อินเดียตอนใต้...ดินแดนแห่งศูนย์การค้าสมัยใหม่

อินเดียตอนใต้...ดินแดนแห่งศูนย์การค้าสมัยใหม่

วันนี้ผมมาส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ 2559 ท่านผู้อ่านด้วยเรื่องราวเกี่ยวกับธุรกิจค้าปลีกของอินเดียอีกครั้งครับ

แต่ครั้งนี้ผมจะพาท่านล่องใต้ไปพบกับศูนย์การค้าสมัยใหม่ของอินเดียที่คนไทยไม่ค่อยคุ้นเคยกันสักเท่าไหร่ เพราะที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่ที่เดินทางไปเยือนอินเดียมักจะไปเพื่อแสวงบุญที่พุทธคยา ในรัฐพิหารทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียกันเป็นหลัก ซึ่งก็ทำให้ภาพลักษณ์ของอินเดียในสายตาคนไทยดูไม่ค่อยดี และไม่น่าสนใจนักในเชิงธุรกิจ เพราะรัฐพิหารเป็นรัฐที่ประชากรยากจนและพัฒนาน้อยที่สุดของอินเดีย มองไปทางไหนก็ดูไม่เจริญหูเจริญตาเอาเสียเลย

อินเดียในความรู้สึกของคนไทยส่วนใหญ่ก็เลยเป็นเพียงประเทศยากจน แต่ที่ต้องทนไปก็เพราะจะไปแสวงบุญเท่านั้น และคนไทยหลายๆ คนก็ “ทน” เดินทางไปอินเดียด้วยเหตุผล เพื่อจะแสวงบุญจริงๆ ส่วนในจุดอื่นๆ ก็จะรู้จักกันอยู่ไม่กี่เมืองเช่น กรุงเดลี นครมุมไบ หรือเมืองกอลกัตตา

ส่วนอินเดียตอนใต้ คนไทยส่วนใหญ่อาจจะไม่ค่อยคุ้นเคย ยกเว้นเมืองบังคาลอร์ในรัฐกรกณาฏกะ ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้าน IT ของอินเดีย และเมืองเจนไนในรัฐทมิฬนาฑู ซึ่งเป็นเมืองท่าสำคัญทางตอนใต้ของอินเดียฝั่งตะวันออกด้านทะเลอันดามัน นอกนั้นแล้วอาจจะไม่ได้อยู่ในความสนใจของคนไทยเท่าใดนัก

อินเดียตอนใต้ที่ผมจะพาท่านผู้อ่านไปรู้จักในวันนี้ ประกอบด้วยรัฐทางใต้ 5 รัฐ คือรัฐอานธรประเทศ รัฐเตลังกานา (รัฐใหม่ล่าสุดอันดับที่ 29 ของอินเดียแยกตัวออกมาจากรัฐอานธรประเทศ) รัฐกรณาฏกะ รัฐเกรละ และรัฐทมิฬนาฑู บวกกับสหภาพอาณาเขตของรัฐบาลกลางอีก 3 เขตคือ ปูดูเชอร์รี อันดามันและนิโคบาร์ และลักษทวีป มีพื้นที่รวมกันคิดเป็น 1 ใน 5 ของอินเดียทั้งประเทศ มีประชากรรวมกันประมาณ 253 ล้านคน ด้วยอัตราการขยายตัวเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2544 เป็นต้นมา 1.2% มีประชากรอยู่ในเขตเมือง 41% สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศที่อยู่ในอัตรา 30% เท่านั้น มีเมืองที่มีประชากรอาศัยอยู่ตั้งแต่ 1 แสนคนขึ้นไปจำนวน 110 เมือง

ที่สำคัญคือ อินเดียใต้เป็นเขตที่มีบทบาทสำคัญต่อเศรษฐกิจของอินเดียด้วย โดยในปีงบประมาณ 2557-2558 (1 เมษายน 2557-31 มีนาคม 2558) อินเดียใต้มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) 431.36 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ไม่รวมสหภาพอาณาเขตของรัฐบาลกลาง 3 เขต) คิดเป็นสัดส่วน 21.1% ของทั้งประเทศอินเดีย โดยรัฐทมิฬนาฑูมีสัดส่วนสูงสุดที่ 7.9% การขยายตัวทางเศรษฐกิจของอินเดียใต้ก็อยู่ในระดับสูงถึง 11.6% ในช่วงปีที่ผ่านมา รายได้เฉลี่ยต่อหัวอยู่ที่ 1,712 ดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี สูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งประเทศซึ่งอยู่ที่ 1,686 ดอลลาร์สหรัฐ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ GDP ของอินเดียใต้มีมูลค่าค่อนข้างสูงก็เป็นผลมาจากประชากรมีสัดส่วนอยู่ในเมืองมากกว่าส่วนอื่นๆ ของอินเดีย มีภาคการผลิตที่เข้มแข็ง โดยเฉพาะ IT การเกษตร และการส่งออกซึ่งต้องถือว่าครบเครื่องเลยทีเดียว

ด้วยความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจแบบนี้เลยทำให้อินเดียตอนใต้ล้ำหน้าในเรื่องค้าปลีกสมัยใหม่อย่างมาก จากรายงานค้าปลีกอินเดียปี 2558 ตลาดค้าปลีกของอินเดียมีมูลค่า 38.93 ล้านล้านรูปีหรือเกือบ 20 ล้านล้านบาท (ประมาณ 649 พันล้านเหรียญสหรัฐ) ด้วยอัตราการขยายตัวกว่า 16% ต่อปี แต่เฉพาะอินเดียใต้ตลาดค้าปลีกมีมูลค่าถึง 9.73 ล้านล้านรูปีหรือเกือบ 5 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าตลาดค้าปลีกรวมของอินเดียทั้งประเทศเลย แต่ที่สำคัญและโดดเด่นมากคือ มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมค้าปลีกสมัยใหม่ในอินเดียใต้มีสัดส่วนมากถึง 38% ของมูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมค้าปลีกสมัยใหม่ของอินเดียทั้งประเทศ ซี่งต้องถือว่าสูงมาก

และถ้าหากยังจำกันได้ในบทความที่ผมเคยเขียนมาก่อนหน้านี้ มูลค่าตลาดค้าปลีกแบบดั้งเดิมของอินเดีย หรือที่เรียกว่า Kirana ยังคงมีสัดส่วนสูงถึง 92% ของมูลค่าตลาดค้าปลีกรวมของอินเดียทั้งประเทศ ในขณะที่มูลค่าตลาดค้าปลีกแบบสมัยใหม่มีสัดส่วนเพียง 8% เท่านั้น และในมูลค่า 8% นี้ เป็นมูลค่าตลาดค้าปลีกสมัยใหม่จากอินเดียตอนใต้ถึง 38% เลยทีเดียว ซึ่งภายใต้ตลาดค้าปลีกสมัยใหม่นี้ ศูนย์การค้าสมัยใหม่มีบทบาทอย่างมากในอินเดียตอนใต้

ปัจจุบันในอินเดียตอนใต้มีศูนย์การค้าสมัยใหม่หรือ Shopping Mall จำนวน 50 แห่ง มีร้านค้าจำหน่ายสินค้าในศูนย์การค้าสมัยใหม่เหล่านี้รวมกันกว่า 5,000 ร้าน และทุกๆ วันหยุดสุดสัปดาห์จะมีลูกค้าเข้าไปใช้บริการประมาณ 16.6 ล้านคนเลยทีเดียว ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2560 ศูนย์การค้าสมัยใหม่ในอินเดียตอนใต้จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็น 88 แห่ง มีพื้นที่รวมกันถึง 35 ล้านตารางฟุต ใน 12 เมืองใหญ่ของอินเดียตอนใต้ โดย 70% ของศูนย์การค้าสมัยใหม่ในอินเดียตอนใต้จะอยู่ที่เมืองใหญ่ 3 เมืองคือ บังคาลอร์ เจนไน และไฮเดอราบัด แต่ศูนย์การค้าที่ใหญ่ที่สุดและทันสมัยที่สุดยังเป็น Lulu Mall ที่เมืองโคชิ ในรัฐเกรละ ด้วยพื้นที่ประมาณ 1.4 ล้านตารางฟุต ซึ่งแน่นอนอยู่แล้ว เพราะ Lulu Mall เป็นกิจการค้าปลีกของกลุ่มทุนอินเดียในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ที่มีเครือข่ายค้าปลีกใหญ่ที่สุดอยู่ในตะวันออกกลาง

นอกจากนี้ ก็ยังมีศูนย์การค้าขนาดใหญ่ที่ทันสมัยและมีชื่อเสียงอีกหลายแห่ง ได้แก่ ศูนย์การค้า Phoenix Marketcity ที่เมืองเจนไน ในรัฐทมิฬนาฑู ที่มีพื้นที่ 9.7 แสนตารางฟุต ศูนย์การค้า Inorbit ที่เมืองไซเบอร์ราบัด ในรัฐอานธรประเทศ บนพื้นที่ 9 แสนตารางฟุต ศูนย์การค้า Ampa Skywalk ที่เมืองเจนไน ในรัฐทมิฬนาฑู บนพื้นที่ 4.5 แสนตารางฟุต ศูนย์การค้า Brookfields ที่เมืองโคอิมบาตอร์ ในรัฐทมิฬนาฑู บนพื้นที่ 4 แสนตารางฟุต และศูนย์การค้า The Forum ในเมืองบังคาลอร์ ในรัฐกรณาฏกะ บนพื้นที่ 3.5 แสนตารางฟุต

ท่านผู้อ่านคงจะเห็นได้ว่าอินเดียตอนใต้นี้ไม่ธรรมดาเลยทีเดียว ด้วยจำนวนศูนย์การค้าสมัยใหม่ถึง 50 แห่งและกำลังจะเพิ่มขึ้นเป็น 88 แห่งในปี 2560 นี้ และแต่ละศูนย์การค้าก็ล้วนแล้วแต่มีขนาดใหญ่ขึ้นๆ เรื่อยๆ เพื่อรองรับผู้บริโภครุ่นใหม่ที่นิยมจับจ่ายใช้สอยและใช้เวลาในศูนย์การค้าสมัยใหม่มากขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าอินเดียตอนใต้นี้มีศักยภาพสูงมาก เนื่องจากเศรษฐกิจยังขยายตัวอยู่ในระดับสูง ประชากรมีระดับการศึกษาดีกว่าอินเดียในภาคอื่น มีความก้าวหน้าด้าน IT ทั้งที่เมืองบังคาลอร์ ในรัฐกรณาฏกะและที่เมืองไฮเดอราบัด ในรัฐอานธรประเทศ นอกจากนั้น คนอินเดียตอนใต้เป็นกลุ่มคนที่เดินทางไปทำงานในต่างประเทศมากที่สุด รสนิยมและพฤติกรรมการบริโภคจึงทันสมัยเหมือนคนในสังคมที่พัฒนาแล้วในประเทศต่างๆ มากกว่าเพราะได้มีโอกาสไปเห็นและเรียนรู้มากกว่าคนอินเดียในภูมิภาคอื่นๆ

ผมคิดว่าอินเดียตอนใต้น่าจะเป็นตลาดศักยภาพอีกตลาดหนึ่ง สำหรับนักธุรกิจไทยที่ไม่ควรมองข้ามนะครับ โอกาสอยู่แค่เอื้อมนี่เอง