มาตรการลดขยะให้ผู้ซื้อชำระค่าถุงพลาสติก

มาตรการลดขยะให้ผู้ซื้อชำระค่าถุงพลาสติก

ปัญหามลภาวะจากขยะเป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งมีความรุนแรงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่เกิดจากวิถีชีวิต

ในสังคมสมัยใหม่ ดังมีการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณการใช้ถุงพลาสติกที่ใช้กันในโลกใบนี้ในแต่ละปี ว่ามีปริมาณสูงถึงห้าแสนล้านถึงหนึ่งล้านล้านใบต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ถุงพลาสติกเหล่านี้ไม่สามารถย่อยสลายหรือถูกทำลายได้โดยง่าย จึงเกิดภาวะ “ขยะพลาสติกล้นเมือง” ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่างๆ จึงหันมาให้ความสำคัญกับมาตรการเพื่อลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติก การเก็บภาษีถุงพลาสติกหรือการใช้มาตรการจูงใจให้ลดการใช้ถุงพลาสติกลง

สำหรับประเทศไทย ในแต่ละปีมีการใช้ถุงพลาสติกประมาณมากกว่าห้าพันล้านใบ หรือประมาณสามล้านตันต่อปี ซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ สำหรับแนวทางการลดปริมาณการใช้ลงนั้น ไทยมีนโยบายลดการใช้ถุงพลาสติกด้วยวิธีการสมัครใจมาโดยตลอด ซึ่งอยู่ในรูปของการรณรงค์เพื่อสร้างจิตสำนึกเป็นหลัก แต่ดูเหมือนว่าจะเป็นวิธีการที่ไม่สามารถลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกได้มากนัก ผู้เขียนเห็นว่าหากต้องการแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ผล เราน่าจะลองพิจารณาจากประสบการณ์ของต่างประเทศ ซึ่งมีมาตรการลดใช้ถุงพลาสติกที่ใช้แล้วประสบผลสำเร็จมาเป็นแนวทางจัดการกับปัญหาดังกล่าวดูบ้าง

ขอยกตัวอย่างกรณีของสหราชอาณาจักร ซึ่งมีกฎหมายควบคุมการใช้ถุงพลาสติกที่เห็นผลอย่างมีนัยสำคัญ ดังตัวอย่างในกรณีของแคว้นเวลล์ซึ่งมีการตรากฎหมายมาตั้งแต่ปี 2011 ส่วนไอร์แลนด์เหนือและสก็อตแลนด์มีการประกาศใช้กฎหมายในปี 2013 และ 2014 ตามลำดับ มาตรการหลักที่กฎหมายนำมาใช้เพื่อลดปริมาณขยะจากถุงพลาสติก คือการกำหนดให้ผู้ซื้อต้องชำระราคาค่าถุงพลาสติกในราคา 5 เพนซ์ (ประมาณ 2.50 บาทต่อถุง) ซึ่งมีผลต่อการลดการใช้ถุงพลาสติกอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับในอังกฤษเพิ่งมีกฎหมายกำหนดให้ผู้ซื้อต้องชำระราคาค่าถุงพลาสติกเมื่อปี 2015 นี้เอง โดยสาเหตุหลักที่ทำให้ต้องออกกฎหมายดังกล่าวก็เนื่องจากในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาอังกฤษประสบปัญหาการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของอัตราการใช้ถุงพลาสติก

ทั้งนี้ กฎหมายของอังกฤษกำหนดให้ผู้ซื้อจ่ายค่าถุงพลาสติกจำนวน 5 เพนซ์ต่อถุงเช่นเดียวกัน ซึ่งถือว่าเป็นจำนวนเงินที่ไม่สูงนักเมื่อเทียบกับอัตราค่าครองชีพในอังกฤษ อย่างไรก็ดี มาตรการที่กฎหมายข้างต้นได้กำหนดขึ้นได้ส่งผลต่อพฤติกรรมของประชาชน โดยทำให้ปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลดลงมาอย่างมาก

เป็นที่น่าสังเกตว่ากฎหมายของอังกฤษฉบับนี้ใช้บังคับเฉพาะกับองค์กรธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งได้แก่บริษัทที่มีลูกจ้างประจำตั้งแต่ 250 ขึ้นไป เพื่อไม่เป็นการเพิ่มต้นทุนให้กับธุรกิจร้านค้าปลีกรายย่อยท้องถิ่นซึ่งมีประมาณ 50,000 แห่งทั่วทั้งสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ตาม มาตรการเก็บเงินค่าถุงพลาสติกนี้จะไม่ใช้กับร้านค้าในสนามบิน ในรถไฟ ในเครื่องบินหรือในเรือ ซึ่งอาจเป็นเพราะสินค้าที่ขายในสถานที่เหล่านี้มักมีราคาแพงและอาจเป็นภาระเกินสมควรสำหรับผู้ซื้อ

อีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับมาตรการให้ชำระราคาถุงพลาสติกตามกฎหมายของอังกฤษ คือ การนำเงินค่าถุงพลาสติกที่เก็บจากผู้ซื้อไปใช้ โดยเงินที่เก็บได้จะไม่ต้องถูกนำส่งเข้ารัฐแต่เอกชนผู้เก็บเงินสามารถนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะได้ตามที่เห็นสมควร แต่ต้องแจ้งการใช้เงินเหล่านั้นมายังหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบ แล้วรัฐบาลจะเผยแพร่การนำเงินที่ได้มาจากการเก็บค่าถุงพลาสติกไปใช้ในแต่ละปีเพื่อให้สาธารณชนรับรู้ร่วมกัน

นอกจากนี้ ยังมีกรณีของประเทศอื่นที่น่าสนใจ เช่น สหรัฐอเมริกา ในรัฐนิวยอร์กกำหนดให้ร้านค้าขนาดใหญ่ต้องรีไซเคิลถุงพลาสติก ในแคลิฟอร์เนียกำหนดให้ร้านค้าต้องรับคืนถุงพลาสติกจากผู้ซื้อเพื่อนำไปรีไซเคิล ผู้ซื้อสินค้าในกรุงวอชิงตันต้องจ่ายภาษีถุงพลาสติกในราคา 5 เซนต์ต่อใบ ในซานฟรานซิสโกและเวสต์พอร์ทมีการออกกฎหมายห้ามใช้ถุงพลาสติกชนิดย่อยสลายไม่ได้ ส่วนในจีนก็มีการออกกฎหมายห้ามการผลิต จำหน่ายและใช้ถุงพลาสติกที่ผลิตจากโพลีเอทธิลีนบางชนิดและให้ผู้ซื้อมีหน้าที่จะต้องชำระราคาถุงพลาสติกชนิดโพลีเทอธิลีนความหนาแน่นต่ำ มาตรการของรัฐบาลจีนทำให้ลดปริมาณการใช้ถุงพลาสติกลงได้ถึงสองในสามของปริมาณการใช้เดิม

เมื่อพิจารณาจากบริบทและทิศทางการควบคุมปริมาณการใช้ถุงพลาสติกของบางประเทศที่ผู้เขียนยกมาเป็นตัวอย่าง ดูเหมือนว่าการกำหนดให้ผู้ซื้อมีหน้าที่ชำระเงินค่าถุงพลาสติกด้วยซึ่งเป็นการเพิ่มภาระต้นทุนไปยังผู้ซื้อจะเป็นแนวทางที่มีการนำมาใช้และเห็นผลในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะมาตรการเหล่านี้ทำให้ผู้ซื้อมีความตระหนักในต้นทุนของการใช้ถุงพลาสติกและกระตุ้นให้นำวัสดุอย่างอื่น เช่น ถุงผ้ามาใช้มากขึ้น เพียงแต่ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือราคาถุงพลาสติกที่เหมาะสมในบริบทของแต่ละประเทศ รวมถึงประเด็นที่ว่าควรมีการนำเงินที่ได้จากการเก็บถุงพลาสติกไปใช้อย่างไร ซึ่งอาจจะต้องมีการกำหนดให้ชัดเจน

เชื่อว่าหากมีการนำมาตรการที่กำหนดให้ผู้ซื้อมีภาระค่าใช้จ่ายในถุงพลาสติกมาใช้ในประเทศไทย จะช่วยให้อัตราการใช้ถุงพลาสติกลดลงได้อย่างแน่นอน และจะช่วยบรรเทาความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยลงได้บ้าง ไม่มากก็น้อย

----------------------

สุรินรัตน์ แก้วทอง

คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์