ผู้ได้ ผู้ให้ (1)

ผู้ได้ ผู้ให้ (1)

การให้นั้นเป็นได้ในรูปแบบต่างๆ อาจจะไม่ใช่แค่ให้ด้วยเงินทอง แต่ให้ด้วยความตั้งใจทำงาน การให้ความรู้ คำสอน ธรรมะ

ให้ความช่วยเหลืออาสาสมัคร การให้ในงานของเรา

ถ้าเรามีส่วนร่วมในการให้ แม้จะเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆและมีผลเพียงเล็กน้อย แต่มันจะสะสมและส่งเสริมเราให้ไปในทางที่ดีตลอดเวลา ทำให้เราเจริญรุ่งเรืองได้

อย่างประสบการณ์ของผมเอง “การให้” ทำให้มีความเจริญรุ่งเรืองในชีวิตจริงๆ แต่ต้องบอกว่า สิ่งนี้มันจะเป็นไปตาม

“จังหวะของชีวิต” ด้วย ไม่ใช่อยู่ๆ จะสำเร็จวิชารวย เจริญรุ่งเรืองพรวดพราดกันทันที

แนวคิดเรื่องการให้ของผม มาจากสิ่งที่เป็นมรดกของคุณพ่อ เป็น “มรดกทางความคิด” ที่ถ่ายทอดกันมามรดกที่ไม่ใช่เงินทอง เช่น พ่อผมขายกระเพาะปลา พ่อก็เป็นแบบอย่างให้เราเห็นว่า ถ้าเราขายของ เราก็ต้องรับผิดชอบกับคนกิน ใช้ของคุณภาพดีกระเพาะปลาก็ต้องเป็นของแท้ ไม่ใช้หนังหมูเนื้อไก่ที่ใช้ ก็ใช้ไก่ไทย เพราะดีกว่าไก่เลี้ยง และแม้จะใช้ไก่ไทย ก็ต้องเป็นไก่ตัวเมีย เพราะถ้าเป็นไก่ตัวผู้มันแสลง 

หรือพ่อเห็นว่า คนซื้อมีเงินอยู่แค่นี้ เราก็ขายในราคาแค่นี้ ไม่ได้ขายแพงๆ หวังรวย แม้ว่าเราจะไม่มีเงินเหมือนกันสิ่งนี้เป็นมรดกทางความคิด มันซึมอยู่ในสายเลือด เป็นมรดกที่ทำให้เราเจริญก้าวหน้าในงาน

ตอนเป็นเด็ก เราก็แอบคิดว่า ลูกยังไม่มีรองเท้าใส่ไปโรงเรียน ปีนึงถึงจะมีเสื้อใหม่สักตัว ทำไมพ่อยังทำแบบนี้แต่การปลูกฝังแบบนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะพอเราไปทำงาน เราก็เป็นคนตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด ใส่ใจในงานที่ทำ “ทุกอย่าง” ตอนเป็นช่างทำบัดกรี แม้จะยังเป็นเด็ก เราก็ตั้งใจทำงาน ที่สุดมันก็ดีกับเรา ดีกับลูกค้า ดีกับนายจ้าง หรือมาทำงานร้านขายยา เราก็มีใจให้บริการ ทำเต็มที่ ไม่ว่าจะเสิร์ฟน้ำใบบัวบก หยิบยาหม่องให้ลูกค้า ลูกค้าได้รับบริการที่ดี นายจ้างก็พอใจ เราก็ได้รับคำชม

มาอยู่ร้านทอง เราก็ทำงานให้ประณีต สุดความสามารถ เมื่องานดี นายจ้างก็มอบหมายงานให้ทำมาก เราก็มีรายได้ที่เหมาะสม นี่คือการให้ในงาน เราก็เป็นคนที่เจ้าของร้านไว้วางใจ จะซ่อมแซมอะไร ก็มักได้รับความไว้วางใจเรียกใช้ตอนนั้นเลยมีเงินเก็บเยอะสิ่งเหล่านี้เป็น “การให้ในงาน” ใส่ใจในงานที่ทำ และมีใจในการให้บริการ

จากลูกจ้างร้านทอง ก็มาเรียนต่อ ตอนแรกยังไม่เห็นความสำคัญของการเรียนแต่มาคิดดูว่าอาชีพนี้ไม่สามารถทำได้ตลอดชีวิต ต้องเรียนต่อให้มีความรู้ อันนี้เป็น “การให้กับตัวเอง” จึงมาเรียนการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เวลาเรียนก็ตั้งใจเรียนตลอด ถ้าครูสอนคำนวณวิชาฟิสิกส์ผิด เรารู้ก็บอกครูไป อันนี้เป็นอานิสงส์ ทำให้ครูจำเราได้เป็นพิเศษว่าเราเป็นคนตั้งใจเรียน

พอใกล้จบที่ศีกษาผู้ใหญ่เตรียมอุดม ชีวิตพบกับความผกผันอีกครั้งหนึ่งซึ่ง

จะมาเล่าต่อในครั้งหน้าครับ