไม่มีเงินออม ก็คงยังไม่คืน...การที่จะออกกฎหมายมาบังคับผู้ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงานใหม่ๆ เป็นดาบสองคม ด้านหนึ่งอาจได้รับการชำระเงินคืนบ้าง แต่ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้องดำเนินคดีบังคับคดี บวกลบแล้วไม่รู้คุ้มกันแค่ไหน อีกด้านหนึ่ง เด็กที่เพิ่งทำงานก็หมดกำลังใจเพราะการใช้ชีวิตถูกกดดันเหมือนกับนักโทษหนีคดี มันควรจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ แทนที่จะทุ่มเททำงานสร้างเสริมทักษะให้ทำงานอย่างมีผลิตภาพ กลับต้องมาพะว้าพะวงถูกตามใช้หนี้ ทั้งๆที่เป็นหนี้ที่เกิดมาจากการเข้ารับการศึกษา ไม่ได้ทุจริตคิดชั่วเล่นพนันขันต่อ เพียงแต่ว่ายังไม่พร้อมที่จะชำระหนี้คืนตอนนี้

การศึกษาเป็นเรื่องการลงทุน (Investment) ไม่ใช่เรื่องค่าใช้จ่าย (Cost) การลงทุนด้านพัฒนาคน ใช้เวลานานกว่าจะคืนทุน หรืออาจไม่ได้รับคืนทุนเลย แต่ไม่ทำก็ไม่ได้...บางทีต้องหันมาคิดใหม่ว่า ถ้าเปรียบเทียบระหว่างการไม่มีเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา กับการมีเงินให้กู้ยืมแล้วเรียกเก็บหนี้กู้ยืมไม่ได้ทั้งหมด แบบไหนประเทศจะได้ประโยชน์มากกว่ากัน การลงทุนย่อมมีความเสี่ยงอยู่บ้าง การลงทุนเพื่อสร้างบุคคลากรที่เป็นอนาคตของประเทศก็เช่นกัน มันมีความเสี่ยงที่จะไม่ได้รับคืนเงินยืม แต่ถ้าหักกลบลบหนี้กันแล้ว การให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษามีประโยชน์มากกว่าก็เดินต่อ ถ้าไม่มีประโยชน์อะไรเลย เป็นต้นทุนค่าใช้จ่ายอย่างเดียว อย่างนั้นก็ยกเลิกไปเลย

เคยคิดว่า การให้กู้ยืมเงินเพื่อการศึกษาแบบเหวี่ยงแหที่ทำอยู่นี้ ไม่น่าจะเป็นสิ่งถูกต้อง เพราะเด็กทุกคนมาจากพื้นฐานครอบครัวที่ต่างกัน บางคนครอบครัวมีศักยภาพพอที่จะส่งเรียนได้อยู่แล้ว แต่เพราะโครงการนี้เปิดกว้างแบบเหมารวม ก็ทำให้ทุกคนวิ่งเข้าหาเงินกู้ยืม ยิ่งไปกว่านั้นสถาบันการศึกษาก็ใช้เรื่องนี้เป็นจุดขาย โฆษณาประชาสัมพันธ์โจ่งแจ้งว่ามาเรียนที่นี่ได้สิทธิกู้ยืมเงินแน่นอน แล้วก็เรียกเก็บเงินหรือหักเงินค่าเล่าเรียนและค่าใช้จ่ายต่างๆ ผ่านขั้นตอน จนเงินที่ตกมาถึงนักศึกษาเหลือไม่มาก...สถานศึกษาได้เงินแน่นอน ไม่ต้องคอยตามเรียกให้นักศึกษาจ่ายค่าเทอมเพราะหักจากต้นขั้วได้โดยตรง หลายแห่งผู้บริหารอู้ฟู่ขับรถเบ็นซ์เปลี่ยนรถใหม่ เรื่องคุณภาพการศึกษากลายเป็นเรื่องรอง ทั้งๆที่ควรเป็นเรื่องหลักของสถาบันการศึกษา

สิ่งที่ดีที่สุดคือการช่วยตรงระหว่างรัฐกับครอบครัวนักศึกษาเป็นรายๆ ไป รัฐจะสนับสนุนตามความต้องการสำหรับครอบครัวที่เห็นว่ามีความตั้งใจที่จะสนับสนุนเด็กให้เรียนหนังสือสูงขึ้น ครอบครัวเหล่านั้นต้องมาขึ้นทะเบียนกับรัฐ (ก.คลัง หรือหน่วยงานอื่นใดที่รับผิดชอบ) จะต้องมีการประเมินผลการเรียนประกอบกับการกู้ยืมเงิน เพื่อให้แน่ใจว่าเด็กมีศักยภาพ และครอบครัวมีความพร้อม ยกเว้นในเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะส่งเรียน นอกนั้นรัฐอาจหาทางช่วยเหลือครอบครัวให้มี่รายได้เพิ่มขึ้นเพื่อมีเงินมากพอที่จะส่งเด็กเรียนต่อ...ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็จะเป็นกรณีๆไป ไม่ใช่เหวี่ยงแห ทำให้ผู้ที่ไม่จำเป็นต้องกู้ยืมก็เข้ามาใช้สิทธิ แล้วก็เกิดปรากฏการณ์ลามไปถึงการไม่ใช้หนี้กู้ยืมเงินคืนเมื่อเรียนจบ เลียนแบบกันไปทั่ว เกิดเป็นภาระใหม่ของรัฐที่ไม่ได้เตรียมแผนรองรับไว้ล่วงหน้ามาก่อน

เทคโนโลยีสามารถช่วยให้การติดต่อสื่อสารระหว่างรัฐกับครอบครัวเด็กทำได้ไม่ยาก การตรวจสอบฐานะครอบครัวเด็กก็ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ค่าใช้จ่ายในการประเมินความต้องการก็ไม่ใช่สิ่งเหลือวิสัย แล้วทำไมเราไม่ทำ ทำไมเราต้องเหวี่ยงแหเหมารวม เราสามารถขึ้นทะเบียนคนจนนับล้านๆคนได้ ทำไมจะทำเรื่องนี้ไม่ได้ การปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรบริหารจัดการเป็นเรื่องปลายเหตุ ต่อให้เป็นองค์กรรูปแบบไหนก็แก้ไม่ได้ เพราะการบังคับเด็กที่ยังไม่พร้อมที่จะรับผิดชอบหนี้หลายๆหมื่น ก็เหมือนจับปูใส่กระด้ง เลิกเหวี่ยงแหได้แล้ว ใช้วิธีให้กู้ยืมตรงกับครอบครัวเด็กเป็นรายๆ ไปน่าจะเป็นสิ่งที่ถูกต้องมากกว่า

-----------------

ดร.เฉลิมพล ไวทยางกูร

นักวิชาการอิสระ