ดาบสองคมที่ผลพวงกว้างไกล

ดาบสองคมที่ผลพวงกว้างไกล

การดำดิ่งของราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ตั้งแต่ช่วงต้นปีนี้

 ด้วยการลงไปแตะระดับต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ตั้งแต่กลางเดือนมกราคม มีทั้งผลดีและผลเสียแก่หลายภาคส่วน ขึ้นอยู่กับว่ามองในมุมไหน โดยสำหรับผู้บริโภคในหลายประเทศนั้น น่าจะเป็นผลดีเพราะได้ใช้น้ำมันในราคาที่ถูกลง ทำให้มีเงินเหลือในกระเป๋ามากขึ้น สำหรับนำไปจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการอื่นๆ อันเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ รวมถึงน่าจะเป็นผลดีสำหรับธุรกิจบางประเภทด้วย อย่างสายการบิน

ส่วนประเทศที่ได้รับผลกระทบไปแบบเต็มๆ จากราคาน้ำมันดำดิ่ง คือประเทศผู้ส่งออกน้ำมันนั่นเอง เพราะทำให้รายได้ลดลง จนทำให้บรรดาประเทศในอ่าวเปอร์เซียพากันจัดวางมาตรการรัดเข็มขัด นอกจากนั้น ภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบยังรวมถึงบริษัทพลังงานที่มีรายได้ลดลง จนทำให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือระดับโลกอย่างมูดี้ส์ ระบุว่าอาจทบทวนอันดับของบริษัทพลังงาน โลหะ และเหมือง 120 แห่ง

ส่วนบริษัทพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่นั้น ก็พลอยเจอผลพวงไปด้วย เพราะราคาน้ำมันดำดิ่งทำให้มีแรงจูงใจลดน้อยลงไป สำหรับผู้คนที่จะมองหาพลังงานทางเลือก ในฟากของธนาคารกลางประเทศต่างๆ นั้น ก็ต้องเผชิญงานหนักมากขึ้น เพราะราคาน้ำมันที่ลดลงก็ไปถ่วงราคาอุปโภคบริโภค ทำให้ต้องคอยระวังและป้องกันภาวะเงินฝืด ภาวการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงความเชื่อมโยงของปัจจัยต่างๆ อย่างยากจะสามารถแยกกันได้

นอกจากนั้น ราคาน้ำมันยังเชื่อมโยงกับการขยายตัวของตลาดเกิดใหม่ ดังที่ธนาคารโลกระบุว่าตลาดเกิดใหม่เป็นกลไกหลัก ที่ขับเคลื่อนความต้องการสินค้าโภคภัณฑ์มาตั้งแต่ปี 2543 ดังนั้นเมื่อมีการคาดหมายว่าตลาดเกิดใหม่จะเติบโตได้ช้าลง จึงส่งผลกระทบต่อแนวโน้มราคาโภคภัณฑ์ไปด้วย โดยปีนี้ธนาคารโลกคาดว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่ที่ 37 ดอลลาร์ จากประมาณการเดิมเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วที่ 51 ดอลลาร์

ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หรือราคาน้ำมันที่ลดลง จึงเป็นเหมือนดาบสองคม เพราะผู้บริโภคในประเทศที่นำเข้าน้ำมัน จะได้ประโยชน์จากการได้ใช้น้่ำมันถูกลง ส่วนบรรดาผู้ผลิตในประเทศที่ส่งออกน้ำมันก็จะต้องแบกรับผลเสีย สำหรับกระบวนการหลังจากนั้นคงต้องอาศัยเวลากว่าที่ผลดีของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในระดับต่ำ จะแปลงเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งขึ้นในหมู่ประเทศที่นำเข้าน้ำมัน ขณะที่ประเทศที่ส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์จะรู้สึกได้ถึงผลเสียทันที

สำหรับแนวโน้มราคาน้ำมันนั้น แม้ดีดตัวขึ้นมาเป็นระยะ แต่หากไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับอย่างแน่นหนา ระดับราคาน่าจะยังไม่สูงมากนัก พิจารณาจากปริมาณการผลิตที่ล้นเกินอยู่มากในตลาดโลก อันทำให้สถาบันการเงินต่างๆ พากันปรับลดคาดการณ์ราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นมูดี้ส์ที่ปรับลดราคาเฉลี่ยปีนี้เหลือ 33 ดอลลาร์ ก่อนเพิ่มขึ้นอีก 5 ดอลลาร์ปีหน้าและปีต่อไป ส่วนมอร์แกนสแตนเลย์ปรับลดคาดการณ์เฉลี่ยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปีนี้ลงเหลือ 30 ดอลลาร์ ส่วนปีหน้าคาดว่าอยู่ที่ 40 ดอลลาร์ท่ามกลางปริมาณการจัดหาที่ยังล้นเกิน และมองว่าตลาดน้ำมันจะยังมีสภาพไม่สมดุลระหว่างอุปสงค์กับอุปทานไปจนถึงกลางปีหน้าหรือหลังจากนั้น