แนวคิดว่าด้วยการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (1)

แนวคิดว่าด้วยการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (1)

การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมากขึ้น เพราะสังคมโลกยังไม่สามารถ

หาทางหยุดยั้งภาวะเรือนกระจกที่ผิดปกติอันเป็นสาเหตุของภาวะโลกร้อนได้ เนื่องจากเรายังคงต้องพึ่งพาพลังงานจากน้ำมันและถ่านหิน (fossil fuel) เป็นแหล่งพลังงานหลักและปล่อยก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศอย่างต่อเนื่อง ก๊าซเรือนกระจกที่สะสมเพิ่มมากขึ้นในชั้นบรรยากาศ คือสาเหตุของภาวะโลกร้อน และอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้นนี้เองที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ในอนาคตอันจะส่งผลให้สังคม ภาคส่วนในพื้นที่ต่างๆ ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่แตกต่างไปจากเดิม ตลอดจนแผนพัฒนาต่างๆ อาจจะไม่สามารถดำเนินการไปได้บรรลุเป้าหมายตามที่ได้ตั้งไว้

สถานการณ์ที่อาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคตจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศภายใต้ภาวะโลกร้อนนี้เอง ที่ทำให้สังคมต้องเริ่มคิดถึงการปรับตัวเพื่อให้อยู่ได้กับสถานการณ์ในอนาคต การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้เริ่มถูกกล่าวถึงอย่างชัดเจนในช่วงปี 1992 โดยการประชุม UNFCCC convention ที่กรุง Riode Janeiro ได้กล่าวถึงการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ 2 ประเด็น คือ Mitigation และ Adaptation โดยได้มีการนิยามถึง Mitigation ว่า เป็นการดำเนินการเพื่อลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อรักษาระดับความเข้มข้นหรือปริมาณของก๊าซเรือนกระจกในชั้นบรรยากาศให้อยู่ในระดับที่ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบบรรยากาศโลก (UNFCCC Article 2) แต่อย่างไรก็ดี สำหรับ Adaptation นั้น ไม่ได้มีการกำหนดนิยามที่ชัดเจนขึ้น และในห้วงเวลาที่ผ่านมาก็มีการใช้คำว่า Adaptation ในความหมายต่างๆ ที่หลากหลายภายใต้การตีความที่แตกต่างกันไป

Adaptation หรือการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น เมื่อทาง IPCC ให้ความสนใจ และได้จัดทำรายงาน Third Assessment Report (IPCC AR3) ในปี 2001 ซึ่งประกอบด้วยรายงาน 3 ส่วน คือ Climate science / Mitigation / Impact, adaptation and vulnerability ซึ่งเป็นการรวบรวมสังเคราะห์การศึกษาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่ได้มีการศึกษากันมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 ซึ่งการศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นเป็นการศึกษาที่เน้นการทำความเข้าใจถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ และการตอบสนองต่อผลสืบเนื่องของผลกระทบนั้นๆ

อย่างไรก็ดี แม้ว่าการศึกษาการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระยะแรกนี้ จะเป็นการวางรากฐานที่ดีสำหรับการศึกษาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระยะต่อมาก็ตาม แต่ก็ยังมีจุดอ่อนบางประการซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นอุปสรรคในการจัดทำนโยบายด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ กล่าวคือ

ประเด็นเรื่องความไม่แน่นอนของอนาคตทำให้การวางแผนการปรับตัวเกิดขึ้นยาก เนื่องจากการศึกษานี้เป็นการกำหนดทางเลือกการปรับตัวสำหรับอนาคตต่อสภาพภูมิอากาศที่ไม่แน่นอนในอนาคตภายใต้บริบทสังคมและเศรษฐกิจที่ไม่ทราบแน่ชัด ซึ่งผลจากการศึกษาในลักษณะนี้มักจะไม่สอดคล้องกับกระบวนการวางแผนและนโยบายของภาครัฐดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ประเด็นด้านความถูกต้องแม่นยำของภาพฉายภูมิอากาศอนาคตต่อการวิเคราะห์สถานการณ์ด้านผลกระทบ และแนวทางการปรับตัวในพื้นที่ที่เจาะจง ทำให้ผลการศึกษาในพื้นที่ขนาดเล็กขาดความชัดเจน

การประเมินผลกระทบนั้นไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้นำไปสู่การวางแผนการปรับตัวในบริบทที่หลากหลาย เช่น การวิเคราะห์ปริมาณผลผลิตของพืชเกษตรภายใต้ภูมิอากาศอนาคตนั้น มุ่งเน้นไปที่การวางแผนการปรับตัวที่เป็นการดำเนินการในไร่นา เป็นหลักมากกว่าที่จะเป็นการพิจารณาถึงการยกระดับความเป็นอยู่ของชาวนา หรือพิจารณาถึงกลไกอื่นๆ เช่น นโยบายหรือกลไกเพื่อพยุงราคาสินค้าเกษตร การเข้าแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตร หรือการจัดการการถือครองที่ดิน

กรอบดำเนินการศึกษาตามแนวทางนี้ถูกออกแบบขึ้นภายใต้วัตถุประสงค์ทางวิทยาศาสตร์ ที่จะทำความเข้าใจต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยหวังว่าผลการศึกษาจะถูกนำไปใช้เป็นพื้นฐาน หรือเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ แต่กรอบการศึกษานั้น ไม่ได้สนใจถึงกระบวนการในการกำหนดนโยบายมากนัก นอกจากนั้น แนวทางที่เน้นเรื่องการประเมินผลกระทบนี้ ไม่ได้ให้ความสำคัญต่อเงื่อนไขทางสังคมตลอดจนพฤติกรรมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในกระบวนการปรับตัว ในการที่จะรับเอาแนวทางหรือวิธีการปรับตัวไปนำใช้ปฏิบัติ

การศึกษาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระยะต่อมาในช่วงปลายทศวรรษที่ 1990 ถึงต้นทศวรรษที่ 2000 ได้พัฒนาไปสู่การทำความเข้าใจถึงภาวะความเปราะบางของสังคม (social vulnerability) มากขึ้น โดยเฉพาะความเปราะบางทางสังคมของกลุ่มสังคมต่างๆ ภายใต้ภาวะเสี่ยงที่อาจเปลี่ยนไปจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคต โดยอาจกล่าวได้ว่า การศึกษาด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในระยะที่สองนี้ได้หันเป้าหมายของการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ จากความพยายามที่จะลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อภาคส่วนต่างๆ ในอนาคตลง

โดยไปเน้นประเด็นการพยายามที่จะลดความเปราะบางของกลุ่มสังคมต่างๆ ลงภายใต้เงื่อนไขสถานการณ์อนาคต โดยเฉพาะผลสืบเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งการศึกษาในระยะนี้ได้เริ่มมีการพิจารณาถึงความเปราะบาง (vulnerability) ของกลุ่มสังคมโดยเริ่มใช้กลุ่มสังคมต่างๆ เป็นหน่วยที่ใช้วิเคราะห์ในการศึกษาการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศมากขึ้น นอกเหนือไปจากการวิเคราะห์ถึงผลกระทบในแง่มุมของภาคส่วนต่างๆ ตามการศึกษาในระยะแรก

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่พึงพิจารณาคือ การศึกษาจำนวนหนึ่งในระยะนี้ไม่ได้กำหนดบริบทที่ชัดเจนของกลุ่มสังคมที่เป็นเป้าหมายในการศึกษา ทำให้ข้อสรุปในเรื่องของความเปราะบางเชิงสังคมมีลักษณะเป็นนามธรรมหรือขาดความชัดเจน ส่งผลให้การวางแผนด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับประเด็นความเปราะบางของสังคมได้ นอกจากนั้น การศึกษาในระยะนี้ แม้จะมองว่าการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้นส่งผลกระทบต่อทั้งระบบชีวภาพกายภาพ และระบบเศรษฐกิจสังคม

แต่การศึกษาก็ยังจับประเด็นความเปราะบางของสังคมนี้ ในลักษณะที่เป็นผลที่ได้รับตามมาจากการเปลี่ยนแปลงของระบบชีวภาพกายภาพภายใต้อิทธิพลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยยังไม่ได้คำนึงถึงพลวัตของระบบเศรษฐกิจสังคมอันจะมีผลต่อสภาพและระดับของความเปราะบางที่สังคมนั้นๆ จะมีต่อผลของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศในอนาคตมากนัก ส่งผลให้การวางแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้รับการสรุปออกมาในเชิงของการพยายามที่จะลดความเปราะบางในอนาคตลง โดยที่ยังยึดบริบทของระบบเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน หรืออาจกล่าวในอีกทางหนึ่งได้ว่า เป็นการพยายามรักษาสถานภาพปัจจุบันของสังคมไว้ภายใต้เงื่อนไขที่ภูมิอากาศอาจเปลี่ยนแปลงไปในอนาคต

โดยข้อสรุปด้านการจัดทำแผนการปรับตัวยังเป็นการมองประเด็นการจัดทำนโยบายเป็นนโยบายที่เป็นเอกเทศ นอกจากนั้นจุดอ่อนหลายประการของแนวทางการศึกษาในระยะแรก ก็ยังคงสืบเนื่องมาถึงแนวทางการศึกษาในระยะที่สองนี้ โดยเฉพาะเรื่องความไม่แน่นอนของอนาคตที่ให้การขับเคลื่อนแผนการปรับตัวดำเนินไปได้ยาก

ในช่วงปลายทศวรรษที่ 2000 นี้เอง ก็ได้เกิดการปรับเปลี่ยนในแนวคิดด้านการศึกษาเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศขึ้นอีกระลอกหนึ่ง ซึ่งจะได้กล่าวถึงในตอนต่อไป

 -----------------------

นายศุภกร ชินวรรโณ

ผู้ประสานงานชุดโครงการวิจัย การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย