Strategic Moves ของApple และ Microsoft สะท้อนถึงอะไร?

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาท่านผู้อ่านคงได้ผ่านตาข่าวใหญ่ในวงการเทคโนโลยีอยู่หลายข่าวครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง
การเคลื่อนไหวของทั้ง Apple และ Microsoft ที่นอกจากจะมีนัยในด้านเทคโนโลยีแล้วยังชวนให้เราคิดกันต่อได้ในเชิงกลยุทธ์ธุรกิจต่อไปว่า ทิศทางและกลยุทธ์ของยักษ์ใหญ่ของโลกทั้ง 2 เจ้าจะไปในทิศทางไหนต่อ ดังนั้นสัปดาห์นี้ผมเลยขอนำ Strategic Moves ของทั้งสองยักษ์มาลองวิเคราะห์ดูนะครับ
เริ่มที่ Apple ก่อนแล้วกันครับ จากงาน WWDC เมื่อสัปดาห์ที่แล้วซึ่งในส่วนของรายละเอียดว่า Apple ประกาศอะไรออกมาใหม่ๆ บ้าง ท่านผู้อ่านตามอ่านได้จากผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีได้นะครับ แต่ผมมีข้อสังเกตที่ตัวสนใจอยู่หลายประการด้วยกันครับ
ประการแรกคือ Apple พยายามทำตัวเป็น Platform provider มากกว่า End-to-end integrator เหมือนในอดีตครับนั้นคือในอดีตเรารู้อยู่แล้วว่า Apple เน้นทำระบบที่เป็นระบบปิดแต่เป็นระบบปิดที่สามารถเชื่อมโยงกันได้แบบไร้รอยต่อ แต่หลังจากพบว่า App Store ซึ่งเป็น Platform หรือตัวกลางเชื่อมโยงระหว่างผู้พัฒนาซอฟค์แวร์กับผู้ใช้งานเติบโตขึ้นเรื่อยๆ แล้วมาครั้งนี้ Apple ไม่สามารถปิดตัวเองได้อีกต่อไปครับ
จากงาน WWDC ที่ผ่านมาเราจะเห็นว่า Apple ได้เปิดทีเด็ดของตัวเองหลายๆ อย่างให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์มากขึ้นทั้ง Siri หรือ iMesseges หรือ Map ที่ในอดีตไม่ยอมให้คนภายนอกเข้ามายุ่งเกี่ยวก็จะเปิดแอพเหล่านี้ให้กับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ต่างๆ สามารถเชื่อมต่อ app ของแต่ละคนเข้ากับ app หลักๆ ของ Apple ได้ครับ
การเคลื่อนไหวของ Apple ในเรื่องนี้มองได้สองประเด็นครับ มองในแง่ดีคือ Apple ให้ความสำคัญกับกลยุทธ์การเป็น Platform Provider มากขึ้น (กลยุทธ์เรื่องของการเป็น Platform Provider กำลังเป็นที่นิยมกันมากขึ้นเรื่อยๆ ครับ) เพราะมีโอกาสในการได้กำไรสูงขึ้นโดยไม่ต้องลงทุนมาก และทำให้ผู้บริโภคยิ่งผูกติดกับผลิตภัณฑ์ของตัวเองมากขึ้น แต่ถ้ามองในอีกแง่ก็อาจจะมองได้ครับว่าApple นั้นเริ่มแย่แล้วตัวเองไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้ต้องหวังพึ่งบรรดานักพัฒนาซอฟต์แวร์ให้เข้ามาช่วยมากขึ้น อีกทั้ง Apple ก็เริ่มตระหนักแล้วว่า ไม่สามารถเป็นระบบปิดแบบเดิมต่อไปได้
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสังเกตคือ Apple พยายามไล่ตามคู่แข่งขันในแต่ละด้านอย่างรวดเร็ว ตัวอย่างชัดเจนที่สุดคือ iMesseges ครับที่ในอดีตส่งได้แต่คำพูดและรูปแต่เมื่อเห็นว่าประชากรโลกส่วนใหญ่ใช้พวกแอพ message ต่างๆ ในการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้นและแต่ละแอพก็ทำได้มากกว่าส่งรูปไม่ว่าจะเป็น Facebook Messengers, Line, WeChat ทำให้ Apple ต้องหันมาพัฒนา iMessage ของตัวเองมากขึ้นครับ ซึ่งต่อไปเจ้าโปรแกรมนี้ของ Apple ก็นอกจากจะเริ่มทำได้เหมือนคู่แข่งอื่นๆ และ Apple ยังบอกด้วยว่าจะทำได้มากกว่าด้วยหรือแอพแผนที่ของ Apple ที่ก็พยายามพัฒนาเพื่อไล่ตาม Google Maps ให้ทัน
ถึงแม้แต่ละ app ของ Apple จะสู้คู่แข่งไม่ได้ แต่ข้อดีของ Apple คือเมื่อทุกอย่างรวมเข้าเป็นระบบที่เชื่อมโยงกันทั้งหมดนั้นยังไม่มีใครที่มีระบบที่สมบูรณ์แบบ เช่น Apple แต่ส่วนตัวเริ่มตั้งข้อสงสัยแล้วว่า Apple พัฒนาผลิตภัณฑ์ของตนเองไปมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น มันจะมากเกินความต้องการในการใช้งานจริงๆ ของลูกค้าหรือผู้บริโภคหรือเปล่า?
หันมาดู Microsoft บ้างครับ ส่วนตัวแล้วชอบ Strategic Moves ครั้งล่าสุดของ Microsoft มากครับ (ถ้าไม่นับเรื่องราคาที่ถือว่าสูงมาก) นั้นคือที่ MS เข้าไปซื้อ LinkedIn ด้วยมูลค่า 26.2 พันล้านดอลลาร์ LinkedIn ถือเป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์สำหรับคนทำงานที่มีสมาชิกมากกว่า 400 ล้านคนทั่วโลก และเมื่อดูแล้วบรรดาคนทำงานที่เป็นสมาชิกของ LinkedIn นั้นก็คือกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ผลิตภัณฑ์ของ Microsoft นั้นเองครับ (Office คือตัวอย่างง่ายๆ ครับ)
ลองนึกถึงโอกาสและความเป็นไปได้ที่ในอนาคตที่ข้อมูลหรือ profile ต่างๆ บน LinkedIn จะเชื่อมต่อเข้ากับ Microsoft Office ดูครับหรือที่น่าสนใจคือ LinkedIn เพิ่งซื้อ lynda.com
ในอดีตทั้ง Apple และ Microsoft ถือเป็นคู่แข่งขันกันโดยตรงในด้านซอฟต์แวร์ แต่เวลาผ่านพ้นไปทั้งคู่ก็ดูเหมือนจะเริ่มห่างจากการแข่งขันโดยตรงมากขึ้น (ยกเว้นในบางผลิตภัณฑ์) และทั้งคู่ก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า เราไม่สามารถแบ่งแยกออกไปอย่างชัดเจนได้อีกแล้วว่า บริษัทไหนอยู่ในอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งอย่างเดียว ภาวะ Industry Convegence เป็นเรื่องที่หนีไม่พ้นครับ