Asia Wealth Corner

Asia Wealth Corner

เตรียมตัวสู่อิสรภาพ

สวัสดีครับท่านผู้อ่านที่รักทุกๆ ท่าน วันนี้ผมอยากพูดถึงเรื่องของการเตรียมตัวเพื่อการมีอิสรภาพทางการเงิน หลายคนอาจนึกถึงการเกษียณตัวเอง ซึ่งจะเรียกอย่างนั้นก็ได้ครับ การมีอิสรภาพทางการเงินมีประโยชน์หลายอย่าง ไม่ว่าเป็นการเปิดโอกาสให้เราสามารถใช้ชีวิตในสิ่งที่เราใฝ่ฝันที่จะทำมาตั้งแต่เด็ก มีเวลาที่จะอยู่กับสิ่งที่เรารักไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การอ่านหนังสือ หรือทำกิจกรรมที่อยากทำโดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องการเงิน และข้อบังคับที่ทำให้เราต้องตื่นแต่เช้าเพื่อไปทำงาน ดังนั้นการจะได้มาซึ่งการมีอิสรภาพนั้นคงต้องมีการเตรียมตัวและบริหารจัดการเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์

ความหมายของการมีอิสรภาพทางการเงินในเชิงกว้าง คือการดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องพึ่งพารายได้จากการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือบริษัทของตัวเองก็ตาม เราอาจเรียกรายได้จากส่วนนี้ว่า รายได้จากการขวนขวาย (Active income) ซึ่งมันคงเป็นไปไม่ได้ตราบใดที่เรายังคงมีค่าใช้จ่ายอยู่ นั่นก็คือเราต้องมีรายได้จากแหล่งอื่นที่เราไม่ต้องขวนขวาย ไม่ว่าจะเป็นรายได้จากดอกเบี้ย เงินปันผล บำนาญ หรือค่าเช่า ซึ่งในที่นี้ ผมจะเรียกรายได้เหล่านี้ว่า Passive income ถ้าเขียนเป็นสมการของการมีอิสรภาพทางการเงินก็คงจะได้ว่า Passive income >= ค่าใช้จ่าย

สิ่งสำคัญที่ต้องประเมินก่อน คือ รายจ่ายที่เราต้องจ่ายต่อเดือน เพื่อที่จะทำให้เราสามารถอยู่ได้อย่างอิสระ ซึ่งในการประเมินผมอยากให้เราคิดในความเป็นจริงนอกเหนือจากค่าใช้จ่ายในการกินอยู่ส่วนตัว โดยต้องรวมภาระอื่น ๆ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าการศึกษาบุตร ค่าตรวจเช็คสุขภาพ บางคนอาจต้องรวมค่าใช้จ่ายในการท่องเที่ยว และสันทนาการ

ในกรณีนี้ผมสมมติว่า เราจะมีอิสระทางการเงินและมีความสุขแบบเลี้ยงตัวเองคนเดียว โดยใช้เงินต้นทั้งหมดไม่เหลือมรดกถึงลูกหลาน เช่นต้องการใช้เงิน เดือนละ 50,000 บาท ไปอีก 30 ปี หลังเกษียณอายุครับถ้าเรารายรับ เกิน 50,000 บาทต่อเดือนก็แปลว่าเรามีอิสระทางการเงินแล้ว แต่ถ้าเราไม่มี เราต้องมีเงินประมาณ 9.3 ล้านบาทและเงินนั้นต้องนำไปลงทุนในสินทรัพย์หรือหลักทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่า 5% ต่อปี (กรณีที่เราได้รับดอกเบี้ย 5% ต่อปี เราจะได้รับดอกเบี้ยปีละ 465,000 บาท ต่อปี = เฉลี่ยเดือนละ 38,750 บาท เท่ากับว่าเราต้องดึงเงินต้นมาใช้เดือนละประมาณ 11,250 บาท จึงจะใช้จ่ายได้เดือนละ 50,000 บาท)

การจะมีเงินลงทุนให้ได้ตามเป้าที่เรากำหนดขึ้นกับตัวแปรสำคัญ 3 ตัว คือ 1. ระยะเวลาในการลงทุน 2. จำนวนเงินที่เราต้องลงทุนทุกๆเดือน 3. อัตราผลตอบแทน (ในที่นี้ไม่ได้พูดถึงความเสี่ยงหรือโอกาสที่จะไม่ได้ผลตอบแทนตามที่กำหนด) ยิ่งเรามีเวลาลงทุนนานขึ้น เช่น ถ้าเราเริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 30 โอกาสที่เราจะมีอิสระก่อนอายุ 60 ก็มีมากกว่า หรือถ้าเราลงทุนในพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนที่สูงก็จะใช้เงินลงทุนในจำนวนที่น้อยกว่า

ตัวอย่างเช่น หากเราต้องการมีเงินตั้งต้น 10 ล้านบาท เพื่อใช้คนเดียวหลังเกษียณอายุปัจจุบันเราอายุ 33 ถ้าเราต้องการมีอิสรภาพทางการเงินก่อนอายุ 58 หรือเรามีระยะเวลาในการลงทุน 25 ปี เราต้องการเงินลงทุนต่อเดือนเท่ากับ 12,400 บาทเท่านั้นถ้าพอร์ตที่เราลงทุนให้ผลตอบแทนที่ 7% แต่ถ้าเราลงทุนในพอร์ตที่ให้ผลตอบแทนที่ 3% เราต้องลงทุนต่อเดือนเพิ่มขึ้นเป็น 22,500 บาทต่อเดือน หรือต่างกันถึงเดือนละ 10,000 บาททีเดียว เช่นเดียวกันหากแทนที่เราอยากมีอิสรภาพทางการเงินเมื่ออายุ 53 หมายความว่าเรามีระยะเวลาลงทุนเหลือเพียง 20 ปีเราต้องลงทุนต่อเดือน เท่ากับ19,200 บาท และ 30,500 บาท ที่พอร์ตการลงทุนที่ให้ผลตอบแทน 7% และ 3% ตามลำดับ

ครับจะเห็นว่าหากเราต้องการมีอิสรภาพทางการเงินเราต้องมีการเตรียมตัวและมีความตั้งใจและมีวินัยทางการลงทุน ยิ่งใครเริ่มได้เร็วก็ยิ่งได้เปรียบ และอย่าลืมว่าตัวเลขที่ผมพูดถึงเป็นการใช้เงินที่เก็บจนหมดทั้งเงินต้นและผลตอบแทน ดังนั้นหากเราต้องการเหลือเงินบางส่วนไว้เพื่อเป็นมรดกให้ลูกหลานเราก็ต้องมีเงินตั้งต้นที่มากขึ้น หรือหากจำนวนเงินที่เราต้องการลงทุนในแต่ละเดือนนั้นมากกว่าที่เราจะสามารถเก็บได้ เราก็ต้องลดความต้องการลงหรือพยายามหารายได้เพิ่มขึ้น

สุดท้ายผมก็ขออวยพรให้คุณผู้อ่านทุกๆท่านประสบความสำเร็จและโชคดีในการลงทุนครับ