ปลายทางของการทำโฆษณา?

ปลายทางของการทำโฆษณา?

เร็วๆ นี้เพิ่งเกิด Case Study สุดคลาสสิคอีกครั้ง

เมื่อคุณรวิศ หาญอุตสาหะ เจ้าของแบรนด์ “ศรีจันทร์” ออกมาให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า “ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มเชื่อในการรีวิวของ Blogger น้อยลง แต่หันไปอ่านหรือเชื่อถือในการรีวิวของ Pure User (ผู้ใช้จริง) มากขึ้น เพราะบล็อกเกอร์กลายเป็นโฆษณาไปแล้ว” ซึ่งมันก็เหมือนกับช่วงหนึ่งที่ผู้บริโภคเริ่มไม่เชื่อในหนังโฆษณาที่แบรนด์ทำ

งานนี้สื่อค่อนข้างพาดหัวแรงครับ ประมาณว่า “หมดยุค Blogger ผู้บริโภคเลิกเชื่อ”

ส่วนตัวเห็นใจคุณรวิศ มากครับ เพราะบรรดาบล็อกเกอร์พากันโกรธ ไม่ได้เฉพาะด้านความงาม แต่ยังมีบล็อกเกอร์ด้านอื่นๆ เข้ามาร่วมด้วย อารมณ์ประมาณว่า "เสร็จนาฆ่าโคถึก เสร็จศึกฆ่าขุนพล .. แต่ก่อนมาร้องขอให้บรรดาบล็อกเกอร์ช่วยรีวิวสินค้าให้ แล้วพอมาตอนนี้ดังฮิตติดตลาดแล้ว ก็จัดการเท บล็อกเกอร์ทิ้งซะ!" ถึงกับมีบล็อกเกอร์กลุ่มหนึ่งออกมาเชิญชวนให้บล็อกเกอร์ด้วยกัน เทแป้งศรีจันทร์ทิ้งเลยทีเดียว

คุณรวิศ ถึงกับต้องออกมาแสดงความบริสุทธิ์ใจ ยืนยันว่า “ไม่เคยหมิ่นเกียรติบล็อกเกอร์ แต่เจตนาที่พูดกับสื่อในวันนั้น คือ การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ที่มีต่อการรับข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์” 

“สื่อต่างๆ ต้องปรับตัวไปตามสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ”

ถ้าว่ากันจริงๆแล้ว สิ่งที่คุณรวิศพูดมานั้น มันไม่ใช่เรื่องโกหกครับ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริงทั้งในและต่างประเทศ โดยภาพรวมแล้วบล็อกเกอร์ มีความน่าเชื่อถือน้อยลง อาจเป็นเพราะส่วนหนึ่ง ขยันรับงานโฆษณามากเกินไป หรือบางที“แบรนด์”เองก็บังคับบล็อกเกอร์ ให้เขียนนั้น เขียนนี่ พูดนั่น พูดนี่

พอหนักๆเข้า คนอ่านคนดูก็เริ่มจะจับไต๋ได้ จึงมองบล็อกเกอร์เป็นแค่ผู้ให้ข้อมูล ไม่ใช่เป็น Influencer ในการตัดสินใจซื้อเหมือนยุคก่อนหน้านี้

จริงๆ ถ้าบล็อกเกอร์จะโกรธคุณรวิศขนาดนี้ บล็อกเกอร์เองก็อาจจะต้องโกรธ บล็อกเกอร์ด้วยกันเองด้วยครับ เพื่อนร่วมอาชีพเดียวกันนี่แหล่ะ ที่ทำให้สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้น

ประเด็นที่น่าสนใจที่คุณรวิศพูดถึง คือ“การเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคที่มีต่อการรับข่าวสารข้อมูลต่างๆ” ซึ่งมีการพัฒนามาโดยตลอด ตั้งแต่เริ่มทำโฆษณาเกิดขึ้นในอดีตตั้งแต่ยุคอุตสาหกรรมหรือยุคโรงงาน ยุคนั้นกล่าวได้ว่า ความต้องการในตลาดมีมากกว่ากำลังการผลิต 

ดังนั้นในยุคแรกของการโฆษณา จึงไม่มีอะไรซับซ้อนมาก เพียงแค่พยายามให้คนรับรู้การมีอยู่ของสินค้า ให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ สินค้าก็พร้อมที่จะขายดิบขายดี เช่น ครีมที่ทาแล้วหน้าขาวสวย, ถุงน่องที่ใส่แล้วขาเนียน, เครื่องดื่ม ดื่มแล้วสดชื่น ฯลฯ บางทีแค่เขียนลงกระดาษ แจกเป็นใบปลิว คนอ่านก็สนใจพร้อมจะวิ่งไปซื้อสินค้าแล้ว

ต่อมาเมื่อฝั่งผู้ผลิตเริ่มผลิตสินค้าออกมามากๆ ความโดดเด่นของสินค้าเริ่มหมดลง การโฆษณาก็เริ่มทำได้ลำบากขึ้น เพราะหากทำเหมือนเดิม แต่ละเจ้าก็จะเหมือนกันไปหมด ไม่มีผู้บริโภคสนใจ 

โฆษณาในยุคถัดมาจึงเน้นไปที่เรื่อง “Unique Selling Point” กล่าวคือ คือต้องหาจุดขายให้กับตัวสินค้าด้วย เช่น ครีมหน้าขาวภายใน 7 วัน , ครีมหน้าขาวจากธรรมชาติ ใช้แล้วไม่แพ้ , ครีมหน้าขาว ฝ้าสลายหายตัว ฯลฯ

ต่อจากนั้น เมื่อการแข่งขันด้านโฆษณาทวีความรุนแรง จนกระทั่งหาจุดขาย (Unique Selling Point )ให้กับตัวสินค้ากันไม่เจอ เพราะทับซ้อนกันไปเสียหมด จึงเริ่มเดินทางเข้าสู่ยุคของโฆษณาแบบ Emotion เน้นเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก การสร้างแบรนด์ สร้างตัวตนของสินค้า เช่น เครื่องดื่มแห่งความสุข, ครีมที่ทำให้ได้มาซึ่งความรัก, รถยนต์แห่งความหรูหรา ฯลฯ โดยอาศัยการทำการตลาดแบบผสมผสานหลายสื่อ หลายช่องทาง เพื่อให้ผู้บริโภคเชื่อไปตามที่เจ้าของสินค้าคิด

กระทั่ง เดินทางมาสู่ยุคดิจิทัล ทุกๆคนสามารถเข้าถึงข้อมูลต่างๆของสินค้าได้เพียงปลายนิ้วสัมผัส อีกทั้งผู้บริโภคมีสื่อทางเลือกมากมาย จึงเลือกที่จะสนใจให้กับสิ่งที่ตัวเองสนใจจริงๆเท่านั้น วิธีการสร้างแบรนด์แบบเดิมๆ โดยเฉพาะการโฆษณาแบบขัดจังหวะหรือ โฆษณาขั้น เริ่มกลายเป็นที่น่ารังเกียจ หรือ น่ารำคาญ สำหรับคนส่วนใหญ่

จังหวะนี้เองที่ "บล็อกเกอร์"กลายเป็นสื่อที่ถูกจริตสำหรับคนกลุ่มหนึ่ง เพราะบล็อกเกอร์มีความเรียล! และเป็นตัวแทนของผู้บริโภคด้วยกันเอง ไม่รู้สึกว่านี่คือ “โฆษณา” แต่เป็นความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่เป็นผู้บริโภคเหมือนกับเราๆ ด้วยกัน แต่แล้วบล็อกเกอร์ก็เริ่มได้รับความนิยมน้อยลง ด้วยเหตุผลที่กล่าวไปแล้วข้างต้น 

คำถามที่น่าสนใจคือ ท้ายสุดแล้วผู้บริโภคจะตอบรับกับสื่อยังไง? สื่อยังมีผลต่อผู้บริโภคอีกมั้ย? การโฆษณายังจำเป็นอยู่หรือเปล่า? หรือว่าเราควรจะแค่ทำสินค้าให้ดีที่สุด จริงใจที่สุด เสร็จแล้วแค่ปล่อยให้ผู้บริโภคพูดโฆษณาให้กับเราเอง?

ปลายทางจะเป็นเช่นไร คงต้องติดตามดูกันต่อไป