จับตาซาอุดิ อารเบีย พลิกโฉมเศรษฐกิจที่ทันสมัย

จับตาซาอุดิ อารเบีย พลิกโฉมเศรษฐกิจที่ทันสมัย

แม้ว่าจะมีตำแหน่งเป็นรองมกุฎราชกุมาร แต่เป็นที่ทราบกันดีว่าเจ้าชายโมฮัมหมัด บิน ซัลมาน เป็นผู้ทรงอิทธิพล

มากที่สุดในซาอุดิอารเบียในเวลานี้ ด้วยอายุเพียง 30 พรรษา พระองค์ดูแลและควบคุมนโยบายที่สำคัญที่สุดของประเทศในเวลานี้ คือการทหารและน้ำมัน เมื่อเป็นเช่นนี้เท่ากับว่าเจ้าชายซัลมานได้ก้าวขึ้นมาคุมการเงินและเศรษฐกิจทุกอย่างของซาอุดิ อารเบีย

กษัตริย์ซัลมานทรงไว้พระทัยในเจ้าชายซัลมานมากที่สุด พระองค์ทรงชราภาพด้วยมีอายุ 80 พรรษาแล้ว สุขภาพลานามัยไม่สมบูรณ์ จึงเตรียมการให้เจ้าชายซัลมานได้มีโอกาสได้เรียนรู้การบริหารราชการแผ่นดินให้ได้มากที่สุดในเวลาที่รวดเร็ว ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นบทบาทที่เด่นชัดขึ้นทุกวันของเจ้าชายซัลมาน ที่ดูเหมือนว่า จะบดบังรัศมีของมกุฎราชกุมารโมฮัมหมัด บิน นาเยฟ ผู้เป็นลูกพี่ลูกน้องกัน

ในวันจันทร์ที่ 25 เมษายน เป็นวันสำคัญอย่างยิ่งของซาอุดิ อารเบีย ในภาพรวม และเจ้าชายซัลมานโดยเฉพาะ เมื่อเจ้าชายซัลมานจะจัดแถงข่าวใหญ่เพื่อพลิกโฉมนโยบายเศรษฐกิจของซาอุดิ อารเบีย ให้ทันสมัย โดยหัวใจของนโยบายหลักนี้คือ

1) ซาอุดิจะการลดการพึ่งพารายได้จากน้ำมัน และให้มีการสร้างงานใหม่

2) การตั้งกองทุนมั่งคั่งมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์

3) การแปรรูปบริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดในโลก คือ Aramco

4) การทำให้ซาอุดิ อารเบีย เป็นศูนย์กลางของระบบโลจิสติกส์ เชื่อมโยงเอเชียกับยุโรป

แม้ว่าจะเป็นประเทศผู้ร่ำรวยด้วยน้ำมัน แต่ฐานะการเงินซาอุดิ อารเบีย ตกอยู่ในสภาพที่เซเหมือนกัน หลังจากที่ราคาน้ำมันตกลงไปในระดับ 30-40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล งบประมาณแผ่นดินของซาอุดิ อารเบีย จะสมดุลย์ ถ้าหากราคาน้ำมันอยู่ที่ระดับ 100 ต่อบาร์รล ด้วยเหตุนี้ ซาอุดิ อารเบีย จำต้องล้วงลงไปในเงินถุงเงินถัง เพื่อมาโปะงบประมาณที่ขาดดุลประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ ทำให้เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของซาอุดิ อารเบีย ลดลงจาก 750,000 ล้านดอลลาร์ เหลือประมาณ 500,000 ล้านดอลลาร์กว่าๆ

สัปดาห์ผ่านมา ซาอุดิ อารเบีย ได้กู้ยืมเงิน 10,000 ล้านดอลลาร์จากตลาดบอนด์ สะท้อนให้เห็นว่าซาอุดิ อารเบีย เริ่มที่จะมีเงินสดขาดมือ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 25 ปีที่ซาอุดิ อารเบีย จำต้องขอกู้ยืมเงินจากตลาดพันธบัตรเพื่อเอามาใช้ในงบประมาณรายจ่ายที่สูงลิ่ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งงบประมาณการทหารที่มีสูงเป็นอันดับ 3 ของโลก หรือประมาณ 87,000 ล้านดอลลาร์

ประมาณ 70% ของประชาชนชาวซาอุดิ อารเบีย มีอายุต่ำกว่า 30 ปี และมีอัตราการว่างงานสูงถึง 30% สำหรับคนในวัยทำงาน ที่กินอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะนโยบายสวัสดิการสังคมของประเทศ แต่ซาอุดิ อารเบียกำลังจะค่อยๆ ตัดนโยบายสังคมที่รั่วไหล และมีค่าใช้จ่ายที่สูงมาก ด้วยเหตุนี้เจ้าชายซัลมานต้องการสร้างงาน 5 ล้านตำแหน่ง หรืองานหนึ่งตำแหน่งสำหรับประชาชนทุกๆ 6 คนในซาอุดิ อารเบีย ผ่านการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความทันสมัย และสอดคล้องกับกลไกของตลาด

กองทุนมั่งคั่งของซาอุดิ อารเบีย จะมีขนาดมหึมามากถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์ ผ่านการโอนทรัพย์สินของ Aramco บริษัทน้ำมันที่ใหญ่ที่สุดของรัฐ โดยเจ้าชายซัลมานต้องการแปรรูป Aramco โดยเอาหุ้น 5% ออกมาขายให้นักลงทุนโดยทั่วไป คาดการว่าหุ้น 5% นี้จะมีมูลค่าประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ Aramco จะแปลงร่างตัวเองเป็นบริษัทโฮลดิ้ง และจะถือหุ้นในบริษัทลูกต่างๆ ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับกิจการน้ำมัน กองทุนมั่งคั่งจะบริหารทรัพย์สินของ Aramco วิสัยทัศน์และการปฏิบัติให้เป็นจริงมีช่องว่างที่ห่างไกลกันเสมอ

ก่อนหน้านี้นักวิเคราะห์ต่างชาติมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเจ้าชายซัลมานไม่ทรงรอบคอบ มีนิสัยหุนหัน อันเห็นได้จากความผิดพลาดในการเล่นเกมทุบราคาน้ำมันร่วมกับสหรัฐ เพื่อทำลายการคลังของทั้งรัสเซียและอิหร่าน หรือประเทศผู้ผลิตน้ำมันอื่นๆ ที่มีสายป่านสั้น รวมทั้งการตัดสินใจที่จะทำสงครามกับเยเมน โดยที่ทั้ง 2 ประเด็นนี้กำลังย้อนศรกลับมากลายเป็นปัญหาที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออกของซาอุดิ อารเบีย

อย่างไรก็ตาม ก็มีคนเริ่มจะเห็นความเด็ดเดี่ยวของเจ้าชายซัลมานที่จะนำพาซาอุดิ อารเบีย ออกจากความล้าหลัง ในขณะที่ซาอุดิ อารเบีย กำลังมีปัญหาที่ขัดแย้งกันกับสหรัฐอเมริกาที่ดูแล หรือให้หลักประกันความมั่นคงกับราชวงศ์ซาอุมาตลอด

ซาอุดิ อารเบีย กำลังเปลี่ยนแปลง ท่ามกลางความอ่อนไหวในสถานการณ์สงครามในซีเรีย และอิรักที่ไม่เป็นไปตามทิศทางที่ซาอุดิ อารเบีย ต้องการ เพราะว่ารัสเซียได้กลายมาเป็นมหาอำนาจใหม่ในตะวันออกกลางแทนสหรัฐ และคู่ปรับตลอดกาลอิหร่านกำลังสยายปีกมีอำนาจและมีอิทธิพลเพิ่มขึ้น