ตั้งโจทย์ผิดแก้ปัญหายาก

ตั้งโจทย์ผิดแก้ปัญหายาก

คณะอนุกรรมการศึกษา ประเด็นปัญหาการสร้างความปรองดอง ของกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ

(กรธ.) ออกแผนดำเนินการ 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 การสร้างบรรยากาศที่ดีในการนำไปสู่การสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้น โดยเฉพาะการหยุดพฤติกรรมการใส่ร้ายป้ายสี ซึ่งกันและกันผ่านช่องทางการสื่อสารในรูปแบบต่างๆโดยเฉพาะสังคมออนไลน์ โดยเสนอรัฐบาลควรมีมาตรการขั้นเด็ดขาด เพื่อควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นสาเหตุสำคัญในการสร้างความขัดแย้งในสังคม

สำหรับ ระยะที่2 จะมีจัดตั้งคณะกรรมการปรองดอง เพื่อสร้างความปรองดองหรือสมานฉันท์ ผ่านกระบวนการเจรจาของคู่ขัดแย้งให้เกิดผลอย่างจริงจัง โดยจะต้องประสานความร่วมมือจากหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และระยะที่ 3 การใช้กระบวนการเยียวยา นิรโทษกรรม หรืออภัยโทษ ผ่านการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน โดยคู่กรณีต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมจนถึงที่สุด หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาเรื่องการเยียวยา นิรโทษกรรม อภัยโทษ ตามกระบวนการของกฎหมาย ยกเว้นคดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและคดีอาญาร้ายแรง

หากพิจารณาแผนดำเนินงานดังกล่าวแทบจะไม่มีอะไรใหม่ ซึ่งอาจสะท้อนความจริงประการหนึ่งว่าไม่ว่าจะมีการตั้งกรรมการขึ้นมาศึกษาในรูปแบบใดก็ตาม กระบวนการลดความขัดแย้งในสังคมก็มีในลักษณะเหมือนๆกัน เพียงแต่ปัญหาของสังคมไทยคือ ขาดขั้นตอนการปฏิบัติและเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างกัน ทำให้กระบวนการลดความขัดแย้งทั้งหลายทั้งปวงไม่ประสบความสำเร็จ และประเด็นความขัดแย้งยังเป็นเรื่องที่สร้างความกังวลใจให้กับคนไทยกันต่อไป

ในเมื่อแนวคิดในการแก้ไขความขัดแย้งและสร้างความปรองดองตามที่กล่าวมาข้างต้น แทบไม่มีอะไรก้าวหน้าไปกว่าที่เคยทำมา อาจชี้ให้เห็นว่ามีการตั้งประเด็นต่อความขัดแย้งผิดพลาดตั้งแต่ต้น หรือตั้งโจทย์ผิดในการแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคม โดยไปตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรจะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นในสังคม ในขณะที่ความเป็นจริงแล้ว สังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้งและเป็นปกติธรรมดาของสังคมทั่วไปอยู่แล้ว ที่มีความขัดแย้งภายในเกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าจะยุคสมัยใดก็ตาม

ดังนั้น หากรัฐบาล หรือ คณะกรรมการชุดต่างๆ ยอมรับความจริงว่าสังคมเต็มไปด้วยความขัดแย้ง ก็อาจจะทำให้เห็นแนวการแก้ปัญหาไปอีกด้านหนึ่ง เพราะแทนที่พยายามไปเรียกร้องให้เกิดความปรองดอง เราอาจเรียกร้องและหาวิธีการให้ทุกคนต้องเคารพกฎกติกาทางสังคมและกฎหมาย เพราะเป็นไปไม่ได้เลยที่สังคมมีความหลากหลาย และเป็นสังคมเปิดอย่างสังคมไทยในปัจจุบันนั้น จะเกิดความสมานฉันท์และปรองดองในเรื่องเดียวกัน ซึ่งจะทำอย่างไรให้ความขัดแย้งอยู่ในขอบเขตจำกัดจนไม่กระทบต่อคนอื่นในสังคม

หากติดตามการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ และท่าทีของรัฐบาลในขณะนี้แทบจะไปในทางเดียวกัน ซึ่งยังน่าเป็นห่วงว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ เพราะตราบใดที่ตั้งโจทย์ทางสังคมผิด ก็หมายถึงวิธีการแก้ปัญหาผิดพลาดไปด้วย หรืออย่างน้อยก็ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้นจึงน่าพิจารณาว่าที่ผ่านมานั้นเราตั้งโจทย์ผิดหรือไม่ ต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในขณะนี้ เพราะเท่าที่ติดตามแนวคิดการแก้ปัญหาผ่านมาเกือบ 10 ปี เรายังวนเวียนกับประเด็นเดิมและยังหาทางออกที่เป็นรูปธรรมไม่ได้