ความโปร่งใสในร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่

ความโปร่งใสในร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่านทุกท่าน ตอนที่แล้วเราได้ศึกษาถึงสาระสำคัญของร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ไปแล้ว

ในตอนนี้เราจะศึกษาถึงความโปร่งใสในร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่กันค่ะ

ความโปร่งใสเป็นกลไกสำคัญกลไกหนึ่งในการดำเนินการเพื่อให้เกิดการกำกับดูแลที่ดี มีประสิทธิภาพ โดยการออกกฎเกณฑ์หรือมาตรฐานต่างๆ รวมถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นธรรม ไม่เอื้อประโยชน์แก่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนอกจากนี้ ความโปร่งใสยังเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไปสามารถตรวจสอบการใช้อำนาจและการดำเนินการต่างๆ ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลได้อีกด้วย ผู้เขียนขอยกประเด็นที่น่าสนใจ 2 ประเด็นดังนี้

1) ความโปร่งใสในการแต่งตั้งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า เนื่องจากร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่กำหนดให้คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ กล่าวคือ

ก. ให้คณะกรรมการคัดสรรจำนวน 7 คน ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงพาณิชย์ปลัดกระทรวงการคลัง ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทำการคัดเลือกและนำเสนอรายชื่อของบุคคลที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจำนวน 7 คนต่อรัฐมนตรี

ข. ให้รัฐมนตรีเสนอรายชื่อผู้ที่ได้รับคัดเลือกต่อคณะรัฐมนตรีภายใน 15 วันนับแต่วันที่ได้รับการเสนอรายชื่อจากคณะกรรมการคัดสรรเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนเสนอนายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง

ค. เมื่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบกรรมการครบจำนวนแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีแต่งตั้งเป็นกรรมการ หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบไม่ครบจำนวนทั้งหมด ให้คณะกรรมการคัดสรรดำเนินการพิจารณาคัดเลือกบุคคลให้ครบจำนวนที่ยังขาดอยู่

จากขั้นตอนข้างต้นจะเห็นได้ว่า คณะกรรมการคัดสรรจำนวน 5 ใน 7 คนเป็นข้าราชการโดยตำแหน่ง และคณะรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจพิจารณาเห็นชอบกับรายชื่อที่คณะกรรมการคัดสรรเสนอมา และหากคณะรัฐมนตรีไม่เห็นชอบกับรายชื่อดังกล่าว คณะกรรมการจัดสรรมีหน้าที่ต้องคัดเลือกบุคคลใหม่มาให้ครบถ้วน จากอำนาจเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีนี้เองที่อาจทำให้เกิดข้อกังวลเกี่ยวกับความโปร่งใสในการแต่งตั้งคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า ว่าคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าขาดความเป็นอิสระจากฝ่ายการเมือง เพราะถูกส่งมาจากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะหรือไม่ ซึ่งอาจส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ประกอบธุรกิจในประเทศ และนักลงทุนจากต่างประเทศถึงความโปร่งใสในการกำกับดูแลได้

2) ความโปร่งใสในกระบวนการสืบสวนสอบสวนการพิจารณาออกคำสั่งและการวินิจฉัยอุทธรณ์ กระบวนการที่โปร่งใสนี้เป็นเงื่อนไขพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับหน่วยงานกำกับดูแลในการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าให้มีประสิทธิภาพ หนึ่งในแนวทางที่จะทำให้เกิดกระบวนการที่โปร่งใสคือ สิทธิในการได้รับโอกาสชี้แจง หรือที่เรียกว่า The right to be heard กล่าวคือ เป็นสิทธิที่ผู้ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้กระทำผิดมีโอกาสในการเสนอข้อมูลที่เกี่ยวข้องของฝ่ายตน ก่อนที่หน่วยงานกำกับดูแลจะพิจารณาออกคำสั่งที่กระทบสิทธิโดยตรงของผู้นั้น ซึ่งร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ไม่ได้ระบุสิทธิในการได้รับโอกาสชี้แจงนี้ไว้โดยเฉพาะเจาะจง แต่อาจจะเทียบเคียงได้ในส่วนอำนาจของคณะอนุกรรมการเชี่ยวชาญเฉพาะเรื่อง และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่สามารถเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำ เอกสารหรือหลักฐานอื่นใดเพื่อประกอบการพิจารณาได้

สำหรับความโปร่งใสในกระบวนการการพิจารณาออกคำสั่งและการวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นร่างกฎหมายแข่งขันทางการค้าฉบับใหม่ไม่ได้กำหนดให้มีการเปิดเผยกฎ แนวทาง หรือข้อมูลที่ใช้เป็นฐานในการพิจารณาออกคำสั่ง หรือคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งผู้เขียนเห็นว่า การออกกฎหรือแนวปฏิบัติในการพิจารณาออกคำสั่งหรือคำวินิจฉัยที่จำเป็นสมควร และไม่กระทบต่อข้อมูลอันเป็นความลับที่ได้มาระหว่างกระบวนการสืบสวนสอบสวน จะเป็นผลดีต่อสำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าที่จะมีแนวทางในการใช้ดุลยพินิจไปในทางเดียวกัน และยังสร้างความมั่นใจและความเชื่อมั่นให้แก่ผู้ประกอบธุรกิจว่าจะได้รับการพิจารณาที่เป็นธรรมอีกด้วย รวมถึงไม่มีข้อกำหนดให้ต้องเปิดเผยคำวินิจฉัย

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในด้านการใช้อำนาจวินิจฉัยอุทธรณ์ คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าอาจพิจารณาเปิดเผยคำวินิจฉัย เพื่อให้เป็นแนวทางแก่ผู้ประกอบกิจการและประชาชนผู้สนใจศึกษา ดังเช่นการเปิดเผยคำพิพากษาของศาลสูงต่างๆ หรือการเปิดเผยข้อหารือของกรมสรรพากร

อย่างไรก็ดี หลักการความโปร่งใสนี้ ควรพิจารณาควบคู่ไปกับหลักการรักษาข้อมูลอันเป็นความลับด้วย เนื่องจากกระบวนการพิจารณาด้านการแข่งขันทางการค้า จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการรักษาข้อมูลอันเป็นความลับที่น่าเชื่อถือของหน่วยงานกำกับดูแลในการเก็บรักษาข้อมูลที่ได้มาระหว่างการสืบสวนสอบสวนให้เป็นความลับ เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้เปิดเผยข้อมูล

อีกทั้งความโปร่งใสในการกำกับดูแลการแข่งขันทางการค้าไม่ได้เกิดจากบทบัญญัติในกฎหมายเพียงอย่างเดียว แต่ยังเกิดจากการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจังและเป็นธรรม มุ่งคุ้มครองประโยชน์สาธารณะอย่างแท้จริงอีกด้วย

ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า เมื่อร่างกฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับแล้ว คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าจะออกประกาศ กฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องอย่างทันท่วงที เพื่อให้สามารถบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและบรรลุวัตถุประสงค์ที่วางไว้

แล้วพบกันใหม่โอกาสหน้าค่ะ

-------------------------

อมราพร สัจจารักษ์ตระกูล

บริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด