‘ฟินเทค’ (FinTech) จะเขย่าสังคมไทย

‘ฟินเทค’ (FinTech) จะเขย่าสังคมไทย

ช่วงนี้ผมเจอใคร ก็ต้องคุยเรื่องเทคโนโลยี

 ที่กำลังสร้างความ ปั่นป่วน หรือ disrupt วิถีชีวิตของคนและธุรกิจในทุกระดับ

ใครตามไม่ทันก็ต้องเผชิญกับปัญหา สมัยก่อนเขาบอกว่า “ตกรถไฟ” แต่สมัยนี้ต้องเรียกว่า “ตกสวรรค์” กันทีเดียว

ไม่ใช่แค่วงการใดวงการหนึ่งเท่านั้น ที่กำลังถูกกดดันและบังคับให้ต้องปรับตัว คนทุกวงการล้วนโดนกำหนดให้ต้องปรับเปลี่ยน และบ่อยครั้งเป็นการปรับเปลี่ยนที่รุนแรงกระทันหันด้วยซ้ำไป

นักบริหารวัย 50-60 ต้องนั่งฟังพนักงานวัย 20-25 ว่าเกิดอะไรขึ้นกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป คนรุ่นกลาง ๆ ที่ยังอยู่ใน “comfort zone” ของตัวเอง ไม่ยอมรับรู้เทคโนโยลีที่เกิดขึ้นรอบตัวคือคนยุค ไร้อนาคต อย่างไม่ต้องสงสัย

หนึ่งในหัวข้อของการสนทนาที่กำลังเป็นเรื่องใหญ่คือคำว่า ฟินเทค หรือ FinTech ซึ่งย่อมาจากคำว่า Financial Technology

และคำว่า Uberalization (จากคำว่า Uber อันเป็น apps สำหรับเรียกหาบริการรถเพื่อแบ่งปันกันเองระหว่างสมาชิก) และ Sharing Economy ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่ผู้คนสามารถแบ่งปันสิ่งต่าง ๆ ระหว่างกันโดยไม่ต้องเป็นเจ้าของอะไรเองเป็นชิ้นเป็นอัน

เริ่มด้วย “ฟินเทค” ที่กำลังสั่นสะเทือนวงการบริการการเงิน, ประกัน, และทุกวงการที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมเงิน ๆ ทอง ๆ

ฟินเทคมาในรูปของ start-ups อันหมายถึงธุรกิจเล็ก ๆ ที่คนรุ่นใหม่ตั้งขึ้นเพื่อใช้เทคโนโลยี “กระโดดข้าม” ขั้นตอนของธุรกิจและทำให้เกิดบริการใหม่ ๆ ที่มาทดแทนธุรกิจเก่า ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและด้วยค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าและสอดคล้องกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่มากกว่า

บริการ FinTech ในอเมริกาที่โดดเด่นมีเช่น Money.Net, Betterment, Lending Club, Robinhood และ Wealthfront ซึ่งให้บริการการเงิน ทั้งให้กู้ ให้ลงทุนและบริหารสินทรัพย์ส่วนบุคคล

ใครที่ติดตามความเคลื่อนไหวด้านนี้ในประเทศไทยก็จะเห็นว่า ฟินเทคเริ่มแล้วเช่นกัน ตัวอย่างคือโปรแกรม Streaming ในการซื้อขายหุ้นแทนการซื้อขายในห้องค้ามากขึ้น

บริษัท start-up อย่าง StockRadar ก็สร้างโปรแกรมทางมือถือช่วยในการซื้อขายหุ้น

ผมเห็นระบบ Payment API อย่าง Omise เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างในทิศทางนี้

อีกทั้งการระดมทุนผ่านระบบ Online ที่เรียกว่า Crowd Funding ก็เป็นอีกหนึ่งมิติของ “ฟินเทค” หากกฎหมายรองรับอย่างเป็นทางการเมื่อใด โฉมหน้าธุรกิจทั้งประเทศจะเปลี่ยนไปอย่างมาก

เช่นหากระบบการชำระเงินสามารถทำผ่าน Bitcoin แทนระบบยักษ์เช่น Visa ได้ จะเกิดอะไรขึ้น? เทคโนโลยีใหม่นี้ทำได้เร็วกว่า สะดวกกว่าและถูกกว่า

 และหาก Robinhood ที่อเมริกาเข้ามาในประเทศไทย การซื้อขายหุ้นผ่านโปรแกรมในมือถือโดยค่าคอมมิชชั่นเป็นศูนย์, ความผันผวนจะเกิดกับผู้ประกอบการอย่างใหญ่หลวง และผู้บริโภคที่ได้ประโยชน์เต็มที่จะใช้เทคโนโลยีใหม่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างไร

ที่สำคัญคือผู้มีบทบาทกำกับดูแลให้บริการการเงินต่าง ๆ เป็นไปภายใต้กฎกติกาที่ถูกต้อง ไม่ให้ถูกใช้ในทางที่ผิดกฎหมาย หรือสร้างความวุ่นวายปั่นป่วนกับสังคมได้อย่างไร จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายทั้งสังคมอย่างยิ่ง

ผมเชื่อในอนาคตของโลกเทคโนโลยี ยืนยันว่าคนในสังคมไทยต้องปรับตัวอย่างรวดเร็วและชาญฉลาด แม้จะเหนื่อยและต้องทำงานหนักเพราะต้อง “ขี่บนยอดคลื่น” ตลอดเวลา แต่เป็นทางเดียวที่จะผลักดันประเทศชาติให้อยู่ในแถวหน้าของประชาคมอาเซียน

จึงขอให้ศึกษาและปรับตัวให้ Agile หรือ ปราดเปรียวคล่องแคล่วตลอดเวลา