คอร์รัปชันแก้ยาก เพราะแพ้ใจ

 คอร์รัปชันแก้ยาก เพราะแพ้ใจ

สองอาทิตย์ก่อน ผมได้รับเชิญจากองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ไปร่วมงานแถลงผลการสำรวจทัศนคติ

คอร์รัปชันประเทศไทย ปี 2558 ทั้งขององค์กรเพื่อความโปร่งใส (Transparency International หรือ TI) และของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย พร้อมกับร่วมเสวนาในหัวข้อ “ชนะแน่หรือแพ้แท้จริง กับ การโกงชาติ” วันนี้เลยอยากจะแชร์ความเห็นผมที่ได้ให้ไว้ในงานเสวนาให้ผู้อ่าน “เศรษฐศาสตร์บัณฑิต” ทราบ

ผลการสำรวจของ TI ปี 2558 ซึ่งสำรวจภาพลักษณ์คอร์รัปชันประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปีนี้ทำได้ดีและผลออกมาน่าสนใจสอดคล้องกับความรู้สึกผมเอง คือ สถานการณ์คอร์รัปชันของแต่ละประเทศขึ้นลงเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับเหตุการณ์ และการแก้ไขปัญหาในแต่ละประเทศ ปัญหา ถ้าจะปีนี้ในภาพรวมคอร์รัปชันทั่วโลกยังเป็นปัญหาใหญ่ ไม่มีท่าทีทุเลา ทำให้มีข้อสรุปว่าการแก้ไขให้เกิดผลจริงจัง ต้องอาศัยบทบาทร่วมกันของทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นภาคราชการ การเมือง ธุรกิจ และประชาคมสังคม ทุกฝ่ายต้องร่วมแก้ไขปัญหาเพราะเป็นปัญหาของสังคม ไม่ใช่ปัญหาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ซึ่งก็สอดคล้องกับความเห็นทั่วไปขณะนี้ในการแก้ไขคอร์รัปชัน

การสำรวจของ TI มุ่งไปที่บทบาทภาครัฐและการทุจริตคอร์รัปชันในภาครัฐ จึงให้ความสำคัญมากกับสิ่งที่รัฐทำ ทั้งในการแก้ปัญหาและข่าวการเกิดคอร์รัปชันในภาครัฐเอง ปีนี้คะแนนของประเทศในเอเชียไม่ค่อยเปลี่ยน เพราะในสายตา TI ภาครัฐในเอเชียจะพูดมากแต่ทำน้อย คะแนนจึงไม่ค่อยเปลี่ยน แต่ก็มีประเทศที่ดีขึ้นและแย่ลงเทียบกับปีที่แล้ว เช่น คะแนนของเกาหลีใต้ จีน ไต้หวัน และอินโดนีเซียดีขึ้น เพราะภาครัฐมีการดำเนินการจริงจังต่อเนื่องที่เห็นชัด แต่ประเทศที่มีข่าวคอร์รัปชันในภาครัฐ เช่น มาเลเซีย หรือ ที่โมเม็นตั้มการแก้ไขปัญหาเริ่มแผ่ว เช่น ฟิลิปปินส์ คะแนนปีนี้ก็ลดลงจากปีก่อน ขณะที่ประเทศอย่างอินเดียและไทยที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่เห็นอะไรชัดเจน คะแนนก็ไม่เปลี่ยน ปีนี้คะแนนประเทศไทยอยู่ที่ 38 เท่ากับปีที่แล้วจากคะแนนเต็มร้อย แต่อันดับประเทศไทยดีขึ้น เพราะปีนี้หลายประเทศดูแย่กว่าเรา

ในแง่การสำรวจในประเทศไทยเอง ผลสำรวจของทั้งมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และโครงการแนวร่วมปฏิบัติภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC) ปี 2558 ออกมาคล้ายกัน คือ คอร์รัปชันยังเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ เช่น ผลสำรวจของ CAC ชี้ว่าร้อยละ 90 ของนักธุรกิจยังมองว่าคอร์รัปชันของไทยยังอยู่ในระดับที่สูงถึงสูงมาก แต่ก็เริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนว่า ความรุนแรงของปัญหาคอร์รัปชัน มีการปรับตัวดีขึ้น เช่น ร้อยละ 48 ของกรรมการและนักธุรกิจมองปัญหาคอร์รัปชันว่าลดลงในช่วงสองปีที่ผ่านมา

ขณะที่อีกร้อยละ 24 มองว่าปัญหารุนแรงขึ้น ตัวเลขทั้งสองตัวนี้ดีขึ้นกว่าช่วงการสำรวจเมื่อสองปีก่อนที่นักธุรกิจเกือบทั้งหมดจะมองไปทางเดียวกันว่า การทุจริตคอร์รัปชันมีมากขึ้น แต่ปัจจุบันความเห็นแตกต่างเริ่มมี สำหรับภาคธุรกิจร้อยละ 44 เชื่อมั่นสูงว่าปัญหาคอร์รัปชันสามารถแก้ไขได้ และร้อยละ 65 พร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาอย่างแน่นอน ซึ่งทัศนคตินี้ก็ดีขึ้นกว่าสี่ปีก่อนที่ธุรกิจส่วนใหญ่มองคอร์รัปชันว่าแก้ยาก และยังไม่พร้อมมากที่จะร่วมมือแก้ไข ดังนั้นแม้คอร์รัปชันยังเป็นปัญหาใหญ่ แต่ความหวังในการแก้ปัญหาเริ่มมี เริ่มเห็นแสงสว่างปลายอุโมงค์บ้างแล้ว

คำถามตามมาก็คือ ทำไมคอร์รัปชันแก้ยาก แม้เป็นนโยบายสำคัญที่สุดที่รัฐบาลกำลังผลักดันและมีอำนาจอยู่ในมือเต็มร้อย (ตามมาตรา 44) ที่จะใช้แก้ไขปัญหา แต่การแก้ปัญหาก็ไม่ก้าวกระโดด คอร์รัปชันยังเป็นปัญหา

เรื่องนี้ เท่าที่ได้ศึกษาและติดตามปัญหามาประมาณสี่ปี ผมคิดว่าคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ แต่ที่เรายังไม่สามารถแก้ไขได้จริงจัง ก็เพราะเรายังไม่ได้ทำจริงในการแก้ปัญหา ทั้งในส่วนของภาคการเมือง ข้าราชการ และธุรกิจเอกชน ส่วนใหญ่ดูเหมือนแพ้ใจตัวเอง ยังไม่พร้อมที่จะออกมาแก้หรือทำอะไรจริงจังที่จะแก้ปัญหา ทั้งที่มีความพยายามมากมาย ปัญหาที่ดูน่าชนะจึงกลับแพ้ เพราะลึกๆ แล้วใจของคนที่เกี่ยวข้องที่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขปัญหาได้ส่วนใหญ่ยังไม่ไปด้วยเต็มร้อย

ที่ว่าปัญหาคอร์รัปชันน่าแก้ไขได้ จากที่ได้ติดตามเรื่องนี้ ก็เพราะ

หนึ่ง ไม่มีใครชอบคอร์รัปชัน คนส่วนใหญ่ในประเทศไทยไม่มีใครชอบคอร์รัปชัน ไม่ว่าจะเป็นนักธุรกิจ ข้าราชการ ประชาชน หรือแม้แต่นักการเมืองส่วนใหญ่ เพราะคอร์รัปชันผิดกฎหมาย เป็นต้นทุนสูงต่อธุรกิจ ทำลายระบบคุณธรรมในภาคราชการ และบั่นทอนการเติบโตของประเทศ แต่ทั้งๆ ที่ไม่มีใครชอบ ปัญหาก็โตเอาๆ

สอง คอร์รัปชันโดยพื้นฐานแล้วเป็นพฤติกรรมสังคม พฤติกรรมสังคมก็มาจากพฤติกรรมของบุคคลซึ่งเปลี่ยนไปได้ ทำให้พฤติกรรมคอร์รัปชันเปลี่ยนแปลงได้ ตัวอย่างที่ผมพูดถึงบ่อยก็คือ คนไทยตอนไปเที่ยวต่างประเทศแม้จะทิ้งกระดาษในถนนหนทางประเทศเขายังไม่กล้าทำ กลัวผิดระเบียบ ผิดกฎหมาย แต่พอกลับมาบ้านเราเอง เรากลับทำตรงข้ามไม่เกรงกลัวกฎหมาย ชี้ว่าพฤติกรรมคน พฤติกรรมสังคมเปลี่ยนแปลงได้ขึ้นอยู่กับภาวะแวดล้อม โดยเฉพาะการบังคับใช้กฎหมาย

สาม หลายประเทศในเอเชียประสบความสำเร็จ สามารถแก้ไขหรือลดทอนปัญหาคอร์รัปชันที่เคยมีได้ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ฮ่องกง แสดงว่าปัญหาคอร์รัปชันแก้ไขได้ ลดทอนได้ และถ้าเราศึกษาวิธีที่ประเทศเหล่านี้ใช้ในการแก้ปัญหาก็จะมีแนวทางคล้ายๆ กันที่เราสามารถทำตามเลียนแบบได้ ซึ่งเงื่อนไขสำคัญที่สุดที่ทั้งสี่ประเทศทำและเราก็ต้องทำถ้าจะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันให้สำเร็จก็คือ ต้องจับปลาใหญ่ คือ มีการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็งและเอาจริงกับทุกคนไม่ไว้หน้า เพื่อให้สังคมเชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชันมีการแก้ไขจริง เอาผิดจริง ซึ่งถ้าเกิดขึ้นพฤติกรรมสังคมก็จะเปลี่ยน ดังนั้นถ้าเราทำจริงจัง ก็น่าจะชนะแก้ปัญหาได้

แต่ที่ยังแพ้อยู่หรือยังแก้อะไรไม่ได้มาก ก็เพราะเรายังไม่ทำจริงจังในการแก้คอร์รัปชัน ยังแพ้ใจตัวเอง โดยเฉพาะประเด็นการบังคับใช้กฎหมายที่เป็นหัวใจของการแก้ไขคอร์รัปชัน และที่เราไม่ทำจริงส่วนหนึ่งก็เพราะเรายังเป็นเชลยกับอิทธิพลของระบบเส้นสาย ระบบพวกพ้อง ระบบช่วยเหลือกันอย่างไม่ถูกต้อง ระบบอุปถัมภ์ที่มีมากและยอมรับกันในสังคมไทย ทำให้การแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ไม่เกิดขึ้น ประเด็นนี้มีผลให้การบังคับใช้กฎหมายในบ้านเราค่อนข้างอ่อนแอ ลงโทษเอาผิดใครไม่ค่อยได้และใช้เวลามาก

เงื่อนไขสำคัญที่สุดในการแก้คอร์รัปชันจึงไม่ทำงาน พวกที่มีช่องทาง มีอำนาจ มีโอกาส มีเส้นสายยิ่งกล้าทำผิด กล้าทุจริต กล้าโกง และกล้าใช้เงินใช้เส้นสายวิ่งเต้นช่วยเหลือกัน ไม่ให้ถูกลงโทษถ้าถูกจับได้ เหล่านี้ทำให้การบังคับกฎหมายยิ่งอ่อนแอ นี่คือเหตุผลใหญ่ที่ทำให้การแก้คอร์รัปชันยังไม่ได้เกิดขึ้นจริงจัง แม้จะมีความพยายามมากมายที่จะแก้ระบบ แก้กฎหมาย แก้วิธีการทำงานของภาครัฐ สร้างความโปร่งใส แต่ก็ยังไม่มีผลสำเร็จให้เห็น เพราะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งในภาคธุรกิจ การเมือง และข้าราชการยังไม่พร้อมที่จะหยุดระบบช่วยเหลือกัน และเดินออกจากระบบอุปถัมภ์

ในงานเสวนา ผมได้กล่าวว่าอยากให้ทุกคนลองหยุดใช้โทรศัพท์มือถือวิ่งเต้นสักหนึ่งเดือนหรือหนึ่งปี ประเทศไทยคงเปลี่ยนไปเยอะ