GOLD RUSH ตื่นทอง

GOLD RUSH ตื่นทอง

บทความเดือนม.ค.กล่าวถึงราคาน้ำมันดิบที่ลดต่ำลงอย่างรวดเร็ว

ได้สร้างความกังวลแก่นักลงทุนทั้งในตลาดตราสารหนี้ ตลาดหุ้น และตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) สังเกตได้ว่า วันใดที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้น ไม่เพียงแต่ดัชนีตลาดหุ้นทั่วโลกจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ค่าเงินสกุลต่างๆ มักอ่อนค่าเมื่อเทียบกับดอลลาร์ (USD) ด้วย วันใดที่ราคาน้ำมันดิบลดลงพรวดพราด เรามักสังเกตเห็น US Treasury yield ดิ่งลง และตลาดหุ้นชะลอตัว สะท้อนมุมมองว่า Inflation outlook คงไปไม่ถึง 2% ดังหวัง และในยามที่ตลาดการลงทุนมีความผันผวนมากๆ ดังเช่นในช่วง 3-4 สัปดาห์ที่ผ่านมา ทอง กลับกลายเป็นตัวชูโรงของตลาดอย่างชัดเจน 

ทราบกันดีว่า ทองเป็นหนึ่งในการลงทุนทางเลือก (Alternative Investments) ที่มีลักษณะเฉพาะตัว และมีทิศทางที่สวนกับค่าเงิน USD จากสภาวะที่เคยมีแรงซื้อเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากระดับ $700 ในช่วง Lehman crisis เดือนกันยายน 2008 ไปแตะ $1900 ในเวลาเพียง 24 เดือนต่อมา (สวนทางกับค่าเงิน USD ที่ไหลลงตลอดเพราะการทำ QE ตั้งแต่ปี 2009) ราคาทองเริ่มไหลลงสวนทางกับค่าเงิน USD เมื่อเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ เรียกได้ว่า ผันผวนไม่แพ้ดัชนีตลาดหุ้นเลยทีเดียว และตั้งแต่เปิดปีพ.ศ. 2559 มา ราคาทองได้ปรับตัวขึ้นอีกครั้งจาก $1060 แตะ $1205 ณ วันที่ 11 ก.พ.

ในปี 2559 นี้ ราคาน้ำมันจะยังคงเป็น Leading indicator ต่อการปรับพอร์ทโฟลิโอของนักลงทุน แต่ปัจจัยเสี่ยงที่ 2 ที่เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่ปลายเดือนมกราคมก็คือ ภาพการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐที่เริ่มชะลอตัวลง ล่าสุดประธานเฟดแสดงความกังวลถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและสภาพคล่องการเงินสหรัฐที่ตึงตัว และตลาดที่มีความผันผวนมาก ในถ้อยแถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรนางเยลเลนได้ระบุถึงความอ่อนแอในเศรษฐกิจโลก เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และภาวะ Oversupply ของสินค้าโภคภัณฑ์ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกน้ำมัน และความเสี่ยงด้านเครดิต (Default) ที่สูงขึ้น ทำให้สภาวะทางการเงินของภาคธุรกิจสหรัฐตึงตัวขึ้น และทำให้นักลงทุนเปลี่ยนการคาดการณ์การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจากเดือนมีนาคม ไปเป็น มิ.ย. หรือ ก.ย. ไปเลย ….พอจะอนุมานได้ว่า USD คงอ่อนค่าไปอีกระยะหนึ่ง และทองก็คงเป็นพระเอกได้อีกระยะหนึ่ง 

ปัจจัยที่ 3 ที่ผมกล่าวถึงเสมอคือ เงินสำรองเงินตราต่างประเทศของประเทศจีนซึ่งลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 3 ปี ที่ระดับ 3.23 ล้านล้านดอลลาร์ (ลดลง 99.5 พันล้านดอลลาร์ในเดือนม.ค. พ.ศ.2559) ซึ่งการลดลงมาจากความพยายามพยุงค่าเงินหยวนไม่ให้อ่อนค่าลงเร็วและแรงเกินไป จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้หยวนตกเป็นเป้าถูกโจมตีค่าเงิน โดย Hedge Fund ขนาดใหญ่อย่าง SOROS และ Hayman Capital Management ได้ทำการ Short ค่าเงินหยวนเพราะเชื่อว่าสามารถอ่อนค่าได้ถึง 40% ในระยะเวลา 3 ปี การที่หยวน crash ย่อมนำไปสู่ความผันผวนครั้งใหญ่ของตลาดเงินตลาดทุนอย่างแน่นอน 

ท่านผู้อ่านเคยสังเกตไหมครับว่า เมื่อ SET Index ผันผวนมากๆ ราคาของหลักทรัพย์ใดกลับมีการปรับตัวขึ้น ...คำตอบคือ กองทุนประเภท Property fund หรือ Infrastructure Fund มักเป็นที่พักพิงของนักลงทุนในยามตลาดผันผวน เนื่องจากมีการจ่ายปันผลที่สม่ำเสมอในระดับ 5.5-8.5% ต่อปี และมีความเสี่ยงในการจัดการต่ำ ในเบื้องต้นควรพิจารณาคุณภาพของทรัพย์สินที่กองทุนลงทุน อัตราค่าเช่า อัตราเข้าพัก อัตราค่าธรรมเนียม ผู้ดูแลทรัพย์สิน/ผู้ดูแลผลประโยชน์ ที่สำคัญต้องไม่ลืมพิจารณาสภาพคล่องที่ซื้อขายในแต่ละวัน และอย่าถูกลวงด้วยโครงสร้างการจ่ายปันผลที่สูงในปีแรกและไหลลงในปีหลังๆ

จากข้อมูลตลท.ผมเลือกมา 6-7 กองทุนที่มีสภาพคล่องสูง พบว่า กองทุนที่ให้เงินปันผลสูงที่สุดคือ QHHR ที่ 8.4% ตามด้วย LHPF ที่ 7.7% และ QHPF ที่ 6.6% ในขณะที่ BTSGIF CPNRF และ TLGF อยู่ในช่วง 5.2% - 5.8% ต่อปีครับ