ประชานิยมที่ตรงกลุ่ม

ประชานิยมที่ตรงกลุ่ม

ขณะนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง เตรียมออกแพคเกจ

มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกระลอก มี 2-3 มาตรการที่อยู่ในแผน คือ 1. การแจกเงินจำนวน 5 แสนบาทให้แต่ละหมู่บ้านทั่วประเทศกว่า 7 หมื่นหมู่บ้าน เป็นเงินกว่า 3 หมื่นล้านบาท 2. การแจกเงินประชาชนและข้าราชการผู้มีรายได้น้อยคนละประมาณ 1 พันบาท และ 3. การนำรายจ่ายจากการท่องเที่ยว และรับประทานอาหารในร้านค้าที่มีใบกำกับภาษี ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จำนวน 1.5 หมื่นบาทต่อคนมาหักลดหย่อนภาษี

รมว.คลังอ้างว่า รัฐบาลจำเป็นต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อพยุงเศรษฐกิจในระยะที่รัฐบาลกำลังรอ ให้การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเกิดขึ้นอย่างจริงจัง นับตั้งแต่กลางปีนี้เป็นต้นไป และว่า ตามการรายงานของกองทุนการเงินระหว่างประเทศระบุว่า เศรษฐกิจไทยยังโตต่ำกว่าศักยภาพ ขณะที่ รัฐบาลยังมีความสามารถที่จะใช้นโยบายการคลังเพื่อดูแลเศรษฐกิจได้อีกมาก

รมว.คลังเล่าว่า ที่จริงแล้ว พื้นฐานเศรษฐกิจไทยยังแข็งแกร่ง แต่บรรยากาศการใช้จ่ายในประเทศยังไม่ดีนัก ซึ่งไม่ใช่เพราะไม่มีเงิน โดยเฉพาะในกลุ่มคนรายได้ระดับกลาง เห็นได้จากยอดจองไฟลท์ของคนไทยไปท่องเที่ยวยังประเทศญี่ปุ่นที่เต็มทุกที่นั่ง สะท้อนกำลังซื้อที่ยังมี จึงอยากกระตุ้นให้คนมีรายได้ระดับกลาง ออกมาใช้จ่ายในประเทศให้มากขึ้น ด้วยการออกมาตรการดังกล่าว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งถือเป็นวันครอบครัวของคนไทย

ส่วนกลุ่มผู้มีรายน้อยทั้งประชาชนทั่วไปและข้าราชการนั้น เขาบอกว่า ยังเป็นกลุ่มที่มีความลำบาก แม้ที่ผ่านมา รัฐบาลจะใส่เงินลงไปช่วยระดับหนึ่งแล้ว แต่ก็เป็นแค่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อน ขณะนี้ ก็ยังมีความลำบากอยู่ โดยเฉพาะเกษตรกรที่ขณะนี้ประสบทั้งปัญหา ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำและปัญหาภัยแล้ง ทำให้รายได้ลดลง จึงอยากช่วยคนกลุ่มนี้ โดยเข้าไปเติมเงินในกระเป๋า เพื่อให้มีความสามารถในการจับจ่าย ช่วยกำลังซื้อในประเทศ

จากมาตรการที่ว่านี้ เกิดกระแสวิจารณ์ว่า รัฐบาลชุดนี้ก็ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา ที่ใช้นโยบายประชานิยมโดยใช้เหตุผลว่า เป็นการช่วยเหลือประชาชนมาเป็นข้ออ้าง ซึ่งผู้เขียนก็เห็นด้วย โดยเฉพาะการแจกเงินโดยตรง ที่ไม่ช่วยสร้างให้เกิดการสร้างงานสร้างรายได้ในระยะยาว เสมือนหัวหน้าครอบครัวให้ปลาแก่ลูก แต่ไม่สอนให้ลูกได้ตกปลาเป็น เมื่อลูกได้ปลามาแล้วก็กินหมดไป ประทังชีวิตได้ในระยะสั้นๆ แต่ก็ไม่สามารถหาปลาได้อีก 

แต่แม้จะมองว่า เป็นประชานิยมอย่างหนึ่ง แต่การแจกเงินนี้ เป็นการช่วยเหลือแบบตรงจุด หมายถึงว่า เข้าถึงคนที่รัฐบาลต้องการช่วยเหลือจริงๆ ไม่ต้องผ่านนายหน้าเหมือนนโยบายประชานิยมอื่นๆ ที่สร้างความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจอย่างมาก เช่น โครงการจำนำข้าว ซึ่งลักษณะจ่ายเงินตรงจุดนี้ จะเหมือนกับแนวคิดของสำนักงานเศรษฐกิจการคลังที่ต้องการผลักดันนโยบาย ”ภาษีโอน คนขยัน” ซึ่งเป็นการนำรายได้จากภาษีไปจ่ายตรงให้กับกลุ่มคนที่มีรายได้น้อยเพื่อส่งตรงความช่วยเหลือไปยังกลุ่มดังกล่าว

แต่ทั้งนี้ กระบวนการตรวจสอบเพื่อพิสูจน์สิทธิ์ว่า กลุ่มคนที่สมควรจะได้รับการช่วยเหลือนั้นถูกต้องหรือไม่ จะต้องมีประสิทธิภาพด้วย ซึ่งยังเป็นเรื่องยากในการดำเนินการ โดยขณะนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำลังคิดหลักเกณฑ์ ในการคัดกรองกลุ่มคนดังกล่าว เพื่อป้องกันการสวมสิทธิ์ก่อนออกมาตรการ คาดว่า มาตรการดังกล่าว คงจะไม่สามารถทำมาได้อย่างรวดเร็วในขณะนี้

ส่วนมาตรการกิน-เที่ยวช่วยชาติ ช่วงสงกรานต์นี้ ผู้เขียนสนับสนุน เพราะเป็นการดึงกำลังซื้อของคนชั้นกลาง ให้ออกมาจับจ่ายใช้สอยเพื่อช่วยเศรษฐกิจในช่วงเวลาดังกล่าว แม้วงเงินลดหย่อนที่ให้จะไม่สูงมาก แต่ก็เป็นการสร้างบรรยากาศในการใช้จ่าย รวมถึง ผู้ผลิตสินค้าและบริการ ที่จะต้องวางแผนรองรับกำลังซื้อที่จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว